ข่าว

นรกในใจของผู้คิดค้นปืนเอเค47

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นรกในใจของผู้คิดค้นปืนเอเค 47 : คอลัมน์เปิดโลกวันอาทิตย์

 
 
 
                 มิคาอิล คาลาชนิคอฟ จากไปในวัย 94 ปีเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2556 ปิดฉากชีวิตของผู้ออกแบบปืน เอเค 47 ที่ผลิตออกมากระบอกแรกเมื่อกว่า 60 ปีก่อน จากแรงรักชาติ หลังจากเห็นกองทัพแดงโซเวียตขาดแคลนอาวุธใช้รับมือกับกองทัพนาซีเยอรมัน ในสงครามโลกครั้งที่สอง 
 
                 แต่ความพิเศษของเอเค 47 ที่เป็นอาวุธที่มีระบบเรียบง่าย ไว้ใจได้ในประสิทธิภาพ ไม่ซับซ้อน ไม่มีชิ้นส่วนมากมาย ไม่ต้องการการดูแลรักษามากเช่นปืนรุ่นอื่นๆ ทั้งทรายหรือน้ำที่สร้างปัญหาให้ปืน ก็ยังไม่สามารถรบกวนการทำงานของตัวอาวุธได้ จึงกลายเป็นอาวุธเหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักรบใต้ดิน และต่อมายังกลายเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวแบบใช้อาวุธทั่วโลก 
 
                 หลังผลิตกระบอกแรกออกมาได้ไม่กี่สิบปี เอเค 47 จึงกลายเป็นปืนกลโจมตีที่มีการใช้กันมากที่สุดในโลก โดยมีทั้งที่ออกมาจากโรงงานในรัสเซียเอง และส่วนที่รัสเซียให้ใบอนุญาตกับประมาณ 30 ประเทศทั่วโลกผลิตปืนรุ่นนี้ขึ้นมาเองด้วย ที่สำคัญ แม้ช่างทำปืนที่มีเทคโนโลยีการผลิตขั้นพื้นฐาน ก็ยังสามารถผลิตปืนชนิดนี้ได้ เรียกว่าสามารถลอกเลียนแบบได้ไม่ยาก 
 
                 ดังนั้น แม้เป็นอาวุธที่แพร่หลายและนิยมในหมู่นักปฏิวัติ แก๊งยาเสพติด ผู้ก่อการร้าย ผู้ร้ายลักพาตัว โจรสลัดและทหารทั่วโลก แต่นักประดิษฐ์ปืนผู้ยิ่งใหญ่สุดในโลกคนหนึ่งอย่าง คาลาชนิคอฟ ไม่ได้ร่ำรวยเงินทองจากงานออกแบบชิ้นนี้ที่กลายเป็นของผลิตได้โดยไม่ต้องขออนุญาตทั่วโลก จนครั้งหนึ่งเจ้าตัวออกปากว่าคงรวยกว่านี้ หากประดิษฐ์เครื่องตัดหญ้า
 
                 แต่สิ่งที่ได้รับคือการแซ่ซ้องยกย่องจากเพื่อนร่วมชาติราววีรบุรุษ ได้รับเกียรติยศชั้นเลนิน เหรียญวีรบุรุษแรงงานสังคมนิยม ได้รับการติดยศพลเอกในวันเกิดครบรอบ 75 ปี และในพิธีศพเมื่อปลายปีที่แล้ว มีบุคคลระดับผู้นำประเทศ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เป็นผู้นำการไว้อาลัย 
 
                 คงเป็นไปไม่ได้ที่จะรวบรวมตัวเลขได้แน่นอนว่า ปืนเอเค 47 ถูกใช้เพื่อปลิดชีวิตเหยื่อมาแล้วเท่าไหร่ ตั้งแต่สงครามยาเสพติดในเม็กซิโก จนถึงการเข่นฆ่าในซีเรีย สงครามกลางเมืองนองเลือดในแอฟริกา และความไม่สงบในตะวันออกกลาง แต่ประเมินจำนวนอาวุธปืนที่ขายทั่วโลกประมาณร้อยล้านกระบอก จึงมักสันนิษฐานว่า เหยื่อปืนที่คาลาชนิคอฟสร้างขึ้นน่าจะอยู่ที่หลายสิบล้านคน 
 
                 ในโอกาสครบรอบ 60 ปีของการประดิษฐ์ปืนกลยาว เมื่อปี 2550 คาลาชนิคอฟ กล่าวว่า ถูกถามบ่อยๆ ว่า นอนหลับไหมเวลาคิดว่าปืนของเขานำไปใช้เข่นฆ่าคนทั่วโลก เขาตอบกลับว่า "ยังคงนอนหลับได้ดี ขอบคุณ คนนอนไม่หลับควรเป็นบรรดานักการเมืองที่ทำข้อตกลงกันไม่ได้และหันมาพึ่งความรุนแรง เพราะผมประดิษฐ์เอเค 47 ขึ้นมาก็เพื่อป้องกันประเทศ ไม่ใช่ความผิดของผมที่ปืนถูกนำไปใช้ในเรื่องที่ไม่ควร หากไม่มีสงคราม ผมก็คงผลิตเครื่องมือการเกษตรทุ่นแรงชาวนามากกว่าผลิตปืน ต้องโทษพวกนาซีเยอรมันที่บังคับให้ผมกลายเป็นนักออกแบบปืน" 
 
