ข่าว

'เมืองเก่าสงขลา'จากมรดกชาติสู่มรดกโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สานฝัน 'เมืองเก่าสงขลา' จากมรดกชาติ...ก้าวสู่มรดกโลก : สุพิชฌาย์ รัตนะ ... รายงาน

 

                         "เมืองเก่าสงขลา" ชื่อนี้บ่งบอกถึงจุดเด่นและมนเสน่ห์ของเมืองสงขลาที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสืบสานและสืบทอดกันมาอย่างยาวนานกว่า 200 ปี โดยมีอาคารบ้านเรือนที่มีสถาปัตยกรรมโบราณและวิถีชีวิตชุมชนที่มีเอกลักษณ์เป็นหลักฐานปรากฏชัดเจน ทำให้ "สงขลาเมืองเก่า" ถูกยกให้เป็น 1 ใน 3 จังหวัดในภาคใต้ที่เป็นเมืองมรดกของชาติ กระทั่งในยุคที่ "พีระ ตันติเศรณี" อดีตนายกเทศมนตรีนครสงขลา ก้าวสู่ตำแหน่งได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะขับเคลื่อนเมืองเก่าสงขลาจากมรดกของชาติไปสู่มรดกโลก

                         ทว่าความหวังต้องสะดุดลงเมื่อ "พีระ ตันติเศรณี" หัวหอกคนสำคัญถูกลอบสังหารและจบชีวิตลง ณ ถนนนครใน ซึ่งเป็นย่านเมืองเก่าจุดที่เขาผลักดันให้เป็นมรดกโลกในค่ำคืนของวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 จนเมื่อ "สมศักดิ์ ตันติเศรณี" นายกเทศมนตรีนครสงขลาคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของอดีตนายกเล็กสงขลา คนเดิมได้ก้าวขึ้นรับตำแหน่งสานต่อภารกิจทำให้มีการจุดประกายความหวังอีกครั้ง

                         "สมศักดิ์ ตันติเศรณี" นายกเทศมนตรีนครสงขลา บอกว่า จะต้องมีการขับเคลื่อนภารกิจการนำสงขลาไปสู่มรดกโลกอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งกลุ่มภาคีคนรักเมืองสงขลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) เทศบาลนครสงขลา และปตท.สผ.เพื่อสานต่อเจตนารมณ์การพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญอย่างมีคุณค่า

                         โดยเฉพาะในย่านเมืองเก่า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ยกให้เป็นพื้นที่ไข่แดงที่จะร่วมอนุรักษ์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นย่านถนน 3 สายหลัก คือ ถนนนครนอก นครใน และถนนนางงามที่เป็นศูนย์รวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สืบสานกันมายาวนานกว่า 200 ปี เอาไว้อย่างโดดเด่น

                         สำหรับแผนงานดังกล่าวเทศบาลนครสงขลาได้มีการเตรียมงบประมาณไว้ส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในการผลักดันโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนานครสงขลา จนกว่าจะประสบความสำเร็จ แต่เนื่องจากการก้าวไปสู่เป้าหมายมรดกโลกนั้นต้องอาศัยขั้นตอนและความร่วมมือจากภาคประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง ทั้งนี้ อาจต้องใช้เวลามากกว่า 15 ปี

                         โดยในแผนงานการพัฒนาปี 2557 คาดว่าจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถึงแนวทางการเดินไปสู่เป้าหมาย หลังจากที่ตลอดปี 2556 ที่ผ่านมา เป็นช่วงของการเตรียมความพร้อมทั้งด้านข้อมูลและความร่วมมือของภาคประชาชนในจังหวัดสงขลา

                         "ย่านเมืองเก่าสงขลา มีเอกลักษณ์โดดเด่นในแง่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยเฉพาะการอาศัยอยู่ร่วมกันของ 3 ศาสนา คือ ศาสนาพุทธ จีนและมุสลิม ที่สะท้อนออกมาในรูปแบบของสถาปัตยกรรมโบราณ ทั้งอาคารแบบเรือนแถวทรงไทย เรือนแถวแบบจีน เรือนแถวแบบชิโน-โปรตุกีส ซึ่งหากบูรณะขึ้นใหม่เชื่อว่าจะสร้างจุดขายทางด้านการท่องเที่ยวได้ เทียบชั้นเมืองมะละกาและย่านเมืองเก่าในเมืองจอร์จทาวน์ ในมาเลเซีย” สมศักดิ์ กล่าวย้ำจุดยืน

                         ขณะที่ ดร.จเร สุวรรณชาติ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.) หนึ่งในผู้ที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการผลักดันสงขลาสู่มรดกโลกมาตั้งแต่แรก กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ยอมรับว่าเป็นห่วงแผนงานจะไม่เป็นไปตามเป้าเพราะการผลักดันเมืองเก่าสู่มรดกโลกนั้น ต้องอาศัยความเข้มแข็งของท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคประชาชนที่ต้องจริงจังในการให้ความร่วมมือ

                         เนื่องจากระเบียบหรือกฎเกณฑ์ของเมืองมรดกโลกนั้นมีทั้งเป็นผลบวกและลบต่อภาคประชาชนในฐานะเจ้าของพื้นที่ เช่น กรณีด้านบวกเมืองเก่าจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมที่สะท้อนรากเหง้าของท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้มีการสร้างงานและรายได้ทางด้านการท่องเที่ยวเป็นอย่างดี และยังสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยอีกด้วย ขณะที่ด้านลบนั้นจะกระทบโดยตรงต่อชุมชนและเจ้าของบ้านซึ่งการจะต่อเติมหรือสร้างใหม่ในเขตพื้นที่กำหนดต้องขออนุญาตทั้งหมด ดังนั้นอำนาจตัดสินใจส่วนตัวจึงหมดไปโดยปริยาย

                         "ภารกิจสำคัญวันนี้คือการสร้างความเข้าใจกับภาคประชาชนที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เพื่อให้มีพื้นฐานความเข้าใจบนเส้นทางเดินไปสู่การเป็นมรดกโลกที่ถูกต้อง โดยอาจต้องสละความเป็นส่วนตัวเพื่อมอบหัวใจให้ส่วนรวมมากขึ้น" ดร.จเร กล่าว

                         ดร.จเร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสมาคมอิโคโมสไทย (ICOMOS Thailand Association) ซึ่งเป็นองค์กรวิชาการที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลกคอยเป็นพี่เลี้ยงในการช่วยเหลือแนวทางปกป้องคุ้มครองแหล่งมรดก รวมทั้งกระบวนการในการนำเสนอเข้าสู่บัญชีมรดกโลก ซึ่งคาดว่าในปี 2557 หนทางการก้าวสู่มรดกโลกของเมืองเก่าสงขลาจะชัดเจนขึ้นควบคู่ไปกับการปลุกกระแสให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้ภูมิใจกับความเป็นมรดกชาติอย่างสมบูรณ์แบบ

                         อย่างไรก็ตาม หากทุกอย่างเป็นไปตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเมืองเก่าสงขลาสู่มรดกโลกแล้ว คาดว่าจะมีงบประมาณในการสนับสนุนโครงการพัฒนาย่านเมืองเก่าสงขลาของเทศบาลนครสงขลาที่เคยผ่านร่างพิจารณาตามแผนระยะเวลา 15 ปี ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งจะแบ่งเป็นงบรายปี ปีละ 10 ล้านบาทเข้ามาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

 

 

----------------------

(สานฝัน 'เมืองเก่าสงขลา' จากมรดกชาติ...ก้าวสู่มรดกโลก : สุพิชฌาย์ รัตนะ ... รายงาน)

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