ข่าว

โศกนาฏกรรมไห่เยี่ยน เพราะอากาศโลกเปลี่ยนแปลง?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โศกนาฏกรรมไห่เยี่ยน เพราะอากาศโลกเปลี่ยนแปลง? : คอลัมน์เปิดโลกวันอาทิตย์

               พายุไห่เยี่ยน หรือที่ชาวฟิลิปปินส์เรียกว่า โยลันดา จะได้ตำแหน่งแชมป์พายุหมุนเขตร้อนกำลังแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลกหรือไม่ ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบสถิติ แต่ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินต่อชาวฟิลิปปินส์นั้นไม่อาจนำเกณฑ์ใดมาวัดได้

               ก่อนไห่เยี่ยนพัดกระหน่ำเกาะซามาร์ เลย์เต เซบู และหลายพื้นที่ทางภาคกลาง ชาวฟิลิปปินส์ที่เจอพายุไต้ฝุ่น 20-24 ลูก ในแต่ละปี รับรู้ว่ากำลังจะเผชิญกับพายุรุนแรงระดับซูเปอร์ไต้ฝุ่น อิทธิพลของพายุจะทำให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลันและคลื่นพายุหมุนซัดฝั่ง หรือ สตอร์มเซิร์จ พวกเขาคุ้นชินกับพายุลมแรงและฝนกระหน่ำ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนที่อยู่กับ 2 ฤดู คือร้อนกับเปียก แต่ไม่ได้ตระหนักว่า ภัยของสตอร์มเซิร์จคืออะไร ไม่รู้ว่าปริมาณน้ำมหาศาลจะถาโถมด้วยกำลังแรงมหาศาล

               จากคำบอกเล่าของชาวบ้านที่บอกนักข่าวต่างประเทศ ระบุว่า พวกเขาไม่รู้ว่าฤทธิ์เดชของสตอร์มเซิร์จว่า ไม่ต่างจากสึนามิ ระดับการตื่นตัวเตรียมพร้อมจึงไม่สอดรับกับภัยและความเสี่ยงที่จะมาพร้อมกับพายุกำลังแรงขนาดนี้ เห็นได้ชัดจากบรรยากาศในวันก่อนหน้าพายุเข้าที่เมืองตาโคลบัน เมืองแรกที่พายุขึ้นฝั่งบนเกาะเลย์เต เหมือนวันปกติ ไม่มีคนไปต่อแถวแย่งซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อกักตุน

               เหล่านี้เป็นสาเหตุใหญ่เรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิดความสูญเสียในชีวิตจำนวนมาก นอกจากเหนือโครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อมที่จะรับภัยพิบัติระดับนี้ มีรายงานว่า ศูนย์อพยพ อาทิ สนามกีฬา หรือโบสถ์ ก็กลายเป็นสุสานของผู้ที่เข้าไปขอพึ่งพา บ้างจมน้ำตายหรืออาคารถล่ม

               เช่นเดียวกับทุกครั้งหลังเกิดภัยธรรมชาติรุนแรงตลอดสองสามปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเฮอริเคนแซนดี้ในสหรัฐ น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกหลอมละลายทุบสถิติ คลื่นความร้อนในสหรัฐ รัสเซียและออสเตรเลีย ว่าใช่ผลงานมนุษย์ที่ทำให้สภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง (climate change) หรือไม่เป็นสาเหตุ 

                โดยหากสามารถโยงได้ว่าใช่ การถกเถียงในประเด็นนี้ก็จะเดินหน้าและความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาจะเป็นเรื่องที่ไม่อาจถอยหลังได้ แต่หากไม่สามารถโยงได้อย่างชัดเจนแล้ว ก็จะเป็นโอกาสให้แก่ประเทศต่างๆ เตะถ่วงดำเนินมาตรการเยียวยา หรือลดการปฏิบัติตามพันธกรณีต่อไป

                ให้บังเอิญว่า ไห่เยี่ยนถล่มฟิลิปปินส์ สองวันก่อนหน้าที่จะมีประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ นายนาเดเรฟ ซาโนะ หัวหน้าคณะผู้แทนฟิลิปปินส์ ซึ่งออกเดินทางไปร่วมประชุมไม่กี่ชั่วโมงก่อนพายุเข้า ได้กล่าวทั้งน้ำตาต่อหน้าผู้ร่วมประชุมจาก 190 ประเทศ ว่า ภัยพิบัติหลายครั้งไม่ใช่ธรรมชาติ มันคือรอยต่อของหลายปัจจัยนอกเหนือจากกายภาพ คือการสั่งสมของการรุกล้ำเส้นแบ่งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน ภัยพิบัติส่วนใหญ่คือผลพวงจากความเหลื่อมล้ำ คนยากจนที่สุดในโลกคือกลุ่มเสี่ยงที่สุด เนื่องจากความอ่อนแอและการพัฒนาอย่างผิดปกติมานานหลายทศวรรษ ซึ่งผมขอยืนยันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวโยงกับการแสวงหาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบงำโลก และการเติบโตทางเศรษฐกิจและการบริโภคอย่างไม่ยั่งยืนนี้เองที่ทำให้ระบบสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนไป"

               สารของผู้แทนฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วย คือการฟันธงว่า นี่คือภัยจากน้ำมือมนุษย์ที่ทำให้สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง และย้ำว่า ประเทศร่ำรวยควรรับผิดชอบต่อภาวะโลกร้อนที่พวกเขาก่อขึ้นเป็นส่วนใหญ่ผ่านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

