
มติป.ป.ช.ตั้งกก.สอบ'ขุนค้อน-นิคม'
ป.ป.ช.รับเรื่องร้องให้ดำเนินคดีอาญา 308 ส.ส.-ส.ว. ร่วมลงชื่อเสนอแก้รธน.พร้อมรวมเรื่องขอถอด'สมศักดิ์-นิคม' ด้าน'40ส.ว.'ยื่นฟัน '312ส.ส.-ส.ว.'ด้วย
21 พ.ย.56 นายประสาท พงษ์ศิวาภัย และนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงถึงกรณีที่มีการกล่าวหา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ตามมาตรา 66 ตาม พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ..2554 และกรณีร้องขอให้ถอดถอน ออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 270 กรณี เสนอร่างรัฐธรรมนูญ แห่งชาติอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ .... พ.ศ.... เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา โดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย
โดย คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับเรื่อง กล่าวหาร้องเรียน และคำร้องขอให้ถอดถอน ออกจากตำแหน่งรวม 5 เรื่องประกอบด้วย 1.เรื่องกล่าวหาร้องเรียน ขอให้ดำเนินคดีอาญา จำนวน 2 เรื่อง คือ 1.1 ส.ว. จำนวน 3 คน ได้กล่าวหา ส.ส. และ ส.ว. จำนวน 308 คน กรณี "ร่วมกันลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ" เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.ว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา ทำให้ผู้กล่าวหาหรือประชาชนได้รับความเสียหาย
1.2.มีผู้กล่าวร้องเรียนกรณีสมาชิกรัฐสภาใช้บัตรประจำตัวของตนเสียบเข้าเครื่องลงคะแนนแทนสมาชิกรัฐสภาคนอื่น
2.การยื่นคำร้องขอให้ ถอดถอนออกจากตำแหน่ง จำนวน 3 เรื่อง คือ 2.1.ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันลงชื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภาให้ ออกจากตำแหน่ง 2.2 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันลงชื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ถอดถอนนายนายนิคม ไวยรัชพานิช ในฐานะรองประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธานรัฐสภา
2.3 ส.ว.ร่วมกันลงชื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ ประธานรัฐสภา โดยตามคำร้องข้อ 2.1 และ ข้อ 2.2 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ ให้แต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว โดยมีนายภักดี โพธิศิริ ป.ป.ช.เป็น ประธานอนุกรรมการไต่สวน ส่วนคำร้องที่ 2.3 อยู่ ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณา
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ กรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาคำร้องขอให้ถอดถอนคำกล่าวหาทั้ง 5 เรื่องแล้ว และได้มีมติให้นำคำร้องขอให้ถอดถอนและคำกล่าวหาทั้ง 5 เรื่อง มารวมพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกัน โดย คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวน ข้อเท็จจริง โดยมี นายวิชา มหาคุณ , นายใจเด็ด พรไชยา และนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน
"คปท."ร้อง"ป.ป.ช."ถอด"นายกฯ-ปธ.-รองปธ.สภา"
นายอุทัย ยอดมณี ผู้ประสานงานเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) พร้อมด้วยนางสาวพวงทิพย์ บุญสนอง ที่ปรึกษากฏหมายคปท. ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผ่านนายวิทยา อาคมพิทักษ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง ชี้มูลความผิด และดำเนินคดีอาญา กับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสมศักดิ์ นายนิคม และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 312 คน ที่ร่วมเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและกระทำขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ รวมถึงการกระทำที่ขัดต่อประมวลจริยธรรม ในการเร่งรัดพิจารณา ร่างดังกล่าว
ด้านนายวิทยา กล่าวว่า จะเร่งนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ป.ป.ช. ในวันนี้ โดยจะนำไปรวมกับคำร้องที่เคยยื่นก่อนหน้านี้ในประเด็นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในวันนี้เวลาประมาณ 14.00 น. จะมีการแถลงข่าวความคืบหน้าการตรวจสอบคำร้องการยื่นถอดถอน ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยชี้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ
"40ส.ว."ยื่น "ป.ป.ช."ฟัน 312 ส.ส.-ส.ว.