                 แต่มีบ้างเหมือนกันที่ความภาคภูมิใจของผู้คิดค้นปืนต้องสั่นคลอนจากความเศร้าใจ ที่อาชญากรและทหารเด็กหยิบจับไปใช้ 
 
                 คาลาชนิคอฟพูดในปี 2551 ว่า เป็นเรื่องที่เจ็บปวดที่อาชญากรทุกประเภทใช้อาวุธของเขา   
 
                 ผู้คนคงจดจำว่า คาลาชนิคอฟนอนหลับสบายจนสิ้นลมหายใจ และไม่รู้สึกผิดบาปใดๆ ตามที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ หากหนังสือพิมพ์ อิสเวสเทีย ฉบับวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ไม่ลงจดหมายที่เขาส่งถึงพระสังฆราชคิริลล์ ประมุขคริสตจักรนิกายออร์โธดอกซ์แห่งรัสเซีย ที่เขียนขึ้นก่อนหน้าการเสียชีวิตราว 8 เดือน ว่า เขารู้สึกเจ็บปวดสุดทานทนต่อการสูญเสียชีวิตผู้คนมากมายจากปืนที่ประดิษฐ์ขึ้น  
 
                 "ลูกยังมีคำถามเดิมที่ตอบไม่ได้ หากปืนไรเฟิลของลูกคร่าชีวิตผู้คนแล้ว มิคาอิล คาลาชนิคอฟ อายุ 93ปี ลูกชายของแม่ชาวนา คริสเตียนออร์โธดอกซ์คนหนึ่ง จะมีความผิดต่อการตายของพวกเขาหรือไม่ แม้พวกเขาเหล่านั้นเป็นศัตรูก็ตามที" 
 
                 อิสเวสเทียระบุว่า จดหมายความยาวสองหน้ากระดาษฉบับนี้ เขียนเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว พิมพ์บนกระดาษที่มีสัญลักษณ์ประจำตัวของคาลาชนิคอฟ ลงชื่อว่า "ข้าทาสพระเจ้า มิคาอิล คาลาชนิคอฟ นักออกแบบ" เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้เขียนที่ผ่านเหตุการณ์เปลี่ยนของโลก รวมถึงเหตุการณ์ที่นาซีเยอรมัน บุกรัสเซียในปี 2484 และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ในปี 2534  ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์ ทำให้ประชาชนชาวรัสเซียต้องหันพึ่งศาสนาเพื่อรับมือกับความระส่ำระสายในชีวิต       
 
                 คาลาชนิคอฟ ตั้งคำถามอย่างสับสนเกี่ยวกับความดี ความชั่ว และชีวิตว่า "ยิ่งนานวันก็ยิ่งมีคำถาม และยิ่งสงสัยว่า เหตุใดพระเจ้าจึงอนุญาตให้มนุษย์มีความอิจฉา ความโลภ และความก้าวร้าว"
 
                 ฝ่ายไม่นิยมคริสตจักรออร์โธดอกซ์ บอกทันทีว่าจดหมายฉบับนี้ไม่ปลอมขึ้นมา ก็เป็นความพยายามประชาสัมพันธ์คริสตจักร
 
                 แต่สำนักงานของพระสังฆราชคิริลล์ ยืนยันว่าเป็นจดหมายจริง
 
                 ไซริล อเล็กซานเดอร์ โวลคอฟ เลขาประมุขออร์โธดอกซ์ กล่าวว่า พระสังฆราชได้รับจดหมายของคาลาชนิคอฟ และได้เขียนตอบกลับไปว่า คริสตจักรมีจุดยืนที่ชัดเจน ว่าเมื่ออาวุธนำไปใช้เพื่อปกป้องแผ่นดิน คริสตจักรไม่ประณามแต่สนับสนุนทั้งผู้ประดิษฐ์และทหารที่ใช้ คาลาชนิคอฟออกแบบไรเฟิลขึ้นมาเพื่อใช้ปกป้องประเทศ ไม่ใช่ออกแบบให้ผู้ก่อการร้ายนำไปใช้อย่างในซาอุดีอาระเบีย 
 
                 เอเลนา บุตรสาวที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยส่วนตัว เชื่อว่าเป็นจดหมายจริง แม้ว่าฉบับนี้ไม่ได้ผ่านหูผ่านตาของเธอ แต่ที่ไม่แน่ใจ เนื้อความในจดหมายสองหน้ากระดาษ คาลาชนิคอฟเขียนเองทั้งหมดหรือไม่ หรือเขียนส่วนใดบ้าง แต่คิดว่าอาจมีบาทหลวงรูปหนึ่งที่ช่วยบิดาร่างจดหมาย      
 
