ข่าว

ตะลุยแหล่ง'ชะอม'นครนายก

ตะลุยแหล่ง'ชะอม'นครนายก

12 ม.ค. 2557

ตะลุยแหล่ง'ชะอม'นครนายก ผักพื้นบ้านทำเงินชาวปากพลี : คอลัมน์ท่องโลกเกษตร : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

                    ไม่ใช่แค่มะยงชิด ปลูกข้าวขาวดอกมะลิที่สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้ชาวนครนายก หากแต่พืชผักพื้นบ้านอย่าง "ชะอม" ก็สามารถทำรายได้ไม่แพ้อาชีพหลักอย่างทำนาปลูกข้าว หรือทำสวนมะยงชิด ในขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกชะอมบางรายกลับมีรายได้มากกว่าอาชีพหลักด้วยซ้ำ อย่างกรณีชาวบ้านในตำบลปากพลี อ.ปากพลี โดยการนำของบุญเรือน ปิ่นเกตุ ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผู้ปลูกชะอมตำบลปากพลี ที่ทุกวันนี้มีรายได้หลักจากการปลูกชะอมขายสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำในแต่ละเดือน
 
                    "ท่องโลกเกษตร" อาทิตย์นี้ติดตามพนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ.นครนายกพา ไปตะลุยสวนชะอมของชาวบ้านที่ตำบลปากพลี แหล่งปลูกชะอมใหญ่ที่สุดของจังหวัด ซึ่งผลผลิตเกือบทั้งหมดส่งจำหน่ายที่ตลาดไทและตลาดสะพานใหม่ โดยมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงสวน สนนในราคาจำหน่าย (ส่ง) กำละ 20-22 บาทต่อน้ำหนัก 2.2 ขีด
 
                    เราใช้เวลาเพียง 20 นาทีจากตัวเมืองนครนายก (สำนักงานธ.ก.ส.นครนายก) ไปตามเส้นทางนครนายก-ปราจีนบุรี ประมาณ 30 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าหมู่บ้านในตำบลปากพลี จะสังเกตแต่ละบ้านสองฟากฝั่งถนนจะเต็มไปด้วยแปลงชะอมที่ปลูกไว้โดยรอบ สลับด้วยไม้ผลที่ขึ้นชื่อของจังหวัด นั่นก็คือมะยงชิด  ไกลออกไปจะเป็นทุ่งนาซึ่งชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาเป็นหลัก
 
                    ทันทีที่ถึง ณ ที่ทำการกลุ่ม แม่บ้านเกษตรกรผู้ปลูกชะอม หมู่3 ต.ปากพลี "บุญเรือน ปิ่นเกตุ" ประธานกลุ่มและสมาชิกผู้ปลูกชะอมเล่าความเป็นมาของผักพื้นบ้านทำเงินอย่างชะอมว่า ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพทำนาเป็นหลัก มีรายได้เสริมจากไม้ผลอย่างมะยงชิดที่ให้ผลผลิตปีละครั้ง แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ผลผลิตของมะยงชิดเริ่มมีปัญหา ผลจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ผลผลิตไม่ออก ส่งผลกระทบต่อรายได้ในชีวิตประจำวัน จึงจำเป็นต้องหันมาหาทางออกด้วยการปลูกชะอมเพิ่มรายได้
 
                    "อาชีพเดิมชาวบ้านที่นี่ทำนาปี ปลูกข้าวปีละครั้ง รายได้ก็ไม่คุ้มทุนหรอก บางปีก็เป็นหนี้ด้วยซ้ำ อย่างปีนี้ก็เข้าร่วมโครงการรับจำนำเหมือนกันได้ใบประทวนมาเป็นเดือนแล้ว แต่ยังขึ้นเงินไม่ได้เลยเขาบอกเงินยังไม่มา" บุญเรือนสะท้อนปัญหาอาชีพหลักให้ฟัง ระหว่างนำชมแปลงปลูกชะอมในบริเวณบ้าน
 
                    แม้เงินจำนำข้าวจะมีปัญหาขึ้นเงินไม่ได้ แต่ใช่ว่าจะเป็นปัญหาสำหรับบุญเรือน เมื่อทุกวันนี้เขามีรายได้จากการเก็บยอดชะอมขายที่ปลูกไว้ในบริเวณบ้านประมาณ 2 งานเศษ ไม่ต่ำกว่าวันละ 800-1,000 บาท โดยจะเก็บวันเว้นวัน เหมือนกับสมาชิกคนอื่นๆ ในหมู่บ้านที่หันมาปลูกชะอมเป็นอาชีพเสริม แต่กลับเป็นรายได้หลักของครอบครัว
 
                    "เมื่อก่อนบริเวณรอบบ้านจะปลูกมะยงชิดกันทุกบ้าน มาระยะหลังมะยงชิดออกลูกบ้างไม่ออกบ้าง บางปีไม่มีผลผลิตเลย อาจเป็นเพราะสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป ทำให้ต้องโค่นทิ้งแล้วนำพื้นที่มาปลูกชะอมแทน"
 
