
บึงใหญ่ในประวัติศาสตร์ของ ต.จอมบึง
จอมบึง เป็นอำเภอหนึ่งของ จ.ราชบุรี ติดกับเขต อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี
จากการขุดค้นและสำรวจพบเครื่องมือหินกะเทาะของคนยุคหิน มีอายุกว่า 4,000 ปีมาแล้ว กระจัดกระจายอยู่โดยรอบขอบทุ่งจอมบึง ที่เคลื่อนย้ายลงมาจากแถบเทือกเขาตะนาวศรี เข้าหาที่ราบสลับภูเขาลูกโดด ก่อนลงสู่ที่ราบลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งผู้คนบางส่วนคงมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาถึงยุคโลหะ เมื่อราว 2,300-1,700 ปีมาแล้ว
เมื่อเข้าสู่สมัยทวารวดี ราวหลัง พ.ศ.1100 พุทธศาสนาก็เข้ามาถึงยังบริเวณแถบนี้ด้วยเช่นกัน พบพระพิมพ์ดินเผา ในถ้ำพระพิมพ์ แบบเดียวกับแถบเขางู เขาวังสะดึง และเมืองคูบัว
นอกจากนั้นยุคต่อมายังพบหลักฐานในสมัยลพบุรี เช่น เศษเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์ซ่งและหยวน เป็นต้น
ต่อมาในสมัยอยุธยา เมืองราชบุรีกลายเป็นสถานที่ระดมพลป้องกันพระนคร อยู่บนเส้นทางเดินทัพไทยและพม่า จึงมีด่านสำคัญๆ เกิดขึ้นตามแนวลำน้ำภาชี เช่น ด่านเจ้าเขว้า เขต อ.สวนผึ้ง ด่านทับตะโก อ.จอมบึง เป็นต้น
ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ครั้งสงครามเก้าทัพ เมื่อ พ.ศ.2328 กองทัพพม่าที่ 2 มาตั้งค่ายที่แถบบ้านหนองบัวค่าย นอกเขางู ที่ท้องชาตรี (ทุ่งจอมบึง) และที่ด่านเจ้าเขว้าริมลำน้ำภาชี รบกับกองทัพของไทยหลังกองทัพที่ลาดหญ้าแตกพ่ายไปแล้ว
ท้องทุ่งจอมบึงหลังสงครามเก้าทัพเรียกกันต่อมาว่า “ท้องชาตรี” แม้รัชกาลต่างๆ ต่อมาก็ยังปรากฏชื่อ “ท้องชาตรี” ในเส้นทางเดินทัพ และเป็นสถานที่อันอุดมสมบูรณ์เป็นท้องน้ำกว้างใหญ่ต่อเนื่องเส้นทางคมนาคมจนเกิดเป็นตำนานต่างๆ
ในรัชกาลที่ 5 เมื่อคราวเสด็จประพาสมณฑลราชบุรี เมื่อ พ.ศ.2438 ทรงทอดพระเนตรบึงและเป็นที่โปรดปราน จึงโปรดให้เรียกบึงนี้ว่า “จอมบึง” ชาวบ้านจึงเรียกขาน “ท้องชาตรี” เป็น “จอมบึง” แต่นั้นมา
จากการเสด็จประพาสครั้งนี้ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นกิ่ง อ.จอมบึง ตามชื่อท้องบึงที่พระราชทานนามให้ ขึ้นกับ อ.เมือง จ.ราชบุรี เมื่อ พ.ศ.2439 เพราะประชาชนตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่นขึ้น และไกลตัวเมืองราชบุรีเดินทางไม่สะดวก
"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"