ข่าว

'ปาตีเมาะ'หญิงแกร่งแห่งเมืองยะลา

'ปาตีเมาะ'หญิงแกร่งแห่งเมืองยะลา

21 ม.ค. 2557

'ปาตีเมาะ'หญิงแกร่งแห่งเมืองยะลา : โดย...ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ we peace

 
 
                 ต้องใช้ความกล้าหาญและเสียสละมากขนาดไหนถึงจะกล้ายืนหยัดปกป้องและดูแลเด็กและผู้หญิงและผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็เป็นหนึ่งในผู้สูญเสียเช่นเดียวกัน 
 
                 ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ สูญเสียญาติพี่น้องไปแล้วถึง 4 คนจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่วันนี้เธอยังคงมุ่งมั่นทำภารกิจช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงที่สูญเสียพ่อแม่และสามีด้วยความหวังว่าสักวันสันติภาพจะเกิดขึ้นได้จริง
 
                 การรวมตัวของกลุ่มผู้หญิงที่สูญเสียที่อยากทำกิจกรรมเพื่อสังคมในปี 2547 ใช้ชื่อว่า "กลุ่มผู้หญิงกับสันติภาพ" โดยมี ปาตีเมาะเป็นแกนนำในการรณรงค์เรื่องการยืดระยะเวลาแต่งงานของเด็กและผู้หญิงในหมู่บ้าน เนื่องจากสมัยก่อนเด็กและผู้หญิงหญิงชาวมุสลิมเมื่อจบชั้น ป.6 ก็จะมีผู้ชายมาดูตัวและเตรียมแต่งงาน 
 
                 จากความสำเร็จในการทำกิจกรรมแรกของกลุ่ม ในเวลาต่อมา กลุ่มผู้หญิงกับสันติภาพก็ได้ขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกหลายประเด็น จนกระทั่ง ปาตีเมาะสูญเสียพี่ชายคนที่หนึ่งไป เพื่อนๆ สมาชิกกลุ่มผู้หญิงกับสันติภาพ ภายใต้ ที่รู้จักกันในนาม วีพีซ (we peace) หลายคนก็สูญเสียญาติพี่น้องและคนในครอบครัวด้วยเช่นกัน 
 
                 แม้จะโศกเศร้ากับความสูญเสียของตัวเอง แต่การได้รู้ได้เห็นกับตาว่ามีเด็กและผู้หญิงอีกมากมายที่ประสบชะตากรรมไม่ต่างกับตัวเอง และยังไม่รู้ว่าจะดำเนินชีวิตต่อไปท่ามกลางสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ได้อย่างไร ทำให้เธอและกลุ่มวีพีซ ตัดสินใจยืนหยัดที่จะทำงานด้านการเยียวยาและการยุติความรุนแรง แม้จะรู้ว่างานที่กำลังทำนี้ลำบากและเสี่ยงอันตรายเหลือเกิน
 
                 "เมื่อมีคนสูญเสียมากขึ้น มีเด็กกำพร้าและหญิงม่ายเพิ่มขึ้น มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเยอะแยะในบ้านเรา ก็คิดว่าประเด็นแรกที่สำคัญสุดก็เป็นประเด็นในเรื่องของการทำงานด้านสิทธิ ด้านการเยียวยา ด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้านการยุติความรุนแรงในพื้นที่" ปาตีเมาะกล่าว
 
                 เด็กและผู้หญิงที่เข้าสู่กระบวนการเยียวยาของกลุ่มผู้หญิงกับสันติภาพ วีพีซ มีทั้งเด็กที่สูญเสียพ่อแม่และผู้หญิงสูญเสียสามีไปในเหตุการณ์ความไม่สงบ บางคนพ่อและสามีถูกยิง ลูกและสามีถูกระเบิด บางคนพ่อ สามีถูกอุ้มหายตัวไป เด็กและผู้หญิงที่สูญเสียเหล่านี้ก็มีอาการหลายแบบ บางคนเก็บตัวร้องไห้ตลอดเวลา บางคนไม่คุย ไม่กินข้าว บางคนอาจดูร่าเริงแต่ก็ไม่อาจรู้ได้ว่าลึกๆ ในใจนั้นเด็กและผู้หญิงแบกรับความรู้สึกอะไรไว้ ทั้งหมดนี้ทำให้การทำงานของกลุ่มผู้หญิงกับสันติภาพวีพีซ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย
 
                 "ตอนใหม่ๆ เนี่ยยากมากเลย จริงๆ เหมือนเข้ามาก็ไม่ได้มีประสบการณ์อะไรเยอะ เราก็เป็นแค่ผู้หญิงนักกิจกรรม จำเรื่องงานเยียวยาที่เราเคยไปสังเกตการณ์ ไปเป็นผู้ช่วย ไปเป็นล่าม คนอื่นๆ ที่มาทำงานเยียวยาก็คนในพื้นที่ เราก็ใช้กระบวนการแล้วก็ค้นคว้าเยอะมากช่วงนั้น"
 