                    ประธานกลุ่มคนเดิมเล่าต่อว่า ชาวบ้านที่นี่มีการปลูกชะอมมานานแล้ว แต่จะปลูกตามริมรั้วบ้านไว้บริโภคภายในครัวเรือน จากนั้นในปี 2548 ได้มีการรวมกลุ่มหันมาปลูกชะอมกันอย่างจริงจัง หลังมีตลาดรองรับอย่างชัดเจน โดยมีพ่อค้าจากตลาดไทเข้ามาตระเวนรับซื้อถึงหมู่บ้านสนนในราคาที่เป็นธรรม โดยในช่วงหน้าหนาวระหว่างพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์จะขายได้ในราคาที่สูง เนื่องจากผลผลิตออกมาน้อย ในขณะที่หน้าร้อนและหน้าฝนมีผลผลิตออกมากราคาก็จะต่ำ
 
                    "อย่างช่วงนี้ได้ราคาดี เมื่อเช้าเพิ่งเก็บไป 50 กว่ากำ เขาให้กำละ 22 บาท แต่ละกำมีน้ำหนัก 2.2 ขีด ไม่ได้เก็บทุกวัน แต่จะเก็บวันเว้นวันเพื่อรอให้มีการแตกยอดขึ้นมาใหม่ ถ้าเป็นช่วงหน้าร้อนหรือหน้าฝนจะได้กำละ 2-3 บาทเท่านั้น แต่ก็ยังคุ้มนะ เพราะปลูกชะอมไม่ได้ลงทุนอะไรมาก แค่ใส่ปุ๋ยขี้ไก่อาทิตย์ละครั้งและปุ๋ยสูตร 46-0-0 เพื่อบำรุงใบและยอดเท่านั้นพอ"
 
                    ประธานกลุ่มเผยอีกว่า แม้ที่ผ่านมาจะไม่มีปัญหาเรื่องการตลาด แต่จะมีปัญหาในเรื่องการขายตัดราคากันเอง จึงจำเป็นต้องรวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อป้องกันการตัดราคากันเองและถูกเอาเปรียบจากพ่อค้า โดยใช้ที่ทำการกลุ่มรับออเดอร์ทั้งหมด จากนั้นก็จะกระจายให้สมาชิกแล้วนำมาส่งในจุดเดียว ขณะเดียวกันก็จะทำความเข้าใจกับชาวบ้านด้วยว่าให้ขายในราคาเดียวกันเพื่อป้องกันการตัดราคากันเองด้วย
 
                    "พ่อค้าจากตลาดไทและสะพานใหม่จะโทรมาสั่งของทุกวัน วันละ 500-1,000 กำ จากนั้นกลุ่มก็จะกระจายไปให้สมาชิกว่าใครจะเก็บได้เท่าไหร่แล้วนำมาส่งที่กลุ่ม เขาก็จะมารับไป จ่ายเงินกันวันต่อวัน พ่อค้าบางรายก็สั่งไปยังสมาชิกโดยตรงก็มี แต่ก็ไม่มีปัญหา เพราะเขาก็ขายในราคาเดียวกับกลุ่มนี่แหละ ทั้งหมู่บ้านจะขายในราคาเดียวกัน กลุ่มส่งราคาเท่าไหร่ เขาก็ส่งเท่านั้น" บุญเรือนกล่าว พร้อมย้ำว่า ขณะนี้มีสมาชิกจำนวนไม่น้อยเริ่มเลี้ยงไก่ไข่เพื่อนำขี้ไก่มาใส่แปลงชะอม ในขณะที่ไข่ก็จะขายเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง 
 
                    "ของพี่เลี้ยงไว้ 30 ตัวได้ไข่วันละ 20-25 ฟอง ขายฟองละ 3 บาท ทุกวันนี้พี่มีรายได้จากการขายไข่วันละ 50-60 บาท แล้วยังได้ปุ๋ยขี้ไก่ใส่ต้นชะอมอีก เป็นการลดต้นทุนค่าปุ๋ยอีกด้วย" บุญเรือนกล่าวทิ้งท้าย
 
                    พืชผักพื้นบ้านอย่าง "ชะอม" ก็นับเป็นอีกช่องทางที่ขณะนี้กำลังกลายเป็นผลผลิตหลักและสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้ชาวบ้านในตำบลปากพลี โดยการสนับสนุนของสำนักงาน ธ.ก.ส.จ.นครนายก สนใจผลิตภัณฑ์ผักพื้นบ้าน "ชะอม" โทร.08-7664-7313 ตลอดเวลา
 
 
 
.........................
 
(ตะลุยแหล่ง'ชะอม'นครนายก ผักพื้นบ้านทำเงินชาวปากพลี : คอลัมน์ท่องโลกเกษตร : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)