               แต่ ณ เวลานี้ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่า โลกร้อนขึ้นแค่ไหนถึงมีอิทธิพลต่อการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อนในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และอ้างว่าสถิติของพายุหมุนเขตร้อนทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคนอกแอตแลนติกเหนือ ยังไม่ดีพอที่จะเอื้อต่อการย้อนศึกษาแนวโน้มและเผยให้เห็นถึงพิมพ์เขียวภาวะโลกร้อนต่อจำนวนพายุและความรุนแรงได้

                รายงานพิเศษของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ออกมาเมื่อกันยายน ซึ่งเป็นการประเมินครั้งที่ 5 นักวิทยาศาสตร์มีความเห็นตรงกันมากขึ้นว่า ความเร็วสูงสุดของพายุหมุนเขตร้อนจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ความถี่ของการเกิดพายุจะลดลงหรือไม่เปลี่ยนแปลง แต่ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะจำแนกสภาพอากาศอย่างหนึ่งอย่างใดว่า เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโดยตรง

                ในปีนี้นักวิทยาศาสตร์สำนักงานบรรยากาศและมหาสมุทรแห่งชาติสหรัฐ (โนอา) สำนักงานอุตุนิยมวิทยาอังกฤษ และทีมวิจัยจากสถาบันต่างๆ 16 แห่งทั่วโลก พยายามคำนวณว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมีอิทธิพลมากน้อยแค่ไหนต่อสภาพอากาศแปรปรวน 12 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2555 ผลสรุปคือ ไม่อาจเชื่อมโยงได้ทั้งหมด แต่เห็นพ้องกันว่า สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นแตะ 100 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 37.7 องศาเซลเซียส ในช่วงที่สหรัฐเผชิญคลื่นร้อนเมื่อปีที่แล้ว และเป็นสาเหตุการหลอมละลายของน้ำแข็งในอาร์กติก กับสตอร์มเซิร์จจากพายุเฮอริเคนแซนดี้ และสภาพอากาศแปรปรวนอื่นๆ แต่พวกเขาไม่ฟันธงว่า ฤดูร้อนในอังกฤษที่ฝนตกหนัก และภัยแล้งในสเปนเกี่ยวหรือไม่

               แต่ถึงอย่างนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีความเกี่ยวโยงและหลักฐานทางกายภาพชัดเจนระหว่างไห่เยี่ยนกับโลกที่อุ่นขึ้น นักวิชาการด้านสภาพอากาศกล่าวว่า พายุไต้ฝุ่น เฮอริเคน และพายุเขตร้อนทั้งหมด ได้พลังงานจากความร้อนที่ปลดปล่อยจากมหาสมุทร แล้วเราก็ทราบกันดีว่า อุณหภูมิผิวน้ำทะเลอุ่นขึ้นทั่วโลก จึงเป็นปัจจัยให้พายุมีแนวโน้มทวีกำลังแรงอย่างเลี่ยงไม่ได้

                ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีฉันทามติในเรื่องนี้ แต่สำหรับชาวนาชาวไร่ในฟิลิปปินส์ ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนปาล ละตินอเมริกา และแอฟริกา พวกเขาบอกได้แบบไม่ลังเลว่า สิ่งที่พวกเขาเห็นคือพายุที่รุนแรงขึ้น ฝนไม่ตกตามฤดู ภัยแล้งและคลื่นร้อนสาหัสกว่าเดิม

                สำหรับฟิลิปปินส์ ประเทศที่ถูกจัดอันดับเสี่ยงภัยพิบัติอันดับสองรองจากไฮติ เผชิญสภาพอากาศแปรปรวนอย่างผิดสังเกตเช่นกัน ไห่เยี่ยนเป็นมหาพายุลูกที่สาม ที่กระหน่ำในรอบหนึ่งปี โดยก่อนหน้านั้นในสิงหาคม พายุจ่ามีพัดถล่มเกาะลูซอน เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ และพายุโบพา คร่าชีวิตประชาชน 2,000 คน เมื่อธันวาคมปีที่แล้ว           

                ขณะนี้ นายซาโน หัวหน้าคณะผู้แทนของฟิลิปปินส์ในที่ประชุมสหประชาชาติ กำลังอดอาหารตลอดการประชุมสองสัปดาห์จนกว่าจะได้ผลประชุมที่มีความหมายต่อการแก้ปัญหาอากาศเปลี่ยนแปลง พร้อมกันนี้เขาได้เรียกร้องให้นิยามคำว่า ภัยพิบัติ เสียใหม่ ต้องหยุดเรียกว่า ภัยพิบัติธรรมชาติเสียที เพราะนี่ไม่ใช่ วิทยาศาสตร์ได้บอกเราแล้วว่า โลกที่กำลังร้อนขึ้นจะก่อพายุที่รุนแรงกว่าเดิม เมื่อมนุษยชาติได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสภาพอากาศอย่างลึกซึ้งแล้ว มันไม่ใช่ธรรมชาติ พร้อมท้าให้คนที่ยังปฏิเสธเรื่องอากาศโลกเปลี่ยนแปลงให้ไปฟิลิปปินส์ ไปดูให้เห็นกับตาตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่น

 

.........................

 

(โศกนาฏกรรมไห่เยี่ยน เพราะอากาศโลกเปลี่ยนแปลง? : คอลัมน์เปิดโลกวันอาทิตย์ )

                

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