ข่าว

10สุดยอดชาติลูกหนังที่เคยวืดบอลโลก

10สุดยอดชาติลูกหนังที่เคยวืดบอลโลก

16 พ.ย. 2556

สปอร์ต คม วีกเอนด์ : 10 สุดยอดชาติลูกหนังที่เคยวืดบอลโลก

 

                          ในเมื่อศึกฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้าย สามารถรองรับชาติลูกหนังจากทั่วทุกมุมโลกได้เพียงแค่ 32 ชาติเท่านั้น จึงต้องมี "ผู้สมหวัง" กับ "ผู้ผิดหวัง" เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว สำหรับ "ผู้ผิดหวัง" ก็คงไม่ต้องเสียใจอะไรกันมากนัก เพราะอย่างน้อยก็เคยมี 10 สุดยอดชาติลูกหนังจากยุคต่างๆ ที่ต้องจอดป้ายเพียงแค่รอบคัดเลือกเหมือนกันไม่มีผิด

 

อิตาลี (1958)

                          ในช่วงยุคทศวรรษ 50 ถือเป็นช่วงตกต่ำของวงการลูกหนังมะกะโรนี เพราะต้องพบกับความสูญเสียจากเหตุการณ์เครื่องบินตกในปี 1949 และทำให้บรรดานักเตะแข้งหลักที่มาจากทีม "กระทิงหิน" โตริโน เสียชีวิตเกือบทั้งหมด แม้จะเคยตั้งเป้าหวังตบเท้าไปโชว์ฝีเท้าในศึกฟุตบอลโลก 1958 รอบ 16 ทีมสุดท้ายที่สวีเดน แต่กลับต้องจอดป้ายเพียงแค่รอบคัดเลือก

 

อังกฤษ (1974)

                          สำหรับช่วงทศวรรษ 70 ถือเป็นยุคมืดของทัพลูกหนังจากเมืองผู้ดีอย่างแท้จริง เพราะประสบความล้มเหลวในเกมรอบคัดเลือกอยู่เป็นประจำ แถมยังไม่ได้สิทธิ์ผ่านเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายในศึกฟุตบอลรายการใหญ่ได้เลยนับตั้งแต่ปี 1970-80 แม้จะมีโอกาสผ่านเข้าไปโชว์ฝีเท้าในศึกฟุตบอลโลก 1974 รอบ 16 ทีมสุดท้าย ที่เยอรมันตะวันตก หากสามารถเปิดบ้านชนะโปแลนด์ ในเกมรอบคัดเลือก นัดสุดท้าย ได้สำเร็จ ทว่า "สิงโตคำราม" กลับทำได้เพียงแค่ไล่ตามตีเสมอ 1-1  

 

สกอตแลนด์ (1970)

                          ย้อนหลังกลับไปในช่วงทศวรรษ 60-70 ทัพลูกหนังจากดินแดน "วิสกี้" เคยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งทีมแกร่งที่สุดในยุคนั้น เพราะได้รับอานิสงส์จาก 2 ยักษ์ใหญ่อย่าง กลาสโกว์ เรนเจอร์ส และกลาสโกว์ เซลติก ที่ทำผลงานในเกมระดับสโมสรยุโรปได้อย่างยอดเยี่ยมมาก ทว่า สกอตแลนด์ กลับชวดคว้าสิทธิ์ไปโชว์ฝีเท้าในศึกฟุตบอลโลก 1970 รอบ 16 ทีมสุดท้ายที่เม็กซิโกแบบน่าเสียดาย หลังจอดป้ายเพียงแค่รอบคัดเลือกเท่านั้น

 

สหภาพโซเวียต (1978)

                          อาจถือได้ว่าในช่วงทศวรรษ 70 คือยุคเกรียงไกรที่สุดของทัพลูกหนังจากดินแดนหลังม่านเหล็ก หลังจากที่ดินาโม เคียฟ ผงาดคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพ ในปี 1975 ได้สำเร็จ แถมยังมีเจ้าของรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของยุโรปในปี 1975 ที่มีนามว่า โอเล็ก บลอกกิน เป็นตัวชูโรงอีกด้วย แต่สหภาพโซเวียต กลับชวดคว้าสิทธิ์ไปโชว์ฝีเท้าในศึกฟุตบอลโลก 1978 รอบ 16 ทีมสุดท้าย ที่อาร์เจนตินาไปแบบน่าเสียดาย เพราะจอดป้ายเพียงแค่รอบคัดเลือกไปแบบผิดคาด

 

ฮอลแลนด์ (1986)

                          หลังอกหักจากการที่ทำได้เพียงตำแหน่งรองแชมป์ฟุตบอลโลก 1978 ที่อาร์เจนตินา จึงทำให้ "กังหันสีส้ม" ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้เล่นครั้งใหญ่ แถมยังเริ่มลงมือปั้นนักเตะหน้าใหม่ขึ้นมาประดับวงการลูกหนังในยุคนั้นมากมายหลายคน โดยเฉพาะ 3 ทหารเสืออย่าง แฟรงค์ ไรจ์การ์ด, รุด กุลลิท และมาร์โก แวน บาสเทน แต่ก็ไม่สามารถคว้าตั๋วไปเล่นในศึกฟุตบอลโลก 1986 รอบ 16 ทีมสุดท้ายที่เม็กซิโก ได้สำเร็จ เพราะจอดป้ายเพียงแค่รอบคัดเลือกจากการแพ้ เบลเยียม ในเกมรอบเพลย์ออฟ

