ข่าว

นักรัฐศาสตร์ชี้กระจายอำนาจปี40ล้มเหลว

นักรัฐศาสตร์ชี้กระจายอำนาจปี40ล้มเหลว

06 ม.ค. 2557

นักวิชาการชี้กระจายอำนาจปี 40 ล้มเหลว มองอนาคต 30 ปี เมืองใหญ่ตบเท้าขอปกครองตัวเอง หนุนปฏิรูปประเทศกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ปิดช่องโหว่ปฏิวัติ ยึดอำนาจจากส่วนกลาง

              6ม.ค.2557 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเวทีสาธารณะ สกว.: ความรู้สู่การปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 3 "ทิศทางใหม่และทางเลือกของการกระจายอำนาจ และการปกครองตนเองของท้องถิ่น" โดย ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า บทเรียนจากความพยายามกระจายอำนาจ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากส่วนกลางตามรัฐธรรมนูญปี 2540 กำลังเดินมาถึงทางตัน เนื่องจากรัฐบาลไม่ยอมถ่ายโอนภารกิจ และงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

              ผลจากการที่รัฐวางยา อปท. ทำใหการกระจายอำนาจติดกับดัก ท้องถิ่นต้องการคืนอำนาจให้ส่วนกลาง ซึ่งรัฐบาลพร้อมรวมอำนาจกลับ และใช้ความสัมพันธ์แนวดิ่ง สร้างฐานเสียงโดยใช้งบประมาณทำให้เกิดการขาดดุลการคลังตามมา

              ศ.ดร.จรัส บอกว่า อนาคตในอีก 30 ปีข้างหน้า คนเมืองจะเพิ่มจำนวนขึ้น ขณะที่คนในชนบทลดลง โจทย์ที่ท้าทายของรัฐบาลคือพื้นที่เพาะปลูกลดลง มลพิษเพิ่มขึ้น คุณภาพสิ่งแวดล้อมถดถอย

              "การที่รัฐบาลกลางไม่สามารถแก้ปัญหาได้ สิ่งที่ตามมาคือเมืองขนาดใหญ่มีความต้องการเป็นอิสระจากรัฐ มีท่าทีแข็งเมืองมากขึ้น ในขณะที่เมืองชนบทอ่อนแอลง และต้องการการพึ่งพาจากรัฐมากขึ้น" ศ.ดร.จรัสกล่าว และว่า ในอนาคตประเทศไทยจะมีจังหวัดปกครองตัวเอง และจัดหวัดจัดการตัวเอง เมืองขนาดใหญ่ ประชากรราว 1-3 แสนคน 1-2 เมือง เมืองขนาด 5-7 หมื่นคนมีจังหวัดละปริมาณ 5-10 เมือง ส่วนที่เหลือเป็นชุมชนชนบทที่มีประชากรกระจัดกระจายและช่วยตัวเองไม่ได้

              ศ.ดร.จรัส บอกว่า ชนบทต้องพึ่งพาและอยู่ร่วมกับเมืองขนาดใหญ่ในภูมิภาคมากขึ้นโดยที่เมืองขนาดใหญ่จำเป็นต้องจัดบริการสาธารณะในหลายระดับ รวมถึงการป้องกันภัยพิบัติ รักษาเสถียรภาพราคาสินค้า พลังงานสิ่งแวดล้อมและการลงทุน เมืองขนาดกลาง เล็กไม่สามารถยืนอยู่ได้ตามลำพัง ระบบการปกครองในอนาคตจำเป็นต้องมีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เช่นเขตปกครองตนเอง 3 จังหวัดภาคใต้ เมืองชายแดน โดยคาดว่ารวมทั้งประเทศจะมี อปท. กว่า 760-1140 แห่ง จังหวัดละ 10-15 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ 7777 แห่ง
         
              "การกระจายอำนาจ จะทำให้หมดยุคประชานิยมในระดับชาติ การปกครองระดับจังหวัดและอำเภอลดความสำคัญ และยุบไปในที่สุด" ศ.ดร.จรัสกล่าว
         
              นายสวิง ตันอุด ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการทางสังคม เสริมว่า วันนี้หลายจังหวัดเริ่มเคลื่อนไหวขอจัดการตนเอง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ได้ขอคืนอำนาจจากส่วนกลาง โดยยกร่าง พรบ.จังหวัดปกครองตัวเอง จากประชามติทั้งจังหวัด โดยอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ ครม.
เป้าหมายของจังหวัดเชียงใหม่ คือมีนายกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีสภาท้องถิ่น และสภาพลเมือง ที่ดูเรื่องทรัพยากรสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และกีฬา โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการปกป้องประเทศ ศาล ต่างประเทศ เงินตรา
        
              "ที่ผ่านมาเชียงใหม่มีการจัดการเป็นของตัวเอง ประชาชนมีความรู้ แต่หลังจากการรวมศูนย์อำนาจ กลับต้องสู้กับโครงการของรัฐ กว่า 250 หน่วยงานในจังหวัดเชียงใหม่ที่ขึ้นกับส่วนกลาง ไม่ได้ขึ้นกับผู้ว่า กระบวนการที่ท้องถิ่นจัดการเองได้ กลับต้องผ่านหลายกรม วันนี้เราจึงเรียกร้องให้กลับมาปกครองตนเอง ตามมาตรา 281 จังหวัดที่มีความพร้อมปกครองตัวเอง ซึ่งปัจจุบันมี 45 จังหวัดที่กำลังเดินหน้าในลักษณะเดียวกัน" นายสวิงกล่าว
         
              ศ.ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานมูลนิธิสถาบันพัฒนาสยาม กล่าวว่าประเทศไทยเป็นเอกรัฐ หรือรัฐบาลเดียว ที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งมีข้อดีคือสามารถสร้างความเป็นปึกแผ่น สร้างเอกภาพในการปกครอง จนทำให้พัฒนาจากประเทศยากจนล้าหลังมาสู่ประเทศรายได้ปานกลาง ในขณะที่ยังมีคนยากจน และเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ
        
              การรวมศูนย์อำนาจไม่ใช่เรื่องไม่ดี เพราะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนไป แต่กลับกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะเดินหน้าต่อไป นั่นเป็นเหตุผลให้ในปี 40 มีการจัดตั้งคณะกรรมการกระจายอำนาจ มีแผนกระจายอำนาจเกิดขึ้นทำไม่สำเร็จ