                  เช่นเดียวกับชาวโซเวียตส่วนใหญ่ในยุคนั้น คาลาชฟนิคอฟเติบโตโดยไม่มีความเชื่อทางศาสนา แม้เคยเข้าพิธีศีลจุ่มตอนเด็ก แต่หลังจากนั้น ดำรงชีวิตแบบคนไม่เชื่อในพระเจ้าในประเทศที่ไม่มีความเชื่อใดอย่างเป็นทางการ กระทั่งในวัยไม้ใกล้ฝั่ง ซึ่งเขาอาศัยอยู่กับบุตรสาว เอเลนา และหลานตา อิโลนา ที่บ้านพักในเมืองอิซเฮฟส์ค เขตเทือกเขายูราล ทางใต้ คาลาชนิคอฟในวัย  91 ได้หันเข้าหาศาสนาและเข้าโบสถ์ออร์โธดอกซ์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคาดกันว่าช่วงเวลานั้นเองเป็นช่วงเวลาผู้ออกแบบปืนอาก้า ทุกข์ใจกับผลของการนำไปใช้และยอมรับว่ารู้สึกผิดปากแม้ยังคงภูมิใจกับสิ่งประดิษฐ์ของตนเองก็ตาม 
 
                 อันที่จริง ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับผู้คิดค้นเทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่อาจมาจากเจตนาบริสุทธิ์แต่กลายเป็นกำลังด้านมืด และกลับลำหันมาไถ่บาปในเวลาต่อมาหรือช่วงท้ายของชีวิต ตัวอย่างโด่งดังที่สุดน่าจะเป็น อัลเฟรด โนเบล นักเคมีชาวสวีเดน ที่ร่ำรวยจากสิ่งประดิษฐ์เรียกว่า "ไดนาไมต์" ในปี 2410 และมีชีวิตยืนพอที่จะเห็นการทำลายล้างจากอาวุธที่คิดค้นขึ้น
 
                 อัลเฟรด โนเบลรู้สึกสะเทือนใจหลังอ่านข่าวมรณกรรมของเขาที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งนำออกเผยแพร่ด้วยความผิดพลาด ซึ่งให้ฉายาเขาว่า พ่อค้าความตาย ฉายาที่ทำให้โนเบลรู้สึกผิดบาป และเป็นแรงบันดาลใจให้นักวิทยาศาสตร์อย่างเขาทิ้งพินัยกรรมแก่โลก เป็นการมอบรางวัลโนเบลในปี 2438 ที่ยังแจกกันจนถึงปัจจุบันใน 6 สาขาได้เคมี ฟิสิกส์ การแพทย์ วรรณกรรมและสันติภาพ 
 
                 เจ โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์  นักวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ภายใต้โครงการแมนฮัตตัน ที่ออกปากอุทานระหว่างชมการทดสอบระเบิดปรมาณูลูกแรกในทะเลทราย ที่นิวเม็กซิโกในปี 2488  ว่า "บัดนี้ ข้าพเจ้ากลายเป็นความตาย, ผู้ทำลายโลก"  ซึ่งเป็นวลีจากคัมภีร์ภควคีตาของศาสนาฮินดู ต่อมา ออพเพนไฮเมอร์กลายเป็นผู้สนับสนุนการห้ามแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และร่วมกับเพื่อน อาทิ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ก่อตั้ง  World of Academy of Art and Sciences รณรงค์ให้สาธารณชนตระหนักรู้ถึงผลพวงที่ตามมาจากเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์      
 
                 เซอร์โจเซฟ ร็อตบลัต นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชาวโปแลนด์ที่ได้สัญชาติเป็นพลเมืองอังกฤษ เคยทำงานในโครงการแมนฮัตตัน กับโรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ เช่นกัน ซึ่งต่อมา ร่วมก่อตั้งองค์กร Pugwash Conferences ในปี 2500 พยายามลดอาวุธนิวเคลียร์ และหลีกเลี่ยงสงคราม ในปี 2538 องค์กร Pugwash Conferences และร็อตบลัต ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพในปี 2538     
 
                คัมราน ลัฟแมน ผู้เชี่ยวชาญที่พัฒนาสเปรย์พริกไทยในระดับที่ใช้เป็นอาวุธได้ ให้กับสำนักงานสืบสวนกลาง (เอฟบีไอ) ทศวรรษหลังปี 2524 และทำงานร่วมกับตำรวจในการวางกรอบและแนวทางการนำออกมาใช้  แต่เมื่อตำรวจนิวยอร์กนำมาใช้ฉีดใส่ผู้ประท้วงที่ออกมาชุมนุมยึดสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศหลังวิกฤติเศรษฐกิจที่เรียกกันว่า "ขบวนการออคคิวพาย" ลัฟแมนรู้สึกช็อกและออกมาพูดต่อสาธารณะว่า "กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วหรือในยุคนี้ ที่ต้องใช้สารเคมีกับคนที่แสดงความเห็น เขาคิดว่าตำรวจและคนอื่นๆ ขาดภาวะผู้นำในการจัดการกับรากเหง้าของปัญหา พวกเขาต้องการใช้สเปรย์เพื่อปิดปากคน ซึ่งไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาเลย" 
 
 
 
 
.........................
 
(นรกในใจของผู้คิดค้นปืนเอเค 47 : คอลัมน์เปิดโลกวันอาทิตย์)
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