 

อังกฤษ (1994)

                          ผลพวงจากการตกรอบแรกในศึกยูโร 1992 ที่ประเทศสวีเดน แม้จะมีดาวเด่นประจำทีมอย่าง "มิสเตอร์ไนซ์กาย" แกรี ลินิเกอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในยอดดาวยิงระดับโลกของยุคนั้น ทว่า "สิงโตคำราม" ในยุคของกุนซือ "หัวผักกาด" เกรแฮม เทย์เลอร์ กลับโชว์ฟอร์มในศึกฟุตบอลโลก 1994 รอบคัดเลือกได้ไม่ดีนัก จึงทำให้ทัพลูกหนังเมืองผู้ดีต้องชวดคว้าสิทธิ์ไปโชว์ฝีเท้าในเกมรอบ 24 ทีมสุดท้ายที่สหรัฐอเมริกา แบบน่าเสียดาย 

 

ยูโกสลาเวีย (1994)

                          เคยขึ้นชื่อว่าเป็นชาติลูกหนังระดับยักษ์ใหญ่ของโลก แถมยังอุดมไปด้วยนักเตะฝีเท้าดีในช่วงยุคนั้นเต็มไปหมดเลย ไม่ว่าจะเป็น ซินิซา มิไฮโลวิช, ซโวนิเมียร์ โบบัน, เดยัน ซาวิเซวิช และดราแกน สตอยโกวิช ทว่ายูโกสลาเวีย กลับไม่มีโอกาสไปโชว์ฝีเท้าในศึกฟุตบอลโลก 1994 รอบ 24 ทีมสุดท้ายที่สหรัฐอเมริกา หลังถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้ลงเล่นในรอบคัดเลือก เพราะมีปัญหาการเมืองภายในประเทศ ก่อนที่ยูโกสลาเวีย จะล่มสลายไปในที่สุด

 

ฝรั่งเศส (1994)

                          ทัพลูกหนัง "ตราไก่" ในยุคของกุนซือเชราร์ อุลลิเยร์ ต้องการเพียงแค่แต้มเดียวจากการลงเล่น 2 นัดสุดท้ายในเกมรอบคัดเลือก กลุ่ม 6 เพื่อที่จะได้คว้าสิทธิ์ไปโชว์ฝีเท้าในศึกฟุตบอลโลก 1994 รอบ 24 ทีมสุดท้ายที่สหรัฐอเมริกา แม้จะอุดมไปด้วยดาวดังในยุคนั้นอย่าง ดาวิด ชิโนลา, เอริก คันโตนา และฌอง ปิแอร์ ปาแปง แต่สุดท้ายกลับต้องจอดป้ายเพียงแค่รอบคัดเลือก เพราะเก็บไม่ได้แม้แต่คะแนนเดียวจากการแพ้รวดทั้ง 2 เกม

 

โปรตุเกส (1998)

                          กลายเป็นชาติลูกหนังที่ได้รับการจับตามองในช่วงตลอดทศวรรษที่ 90 เพราะเต็มไปด้วยนักเตะฝีเท้าดีอย่าง เจา ปินโต, รุย คอสตา และ หลุยส์ ฟิโก ซึ่งเป็นขุมกำลังสำคัญจากทีมชุดแชมป์เยาวชนโลกเมื่อปี 1991 แต่โปรตุเกส กลับไม่เคยมีโอกาสได้ไปลุยรอบสุดท้ายในช่วงยุคนั้นแม้แต่ครั้งเดียว แม้จะเคยมีโอกาสลุ้นผ่านเข้าไปเล่นในศึกฟุตบอลโลก 1998 รอบ 32 ทีมสุดท้ายที่ฝรั่งเศส ได้มากที่สุด แต่สุดท้ายกลับต้องจอดป้ายเพียงแค่รอบคัดเลือกเหมือนอย่าง 2 ครั้งก่อนหน้านี้

 

ฮอลแลนด์ (2002)

                          แม้จะได้ขึ้นชื่อเป็นทีมฟุตบอลระดับชั้นนำของโลกในช่วงยุคนั้น เพราะอุดมไปด้วยนักเตะดาวดังอย่าง ยาป สตัม, มาร์ค โอเวอร์มาร์ส, เอ็ดการ์ ดาวิดส์ รวมถึง รุด ฟาน นิสเตลรอย แต่ทัพลูกหนัง "กังหันสีส้ม" กลับหมดสิทธิ์ไปโชว์ฝีเท้าในศึกฟุตบอลโลก 2002 รอบ 32 ทีมสุดท้ายที่ญี่ปุ่น กับ เกาหลีใต้ เป็นเจ้าภาพร่วมกัน เพราะจอดป้ายเพียงแค่รอบคัดเลือกไปแบบพลิกความคาดหมาย