
บทสนทนา'กนง.-กนส.'ที่ต้องติดตาม
สวัสดีเศรษฐกิจ : บทสนทนา 'กนง.-กนส.' เรื่องปี 57 ที่ต้องติดตาม : โดย...สุรพล โอภาสเสถียร
สาระสำคัญของการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ที่เผยแพร่ออกมาในบรรยากาศของความคุกรุ่นทางการเมืองที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะลงตัว เรื่องที่ทั้งสองคณะสื่อสารออกมามีดังนี้
เสถียรภาพทางการเงินไทยมีความเสี่ยงลดลงบ้าง เมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อน
การใช้จ่ายและลงทุนในประเทศจากภาครัฐรวมถึงเอกชนชะลอลงกว่าคาด
การส่งออกยังไม่ฟื้นตัว ที่สำคัญคืออาจจะไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ตลาดการเงินไทยมีความผันผวนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 จากความไม่แน่นอนของการลดปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาล (คิวอี) ของสหรัฐเป็นสำคัญ
เฟด หรือธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาชัดเจนแล้วว่าจะเริ่มทยอยลดปริมาณคิวอี ในเดือนมกราคม 2557 ซึ่งอาจลดความไม่แน่นอนของตลาดลงบ้าง แต่ความผันผวนของตลาดการเงินยังมีอยู่ (ผู้เขียนเห็นว่าต้องระวังเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่จะผันผวนให้มาก)
เฟดได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่าการดำเนินนโยบายการเงินนั้น จะผ่อนคลายไปอีกสักระยะและจะมีการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจประกอบด้วย ในส่วนของประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะติดตามและประเมินสถานการณ์ของตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่โดยรวมแล้วตลาดทุนไม่ตื่นตระหนกมาก เนื่องจากทราบทิศทางของการจะปรับลดคิวอีอยู่แล้ว
ที่ประชุมเห็นว่าความเสี่ยงสำคัญที่ควรติดตามในระยะข้างหน้าที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศในระยะต่อไปได้คือ ความไม่แน่นอนทางการเมืองและความผันผวนของตลาดการเงินจากเงินทุนเคลื่อนย้าย (เรื่องนี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็นปัจจัยเฉพาะสำหรับประเทศไทยเลยทีเดียว ทุกฝ่ายที่ยังเห็นต่างต้องสรุปลงตัวให้ได้ หากเรื่องราวนี้ไม่จบ ยากที่ประเทศจะเดินต่อไปได้ในระยะยาว ประเทศไทยต้องไม่เป็นคนป่วยหนักที่เรื้อรังและดื้อยาของเอเชียและในอาเซียนให้ได้)
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุเพิ่มเติมว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกปี 2557 คือ เศรษฐกิจโลกที่ยังอาจฟื้นตัวไม่สูง ราคาสินค้าเกษตรทั่วโลกลดลง การขาดแคลนวัตถุดิบ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจากการลดมาตรการคิวอีของสหรัฐ และปัญหาทางการเมืองไทย
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินได้ตั้งเป้าอัตราการขยายตัวของสินเชื่อและเงินฝากในปี 2557 ที่คาดว่าจะโต 1.5 เท่าของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ตามที่ ธปท. และคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าในปีหน้าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 4.5% ซึ่งจะทำให้สินเชื่อและเงินฝากโตเท่ากับ 7% อย่างไรก็ตาม หากในต้นปีหน้ายังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง จนทำให้มีการปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจใหม่ ทางธนาคารก็จำเป็นต้องพิจารณาปรับเป้าการขยายตัวทั้งสินเชื่อและเงินฝากเช่นเดียวกัน
มาถึงบรรทัดนี้ทุกท่านคงเหมือนกับผู้เขียนว่า 6 เดือนแรกของปี 2557 การ์ดต้องสูง การเมืองคือปัจจัยเสี่ยงที่สุดของประเทศไทย เช่นเดียวกับที่เราก็ออกจากความเสี่ยงนี้ไม่ได้มา 5-7 ปีแล้ว
-----------------------
(สวัสดีเศรษฐกิจ : บทสนทนา 'กนง.-กนส.' เรื่องปี 57 ที่ต้องติดตาม : โดย...สุรพล โอภาสเสถียร)