
ชีวิตหลากมุม'เนลสัน แมนเดลา'
ชีวิตหลากมุม'เนลสัน แมนเดลา' : คอลัมน์เปิดโลกวันอาทิตย์ : โดย...ปิยรมณ์ ทรัพย์สุวรรณ
โลกอาจรู้จักเนลสัน แมนเดลา ในฐานะบุรุษผู้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงวิถีของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ทิ้งรอยจารึกให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและเป็นแบบอย่างไปอีกยาวนานหลังการถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม ที่ผ่านมา ขณะอายุ 95 ปี
คนอาจรู้ว่าแมนเดลาต้องใช้ชีวิตอยู่ในคุกนาน 27 ปีก่อนสิ้นสุดยุคแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ จนกระทั่งได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีผิวดำคนแรก แต่อาจมีไม่กี่คนที่รู้ว่า เขาได้สร้างตำนานอะไรไว้ให้กับการแข่งขันกีฬารักบี้, เขาคิดอย่างไรกับวันวาเลนไทน์ และบทเรียนที่เขาให้แก่พัสดีเรือนจำในช่วงที่เขาติดคุก
แมนเดลา บิดาแห่งชาติ
แมนเดลาได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นหลักประกันพอที่ธนาคารกลางจะออกธนบัตรเป็นรูปของเขา เมื่อปี 2555 รูปปั้นครึ่งตัว อนุสาวรีย์ของเขากระจายอยู่ทั่วประเทศ อาคาร จัตุรัสและสถานที่อีกหลายแห่งถูกตั้งตามชื่อของเขา โบสถ์คาทอลิก
เรจินามันดิ ในโซเวโต ในโยฮันเนสเบิร์ก ซึ่งเป็นศูนย์กลางการประท้วงและสุสานสถานของเหล่านักเคลื่อนไหวในระหว่างหลายปีแห่งการต่อสู้กับการแบ่งแยกสีผิว มีกระจกสเตนกลาสเป็นภาพของแมนเดลากำลังชูแขนขึ้น สายการบินเซาท์แอฟริกันแอร์เวย์สก็ประดับภาพเขาของเขาบนเครื่องบินด้วย
วันวาเลนไทน์
เว็บไซต์ http://archive.nelsonmandela.org เป็นโครงการเก็บรักษาบันทึกเกี่ยวกับชีวิตของเขาด้วยระบบดิจิตอล มูลค่า 1.25 ล้านดอลลาร์ เริ่มเผยแพร่ทางออนไลน์เมื่อปีที่แล้ว ดำเนินการโดยกูเกิลและผู้เก็บ ดูแลบันทึกหรือเอกสารสำคัญของแมนเดลา ที่จะช่วยให้นักวิจัยและคนทั่วไปสามารถเข้าถึงเอกสารหลายร้อยฉบับ ภาพถ่ายและวิดีโอได้ และจากเว็บไซต์นี้เองทำให้ทราบว่า แมนเดลาไม่รู้จักวันวาเลนไทน์ ในร่างจดหมายฉบับหนึ่งที่เขียนด้วยลายมือและหมึกสีน้ำเงินราวปี 2538 ถึงผู้เลื่อมใสเขาคนหนึ่ง แมนเดลากล่าวว่า การถูกเลี้ยงดูในชนบทโดยพ่อแม่ที่ไม่รู้หนังสือ ทำให้เขาไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับเรื่องธรรมดาๆ อย่างวันหยุดที่อุทิศให้แก่เรื่องของความรัก
ร้องเพลงชาติ 2 เพลง
ตอนที่เข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง แมนเดลายืนเอามือข้างหนึ่งแตะที่หัวใจ โดยมีนายพลผิวขาวหลายคนยืนในท่าแสดงความเคารพ และเขาร้องคลอตามเพลงชาติ 2 เพลง คือ เดอะวอยซ์ (Die Stem) ซึ่งใช้ในยุคที่ยังมีการเหยียดผิว และลอร์ด เบลสส์ แอฟริกา (Nkosi Sikelel'iAfrika)
ชีวิตใหม่
ตอนที่แมนเดลาได้รับอิสรภาพหลังจากติดคุกนาน 27 ปี เขาเดินกุมมือนางวินนี ภรรยา ออกจากเรือนจำ และชูกำปั้นขวา แสดงสัญลักษณ์ของชัยชนะ ในหนังสืออัตชีวประวัติส่วนตัว "ลอง วอล์ก ทู ฟรีดอม" เขาเขียนว่า " นขณะที่ผมเดินผ่านประตูเหล่านั้นออกมา ผมรู้สึกว่า แม้ว่าจะอายุ 71 ปีแล้ว แต่ชีวิตของผมกำลังเริ่มต้นใหม่"
แนวทางที่ก้าวเดิน
