
ไทม์ไลน์'อันตราย''รัฐบาล-ขั้วตรงข้าม'ลุ้นระทึก
ไทม์ไลน์'อันตราย' 'รัฐบาล-ขั้วตรงข้าม'ลุ้นระทึก : สมัชชา หุ่นสาระ สำนักข่าวเนชั่น
จังหวะการเมืองไทยช่วงปลายวสันตฤดูย่างเข้าเหมันตฤดูยามนี้ หลายคนฝันหวานถึงการท่องเที่ยวรับลมหนาวกับคนใกล้ชิด แต่บางคนหวั่นใจกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์สยามประเทศในปัจจุบัน อันสืบเนื่องมาจากอุณหภูมิการเมืองที่ร้อนระอุสวนกระแสฤดูหนาว
ภาษาคนยุคใหม่ที่ใช้ในโลกสังคมออนไลน์ คือ "ไทม์ไลน์" หรือตารางเวลานั้น ยามนี้คนการเมืองและนักสังเกตการณ์หลายฝ่ายต่างจับตาความเคลื่อนไหวของขั้วตรงข้ามรัฐบาล และการกำหนดยุทธศาสตร์ย่างก้าวของตัวเอง เพราะแต่ละก้าวที่เดินไปนั้น เสมือนอยู่บนสนามรบที่เต็มไปด้วยกับระเบิด และห่ากระสุน
สถานการณ์ทั้งหลายนั้น คล้ายว่ารัฐบาลชุดนี้จะเป็นฝ่ายตั้งรับมากกว่าเปิดเกมรุก เพราะไม่ว่าจะย่างก้าวไปทางใด ย่อมมีอุปสรรคขวางเสมอๆ แต่ในข้อเท็จจริงบางอย่างต้องตำหนิคนในรัฐบาลด้วยว่าทำพลาดในเรื่องไม่เป็นเรื่อง อย่างไม่น่าให้อภัย
วานนี้ (18 พ.ย.) วุฒิสภาพิจารณาร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยมีการปรับแก้ไขในชั้นกรรมาธิการซึ่งแตกต่างจากร่างที่เสนอขึ้นมาจากชั้นสภาผู้แทนราษฎร ให้เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท อยู่นอกงบประมาณ คือไม่ต้องส่งเข้าคลัง เป็นต้องส่งเข้าคลังด้วย สุดท้ายไม่ว่าจะแก้ไขหรือไม่ ฝ่ายค้านและ ส.ว.กลุ่มตรงข้ามรัฐบาลจะยื่นเรื่องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน ซึ่งฝ่ายรัฐบาลเองก็ยอมรับว่า เรื่องนี้มีความเสี่ยงมากที่สุดในบรรดาเรื่องที่ไปศาลรัฐธรรมนูญ
อีกองค์กรที่รัฐบาลมองว่าเป็นอุปสรรคในการทำงานไม่น้อย คือ ศาลปกครอง วันนี้ (19 พ.ย.) ศาลปกครองนัดวินิจฉัยคดี พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ฟ้อง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีถูกโยกย้ายให้ไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ตรงนี้ต้องดูว่า ผลคดีจะเป็นเช่นใด
แต่คดีนี้จะเชื่อมไปถึงคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) องค์กรอิสระอีกองค์กรที่รัฐบาลไม่ปลื้ม ที่กำลังสอบสวนคดีนี้อยู่เช่นกัน โดยในส่วนของ ป.ป.ช.นั้น นอกจาก พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ที่เป็นจำเลยในคดีแล้ว ยังมี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีด้วย
ในวันนี้เช่นกัน (19 พ.ย.) นปช.จะเริ่มชุมนุมที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน โดยปรับลดจำนวนวันชุมนุมลง 1 วัน จากเดิม 18-20 พฤศจิกายน มาเป็น 19-20 พฤศจิกายน และย้ายสถานที่จากเมืองทองธานีไปย่านหัวหมากแทน ตรงนี้ต้องดูว่า คนเสื้อแดงจะมาแน่นชามอ่างยักษ์ของเมืองไทยหรือไม่
เพราะ นปช.เคยชุมนุมที่นี่มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อหลายปีมาแล้ว และมันจะเป็นการวัดจำนวนมวลชนประชันกับถนนราชดำเนิน ซึ่งแกนนำอย่าง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ระบุไว้ว่า ขอให้มวลชนมาร่วมชุมนุมให้ได้ 1 ล้านคน เพื่อขับไล่ระบอบทักษิณ ได้สำเร็จหรือไม่
และวันที่ 20 พฤศจิกายน จะเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดตัดสินคดีแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.โดยมี 312 ส.ส. และส.ว. ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะอาจกระทำผิดรัฐธรรมนูญ โดย นปช.จะร่วมรับฟังการอ่านคำวินิจฉัยคดีนี้ในที่ตั้ง แต่อาจมีคนเสื้อแดงกลุ่มย่อยๆ บางส่วนที่มาฟังคำตัดสินที่ย่านแจ้งวัฒนะ
กรณีนี้มันเป็นการแสดงพลังและจำนวนที่อาจสื่อความหมายบางอย่างไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า นปช.พร้อมที่จะสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเสมอไป หากผลการตัดสินออกมาแบบ "สุดซอย" คือยุบพรรคเพื่อไทย คนเสื้อแดงคงไม่ยอมแน่ อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ของหลายๆ ฝ่าย เห็นตรงกันว่า ไม่น่าจะออกแนวทางนั้น
แต่แม้ไม่มีผลรุนแรงถึงขั้นยุบพรรค แต่หากศาลวินิจฉัยว่า มีการขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะส่งผลต่อรัฐบาลโดยตรง โดยเฉพาะเมื่อนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ทูลเกล้าฯ ถวายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ไปแล้ว ซึ่งจะไปเพิ่มน้ำหนักให้ข้อกล่าวหา "กระทำการมิบังควร" ในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านให้มากขึ้น
สำหรับวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนถึงล่าสุดยังไม่มีการกำหนดออกมาอย่างชัดเจน ยังเป็นการโต้แย้งกันไปมาระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล โดยฝ่ายรัฐบาลต้องการให้ฝ่ายค้านนำเอกสารที่ไปยื่นถอดถอนนายกฯ และจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย มาให้ประธานสภาด้วย แต่ฝ่ายค้านยังไม่ยอมยื่นให้ โดยบอกว่า เป็นเอกสารลับ ถ้าให้ก็จะเป็นการบอกข้อสอบ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลบอกว่าคงยอมให้มีการอภิปรายไม่ได้ หากฝ่ายค้านไม่ยื่น พร้อมระบุว่า สมัย ปชป.เป็นรัฐบาลก็ให้เพื่อไทยยื่นเอกสาร และเพื่อไทยก็ทำตาม
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น อำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล บอกไว้ว่า อาจจะให้มีการอภิปรายกันวันที่ 22-24 พฤศจิกายน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นช่วงเวลาที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ตอนนี้เป็นแกนนำกลุ่มต้านรัฐบาลที่เวทีราชดำเนิน ประกาศดีเดย์ นัดชุมนุม 1 ล้านคน เพื่อล้มระบอบทักษิณ
ตรงนี้ต้องดูว่า กระแสนักรบหน้าจอ-ชนชั้นกลาง-นักศึกษา-นักธุรกิจ ฯลฯ จะไปร่วมขบวนกับการชุมนุมนี้หรือไม่ เพราะต้นรากการชุมนุมครั้งนี้ หนีไม่พ้นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเดินเกมตามคำสั่ง "นายใหญ่" นั่นเอง
ไทม์ไลน์ข้างต้น คือสิ่งที่แกนนำในการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วาดหวังไว้ว่าจะนำไปสู่จุดเปลี่ยนทางการเมือง และเผด็จศึกรัฐบาลได้
ถัดไป วันที่ 26-27 พฤศจิกายน นายกฯ เดินทางไปประชุมอย่างไม่เป็นทางการกับสิงคโปร์ (Thai - Singapore Retreat) ตามตารางนัดหมายล่วงหน้า จากนั้นวันที่ 29-30 พฤศจิกายน สำนักนายกฯ มีกำหนดการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.สงขลา โดยฝ่ายความมั่นคงกำลังพิจารณาว่า จะเสนอให้รัฐบาลเลื่อนการประชุมหรือไม่
เพราะสัญญาณขับไล่ ครม.ชุดนี้ จาก "นกหวีด" ได้ส่งเสียงแล้ว โดย จาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ โดนมาแล้วสองครั้ง คือ ที่โรงแรมย่านถนนหลานหลวง และ ที่ จ.นครศรีธรรมราช และล่าสุด ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯ ก็โดนเป่านกหวีดไล่ที่พิจิตร
รวมทั้งช่วงปลายเดือนนี้ ต้องจับตา ป.ป.ช.ที่มีข่าวว่า อนุกรรมการจะสรุปคดีทุจริตการรับจำนำข้าว เพื่อส่งให้ ป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณาต่อไป
วันที่ 2 ธันวาคม ครบกำหนด 5 ปี 109 นักการเมือง ซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง เมื่อครั้งศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน, พรรคชาติไทย, พรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยมีกระแสข่าวอาจจะมีการปรับ ครม.หลังจาก 109 ชีวิตกลับมาลงสนามการเมืองได้อีกคราว ซึ่งแน่นอนการปรับ ครม.ก็เป็นอีกวิธีในการลดกระแสกดดันรัฐบาล เพื่อประคองรัฐนาวาให้อยู่ต่อไป
จุดที่น่าจับตาอีกวัน คือวันที่ 12 ธันวาคม ที่อัยการนัดส่งฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ ต่อศาลในคดี 98 ศพ ข้อหาก่อให้ผู้อื่นพยายามฆ่า ฆ่าคนตาย โดยเจตนาเล็งเห็นผล ตรงนี้ต้องดูว่า ทั้งสองจะได้รับการประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดีหรือไม่ เพราะ ณ ตอนนั้นเป็นช่วงปิดสมัยประชุม อภิสิทธิ์จะไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง ขณะที่ สุเทพ ก็ไม่ได้เป็น ส.ส.แล้ว อย่างไรก็ตามสุดท้ายก็ไม่น่าจะมีปัญหา
ต่างๆ นานาข้างต้นนั้น คนการเมืองทั้งสองฝ่ายต่างเผชิญมรสุมชีวิตกันถ้วนหน้า แต่ขอเตือนทุกฝ่ายว่า การขยับหมากการเมืองใดๆ นั้น ขอให้ใช้สติอย่างรอบคอบ เพราะหากมีเหตุอันไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นนั้น ประเทศและคนไทยทุกชีวิต คือผู้ที่สูญเสียและไม่มีใครชนะแบบเด็ดขาด!!
------------------------------------------------------------
(หมายเหตุ : ไทม์ไลน์'อันตราย' 'รัฐบาล-ขั้วตรงข้าม'ลุ้นระทึก : สมัชชา หุ่นสาระ สำนักข่าวเนชั่น)