                 ปาตีเมาะ ศึกษาเรื่องงานเยียวยาจากการอ่าน ซึ่งในตอนนั้นก็ยังไม่มีข้อมูลประเภทนี้ไม่มากนัก อาศัยค้นคว้าตามเว็บไซต์บ้าง ศึกษาจากกรณีที่คล้ายกันบ้าง เช่นการเยียวยาผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรง เป็นต้น แล้วก็นำมาปรับใช้กับเด็กและผู้หญิงในกลุ่มผู้หญิงกับสันติภาพ
 
                 ด้วยนิสัยที่มีความกระตือรือร้นมาตั้งแต่เด็ก แม้จะเป็นเด็กที่เรียนปานกลาง แต่ก็มีความคิดว่าถ้าสนใจที่จะทำในเรื่องใดต้องทำให้ได้และต้องสำเร็จ จึงทำให้เธอเรียนรู้งานด้านการเยียวยาได้เร็ว ส่งผลให้เด็กและผู้หญิงในวีพีซ ได้พบว่ายังมีคนอื่นๆ ที่เผชิญชะตากรรมเดียวกันและคอยเป็นเพื่อนร่วมแบ่งปันความทุกข์ไปพร้อมๆ กับการช่วยเหลือคนอื่นๆ ด้วย 
 
                 "เพื่อนร่วมทุกข์เป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาเด็กและผู้หญิงได้ดี กระบวนการเยียวยามันไม่ใช่แค่เยียวยาแล้วก็เสร็จ แต่กระบวนการมันต้องใช้ทุกอย่างมาผสมผสานกัน คนหนึ่งคน แค่เพื่อนใหม่หนึ่งคนก็เยียวยาเด็กและผู้หญิงได้ ทุกอย่างมันสามารถเอามาปรับใช้ได้ทั้งหมด"
 
                 เธอได้จัดให้เด็กและผู้หญิงมีการพบกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิด แชร์ความรู้สึกกันในกลุ่มวีพีซ เป็นประจำทุกเดือน และก็พบว่า เด็กและผู้หญิงหลายคนเปลี่ยนความคิดและทัศนคติหลายๆ อย่าง  เช่น จากที่คิดว่าตัวเองเป็นคนด้อยโอกาส แต่จริงๆ ไม่ใช่ ถ้าบอกตัวเราเองว่าเป็นคนด้อยโอกาสและเปลี่ยนความคิดตัวเอง จริงๆ แล้วไม่ใช่คนด้อยโอกาส แต่ก็เป็นเหมือนคนอื่นๆ ทั่วไป เพียงแต่ต่างจากเขาแค่ไม่มีพ่อไม่มีแม่ หรือสามีอยู่ด้วย แต่ตัวเองยังคงมีศักยภาพทำอะไรได้เหมือนคนอื่นๆ ทั่วไป 
 
                 นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการเขียนอีกด้วย ในกลุ่มวีพีซ  ทุกคนจะต้องเขียนบันทึกหรือไดอารี่ บันทึกว่าแต่ละวันทำอะไรบ้าง รู้สึกอย่างไรบ้าง เพราะไดอารี่ก็ช่วยได้ในเรื่องของการได้บอกเล่าตัวเอง ถ้าเด็กและผู้หญิงมีโอกาสได้เขียนก็จะได้เรียนรู้ ได้มาพบกลุ่มมาแลกเปลี่ยนกัน ที่ผ่านมาอัพเดทอะไร เป็นอย่างไร
 
                 ในวันนี้ "ปาตีเมาะ" ก็ยังคงทำหน้าที่ช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่องและเสียสละ โดยหวังว่าสักวันหนึ่งเมื่อสถานการณ์จะดีขึ้น และคนไทยด้วยกันจะมองจังหวัดชายแดนใต้ในแง่บวกเพิ่มมากขึ้น 
 
                 "เด็กและผู้หญิงบนโลกใบนี้ไม่ว่าจะเป็นลูกสาวใคร ภรรยาใคร หรือแม่ใคร แต่ก็เป็นภาระหน้าที่ของคนทุกคนที่อยู่บนโลกใบนี้ เด็กและผู้หญิงทุกคนเป็นคนพิเศษ ไม่ได้แปลว่า เขาเป็นลูกคนนั้น เมียคนนี้ แล้วเราไม่ต้องดูแลเขา แต่ว่าด้วยความเป็นพลเมือง ด้วยความที่เราเป็นคนบนโลกใบนี้ จึงเป็นหน้าที่ที่ทุกคนจะต้องช่วยกันดูแล ทำให้คนพิเศษที่อยู่บนโลกใบนี้ได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน เท่าที่เราสามารถจะให้โอกาสได้ คิดว่าการรับฟังนี่แหละ คือโอกาสที่ดีที่สุดที่เราสามารถจะแบ่งปันกับคนอื่นได้ โดยที่เราไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย"
 
 
 
....................
 
('ปาตีเมาะ'หญิงแกร่งแห่งเมืองยะลา : โดย...ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ we peace)