เมื่อเวลา 13.30 น.นายวันชัย สอนศิริ พร้อมด้วยนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะตัวแทนกลุ่ม 40 ส.ว. ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายวันชัย กล่าวว่า ในวันที่ 22 พ.ย.นี้ กลุ่ม 40 ส.ว.จะเดินทางไปสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ดำเนินการถอดถอน ส.ส.และส.ว. 312 คนที่เสนอและเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญประเด็นดังกล่าวถือว่ามีใบเสร็จ เป็นหลักฐานน่าเชื่อถือได้ว่า ส.ว.และส.ส. 312 คนได้กระทำความผิดแล้ว ทั้งประธานสภาฯ เลขาธิการสภาฯ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และนายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้เสนอร่างแก้ไขดังกล่าว ทั้งนี้เชื่อว่า ป.ป.ช.จะเร่งวินิจฉัยโดยเร็ว เพราะมีพยานหลักฐานจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ชัดเจนและผูกพันทุกองค์กร ต้องดำเนินคดีแบบสุดซอยและเหมาเข่งกับ ส.ส.และส.ว. 312 คน ส่วนการดำเนินคดีทางอาญานั้นจะดำเนินการในฐานะภาคประชาชน โดยเอาผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่มิชอบ รวมทั้งการใช้เอกสารเท็จด้วย
ด้านนายประสาร กล่าวว่า ยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่การล้างแค้นหรือคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัว แต่ต้องการรักษาหลักนิติรัฐ นิติธรรม และต้องการให้เกิดความสำนึกและรับผิดชอบของรัฐบาล ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวมีผลถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับด้วยคือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และมาตรา 68 ประกอบมาตรา 237
"ประธานรัฐสภา" ยังยืนยันศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ
นายสมศักดิ์ กล่าวถึงการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) รับเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญว่า ตนจะเรียกประชุมฝ่ายกฎหมายรัฐสภา หากมีการชี้แจงก็จะมอบให้ฝ่ายกฎหมายไปชี้แจง เรื่องนี้ไม่พร้อมก็ต้องพร้อม ไม่รู้จะกังวลทำไม อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ทั้งนี้ ยืนยันว่าดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับ และยืนยันว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณา เพราะไม่มีกฎหมายใดรองรับเรื่องนี้
ส่วนจะมีการเอาผิดกับข้าราชการที่ปลอมแปลงเอกสารหรือไม่นั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การปลอมแปลงเอกสาร แต่เป็นเรื่องที่ฝ่ายธุรการที่ปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำ เช่น มาตรา 11/1 เปลี่ยนเป็นมาตรา12 เนื้อหายังคงเดิม ไม่ได้เขียนถ้อยคำเพิ่ม แต่ปรับปรุงให้เหมาะสม ประเด็นนี้หารือกับฝ่ายกฎหมายรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองอย่างไร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทยกำลังประชุมว่าจะดำเนินการอย่างไร พรรคเพื่อไทยก็ยืนยันว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำฟ้อง ตอนนี้ตนก็ยังรู้สึกมึนอยู่ว่าจะปฏิบัติอย่างไร และหากศาลรัฐธรรมนูญ อ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ก็อยากให้อ่านมาตรานี้ใหม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหรือไม่ เพราะดูแล้วไม่มีอำนาจ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า คำวินิจฉัยผูกพันทุกองค์กร แต่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ยอมรับ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องจะผูกพันทุกองค์กร แต่ถ้าไม่ถูกต้องก็ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย เรื่องนี้ต้องฟังนักกฎหมายทั่วประเทศว่าเห็นอย่างไรบ้าง เนื่องจากหากอ้างมาตรา 68 ก็ไม่เข้าข่ายอยู่แล้ว ทั้งนี้เหตุใดสื่อมวลชนไม่ถามศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจอะไร มาตราไหนพิจารณา ซึ่งต้องดูว่าศาลมีอำนาจจริงหรือไม่