
'นพดล'อโหสิคนใส่ร้ายขายชาติ
'นพดล' อโหสิ คนใส่ร้ายขายชาติ วอนกลุ่ม 40 ส.ว.-ประชาธิปัตย์ หยุดวิจารณ์
17 พ.ย. 56 เมื่อเวลา 11.00 น. นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตรมว.ต่างประเทศ แถลงว่า ตนขอความเป็นธรรม หลังจากที่ถูกกล่าวหาว่า ขายชาติ และถูกบิดเบือนใส่ร้ายมา 6-7 ปี อย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งคำตัดสินศาลโลกในวันที่ 11 พ.ย. ทำให้ประชาชนรู้ว่าพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. ไม่ได้ตกเป็นของกัมพูชา และสิ่งที่รัฐบาลสมัครทำ เป็นการปกป้องดินแดนไม่ใช่ขายชาติ แต่ปกป้องชาติ แต่ก่อนชี้แจงความจริงก็ไม่ฟัง แต่หลังคำตัดสินศาลโลก ประชาชนเข้าใจ ทุกฝ่ายควรหยุดโกหกเรื่องปราสาทพระวิหาร ในหลายประเด็น รวมทั้งขอแก้ตัวให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กล่าวหาว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในฐานะอดีตรมช.ต่างประเทศ ไปเซ็นลงนาม MOU 43 ซึ่งเป็นการยอมรับแผนที่ 1 : 200,000 ว่าเป็นเท็จ
นายนพดล กล่าวอีกว่า คำตัดสินได้ทำให้ความจริงปรากฏ ดังนี้ 1. คำตัดสินยืนยันชัดเจนว่าตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชามา 51 ปีแล้วตามที่ศาลโลกตัดสินในปี 2505 ไทยไม่เสียอะไรเพิ่มจากที่เสียในปี 2505 2. ปี 2549 ช่วงรัฐบาล คมช. กัมพูชายื่นเอาตัวปราสาทพระวิหาร บวกพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. ไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก 3. ปี 2551 รัฐบาลสมัคร ที่มีตนเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคัดค้าน และบังคับให้กัมพูชาตัดพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. ออก และห้ามไม่ให้นำไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก โดยกัมพูชาต้องยื่นแผนผังตัวปราสาทใหม่แทนแผนที่ที่รุกล้ำพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.ที่ยื่นไว้ในปี 2549 จนสามารถขึ้นทะเบียนได้เฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น ซึ่งมีพื้นที่เล็กกว่าเส้นรั้วลวดหนามตามเส้นมติ ครม. เสียอีก โดยไม่รวมพื้นที่ทับซ้อน ตามที่ระบุใน ข้อ 9 ของมติคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 32 (7 ก.ค. 51) ว่า บันทึกว่าทรัพย์สินที่เสนอสำหรับขึ้นทะเบียนได้รับการลดขนาดและประกอบเพียงปราสาทพระวิหาร และไม่รวมชะง่อนเขาที่มีพื้นที่กว้าง หน้าผา และถ้ำต่างๆ
นายนพดล กล่าวด้วยว่า 4. คำตัดสินศาลโลกครั้งนี้ ระบุไว้ชัดเจนว่ากัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้เฉพาะตัวปราสาท และไม่รวมพื้นที่พิพาทไทยกัมพูชา (พื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.) ตามย่อหน้า 27 ของคำตัดสินศาลโลก ว่าในวันที่ 7 ก.ค. 51 คณะกรรมการมรดกโลกตัดสินใจที่จะขึ้นทะเบียนตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ตาม “แผนผังของทรัพย์สินที่แก้ไขใหม่” ซึ่งไม่รวมพื้นที่ที่พิพาทระหว่างไทยและกัมพูชา 5. คณะทนายความผู้ต่อสู้คดี รวมถึงศาสตราจารย์ เปลเล่ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระดับโลก ที่มีนายวีระชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจํากรุงเฮก เป็นหัวหน้า ต้องการใช้คำแถลงการณ์ร่วมผมในการต่อสู้คดี 6. สรุปว่า คำตัดสินของศาลโลก ได้พิสูจน์อย่างชัดเจนว่า คำแถลงการณ์ร่วมไม่ได้ทำให้ไทยเสียดินแดนใดๆ แต่ได้ช่วยปกป้องพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.ไม่ให้ตกเป็นของกัมพูชา 7. อโหสิกรรมนักการเมืองกลุ่มที่ใส่ร้ายผมมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อฝุ่นจางลง ความจริงก็ปรากฏ แต่เวลานานเกินไปที่ฝุ่นจะจาง 8. คำพิพากษาศาลโลกจะทำให้การบิดเบือนใส่ร้ายทำได้ยากขึ้น เพราะประชาชนเข้าใจว่าฝ่ายใดทำอะไรไว้ ใครใช้ประเด็นปราสาทพระวิหารมาล้มรัฐบาลสมัคร และใส่ร้ายผมตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และใครคือผู้ปกป้องดินแดน และ 9. ฝ่ายต่างๆ ควรหยุดวิจารณ์คำตัดสินศาลโลก เพื่อหวังผลทางการเมืองได้แล้ว แต่ควรให้ข้าราชการมืออาชีพทำงาน เลิกสร้างปัญหา แต่ควรร่วมมือแก้ปัญหา
ส่วนนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกประชาธิปัตย์ และนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา ก็ใส่ร้ายป้ายสีว่าตนทำให้เสียดินแดนนั้น ก็ขออโหสิกรรม นอกจากนี้ขอเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่ม 40 ส.ว.หยุดวิพากษ์วิจารณ์ได้แล้ว แล้วปล่อยให้นายวีรชัย และทีมทนายได้ทำหน้าที่