แมนเดลาได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง จากการช่วยป้องกันความสับสนอลหม่านจากสีผิว ขณะแอฟริกาใต้เพิ่งหลุดพ้นยุคแบ่งแยกสีผิว แต่ที่สุดแล้ว อดีตผู้นำไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจน, การว่างงาน และปัญหาสังคมอื่นๆ ที่ยังคงแพร่ระบาดอยู่ในประเทศของเขาได้ แม้ว่าบรรยากาศโดยรวมค่อนข้างนิ่ง แต่แอฟริกาใต้ยังดิ้นรนเพื่อให้สมกับฉายาอันสวยงามของประเทศ "เรนโบว์ เนชั่น" หรือดินแดนแห่งสายรุ้ง
นับตั้งแต่สิ้นสุดยุคการแบ่งแยกสีผิว แอฟริกาใต้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างราบรื่นมาแล้ว 4 ครั้ง พรรคแอฟริกัน เนชั่นแนล คองเกรส (เอเอ็นซี) ของแมนเดลา ประกาศในปีนี้ว่า เศรษฐกิจขยายตัวถึง 83% นับจากปี 2537 ที่มีการเลือกตั้งครั้งแรก แต่การคอร์รัปชั่นภายในพรรค ทำให้พรรคไม่สามารถทำตามที่ให้สัญญาไว้กับประชาชนได้ตั้งแต่แรกเริ่ม และชนผิวขาวที่เป็นเพียงกลุ่มน้อย ยังคงมีฐานะมั่งคั่งกว่าคนผิวดำที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ และนำไปสู่อาชญากรรมและความรุนแรง
ฟุตบอลโลก
แมนเดลา ปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งสุดท้าย เมื่อปี 2553 เขายิ้มกว้างท่ามกลางอากาศหนาวเย็นและโบกมือให้ฝูงชน ที่สนามกีฬาซ็อกเกอร์ ซิตี้ ในพิธีปิดการแข่งขันฟุตบอลโลก เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้แอฟริกาใต้เป็นที่สนใจของชาวโลก หลังจากเก็บตัวนานนับเดือนในช่วงของการแข่งขัน และไม่ได้เข้าร่วมพิธีเปิด เนื่องจากเหลนสาวของเขาเสียชีวิตในอุบัติเหตุทางรถยนต์ หลังคอนเสิร์ตเวิลด์คัพ
ด้านที่หยาบกระด้าง
แม้ภาพลักษณ์ของแมนเดลาเหมือนนักบุญ แต่ในความเป็นมนุษย์ปุถุชนย่อมมีด้านหยาบกระด้างเช่นกัน ตอนที่กลุ่มผู้สื่อข่าวผิวดำวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของเขา เขาก็โต้กลับคนเหล่านี้ว่าเป็นหุ่นเชิดของพวกผิวขาวที่เป็นเจ้าของสื่อ ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ของคนผิวขาวบางครั้ง ถูกปัดว่าเป็นพวกยึดติดกับความเป็นอภิสิทธิชนยุคเก่า และเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความสนิทสนมกับฟิเดล คาสโตร และโมอัมมาร์ กัดดาฟี แมนเดลาก็ยืนยันว่า เขาจะไม่มีวันทอดทิ้งผู้สนับสนุนการต่อสู้กับการแบ่งแยกสีผิว
การต่อสู้กับโรคเอดส์
แมนเดลาได้หันมารณรงค์ต่อสู้กับโรคเอดส์อย่างจริงจัง เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อปี 2548 มัคกาโธบุตรชายของเขา เสียชีวิตด้วยโรคนี้ ขณะที่แอฟริกาใต้ เป็นประเทศที่ประชาชนติดเชื้อเอชไอวีมากที่สุดในโลกถึง 5.6 ล้านคน และยังเผชิญกับอัตราผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย
บ้านเกิด
แมนเดลามักฉลองวันหยุดต่างๆ รวมถึงเป็นเจ้าภาพต้อนรับเหล่าอาคันตุกะผู้มีเกียรติ ที่กระท่อมในชนบทคูนู ที่สร้างเลียนแบบบ้านของผู้คุมเรือนจำ ที่เขาได้เข้าไปอาศัยอยู่ในช่วงวันท้ายๆ ของการถูกควบคุมตัว ด้วยนิสัยถ่อมตัว ทำให้เขาเลือกที่จะสร้างบ้านหลังใหม่ที่เลียนแบบเรือนจำ
วิกเตอร์ เวอร์สเตอร์ เนื่องจากคุ้นเคยกับมัน และจะได้ไม่ต้องเดินหาห้องครัวในตอนกลางคืน
สร้างความเป็นปึกแผ่นด้วยรักบี้
เมื่อปี 2538 แมนเดลา เดินเข้าไปในสนามที่กำลังมีการแข่งขัน รักบี้ เวิลด์ คัพ รอบสุดท้ายในโยฮันเนสเบิร์ก โดยสวมเสื้อหลากสีสันสไตล์แอฟริกาใต้ และทำให้คนผิวขาวมากกว่า 5 หมื่นคนส่งเสียงเรียกชื่อเขา (Nelson! Nelson! Nelson!) พวกเขาต้องตะโกนในขณะที่ประธานาธิบดีแมนเดลา เข้าไปแสดงความยินดีต่อทีมเจ้าถิ่นที่ได้รับชัยชนะ แมนเดลายังตัดสินใจสวมเสื้อที่มีตราสัญลักษณ์สปริงบ็อกซ์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่เกลียดชังของคนผิวดำ เพราะมันได้ชื่อว่า เป็นกีฬาที่ชิงชังรังเกียจคนผิวดำเช่นกัน แต่ตอนนี้ มันได้กลายเป็นกีฬาสำหรับชาวแอฟริกาใต้ทุกคน
สุนทรพจน์"ไม่อีกแล้ว"
แมนเดลาขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกของแอฟริกาใต้เมื่อปี 2537 และในช่วงท้ายของการกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง แมนเดลา ประกาศว่า "จะไม่มีอีกแล้ว ที่ดินแดนอันสวยงามแห่งนี้ จะต้องเผชิญกับการถูกกดขี่ และต้องทนเสื่อมเสียศักดิ์ศรีจากเป็นที่ชิงชังรังเกียจ
ในโลกใบนี้อีกต่อไป ปล่อยให้เป็นอำนาจของเสรีภาพ ดวงอาทิตย์จะไม่บดบังความรุ่งโรจน์แห่งความสำเร็จของมนุษย์ พระเจ้าอวยพรแอฟริกา"
นักโทษหมายเลข 46664
แมนเดลา ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำบนเกาะร็อบเบน นอกชายฝั่งเคปทาวน์ นาน 18 ปี จากโทษจำคุกทั้งหมด 27 ปี เขาและคนอื่นๆ ต้องทำงานที่เหมืองหิน วันละ 7 ชั่วโมง และแทบจะทุกวันนานถึง 12 ปี จนกระทั่งมีการยกเลิกการบังคับใช้แรงงาน แมนเดลานักโทษหมายเลข 46664
ได้แอบเขียนหนังสือบนพื้นคอนกรีตแคบๆ ในห้องขังในตอนกลางคืน
เป็นเรื่องต้องห้ามในการอ้างคำพูดหรือเผยแพร่ภาพถ่ายของเขา แต่มีการอาศัยส่งข้อความจากนักโทษไปยังบรรดาแกนนำต่อต้านการเหยียดผิวที่ลี้ภัยในต่างแดน ผ่านทางเรือโดยสาร นักโทษรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อจัดการสัมมนา และแมนเดลาเริ่มกระบวนการปรองดองโดยเริ่มจากการสอนบทเรียนให้แก่พวกผู้คุมเรือนจำ ที่เขาคิดว่าจะสามารถโน้มน้าวให้คนเหล่านี้จะเปิดใจรับ และที่สำคัญ ผู้คุมเหล่านี้เป็นคนผิวขาว ขณะที่นักโทษทุกคนเป็นคนผิวดำ หรือสีผิวอื่น เช่น เอเชีย
ดูตัวเอง ปรัชญาจากเรือนจำ
หนึ่งในคำกล่าวในตำนานของแมนเดลา ที่ถูกนำไปแสดงในพิพิธภัณฑ์เหยียดผิว ในโยฮันเนสเบิร์ก ระบุว่า คนทั่วไปมีแนวโน้มที่จะวัดความสำเร็จของตัวเองจากปัจจัยภายนอก แต่เรือนจำทำให้คนมีเวลาที่จะให้ความสนใจกับปัจจัยภายใน เช่น ความซื่อสัตย์ ความจริงใจ ความเรียบง่าย ความนอบน้อม ความเอื้ออาทร และการขาดความหลากหลาย คุณได้เรียนรู้ที่จะมองดูตัวเอง
ที่ทำงานของแมนเดลา
หลังอำลาตำแหน่งประธานาธิบดี แมนเดลาได้นั่งทำงานประจำจากสำนักงานในโยฮันเนสเบิร์กในอาคารที่เพิ่งได้รับการปรับปรุง และกลายเป็นเนลสัน แมนเดลา เซ็นเตอร์ ออฟ เมมโมรี่ ซึ่งในสำนักงานแห่งนี้ มีภาพถ่ายของแมนเดลาในช่วงที่ยังมีสุขภาพดี กับภรรยาคือ กราซา มาเชล
นายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ และนักเคลื่อนไหว วอลเตอร์ ซิซูลู กับคนอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังมีนวม หมวกคริกเก็ต และหมวกกันน็อกของตำรวจ ที่เขาได้มาเป็นของขวัญและถูกจัดแสดงไว้ในตู้โชว์มีหนังสือหลายเล่มที่คนดังหลายคนมอบให้แมนเดลา พร้อมข้อความเขียนด้วยลายมือ รวมทั้ง นาดีน กอร์ดิเมอร์ นักประพันธ์ชาวแอฟริกาใต้และเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม เมื่อปี 2534, คอร์เนล เวสต์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองชาวอเมริกัน ที่เขียนไว้ในหนังสือของเขาว่า "Democracy Matters," to : "Bro' Nelson Mandela."
........................
(ชีวิตหลากมุม'เนลสัน แมนเดลา' : คอลัมน์เปิดโลกวันอาทิตย์ : โดย...ปิยรมณ์ ทรัพย์สุวรรณ )