ข่าว

โลกอีกใบของ 'จินนี่-จินดาภา'

โลกอีกใบของ 'จินนี่-จินดาภา'

16 พ.ย. 2556

ขอเวลานอก : หนีเมืองใหญ่มาทำสวนกล้วย โลกอีกใบของ 'จินนี่-จินดาภา' : เรื่อง ณุวภา ฉัตรวรฤทธิ์/ ภาพ ธนาชัย ประมาณพาณิชย์

 

                     "จินนี่เดินเข้าไปสวนอื่นๆ ยกมือสวัสดีค่ะคุณน้า คุณอา หนูอยากปลูกกล้วย หนูอยากเป็นเกษตรกรค่ะ ต้องทำอย่างไรบ้างคะ"

 

                     ชีวิตหลังจบปริญญา หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่มุ่งฝันจะปั้นอนาคตสดใสด้วยการงาน หรือบางคนก็ขอพักผ่อนไปกับชีวิตอิสระเที่ยวเล่นให้เต็มที่ก่อนเริ่มก้าวสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัว แต่สำหรับสาวห้าว "จินนี่" จินดาภา เทวกุล ณ อยุธยา เป็นอีกหนึ่งคนที่รีบก้าวเข้าโลกของการงานโดยไม่รีรอ และไม่ขอใช้เวลาว่างเที่ยวสนุกอีกต่อไป โดยเริ่มลงทุนแรงกายแรงใจทำงานอดิเรกที่วัยรุ่นน้อยคนในเมืองใหญ่จะหันมาสนใจ นั่นคือ "การทำสวนกล้วย" บนผืนใหญ่กว่า 10 ไร่ ด้วยสองมือของตัวเองอย่างเต็มที่

                     เล่าให้ฟังปากเปล่าคงไม่เห็นภาพ เจ้าตัวเลยนัดเรามาที่สวนอุไทยธรรม รังสิต จ.ปทุมธานี (คลอง 1) ในช่วงบ่าย ให้เห็นทิวแถวของต้นกล้วยนับพันกำลังพร้อมออกปลีรอผลผลิตสวยๆ ทั้งหมดนี้เป็นการริเริ่มของเจ้าของสวนตัวเล็ก ที่เดินทางมาทักทายในชุดกางเกงขายาวรองเท้าบู๊ทพร้อมลุย จินนี่บอกกับเราว่าบางทีคนรอบข้างแอบสงสัยว่าทำไมใส่รองเท้าบู๊ทมาเดินห้าง หรือมากินข้าวซึ่งเจ้าตัวก็ตอบทุกคนว่า "จะไปทำสวน" ฟังเผินๆ เหมือนเป็นมุกตลก แต่กลับเป็นคำตอบจริงจังเสมอสำหรับยังเจนวัย 23 ปี คนนี้

                     "พื้นที่ตรงนี้คุณตา (แก้วขวัญ วัชโรทัย) เคยปลูกต้นมะกอกกับมะม่วงไว้ก่อน จินนี่ก็จะมาดูมาช่วยท่านอยู่เรื่อยๆ  จนปี 2554 น้ำก็ท่วมมาเมตรครึ่ง ทุกต้นล้มตายหมดเลย จนเมื่อเกือบหนึ่งปีที่แล้วจินนี่เรียนจบ เริ่มมาทำงานเกี่ยวกับการขนส่งทางเรือ ในบริษัทของประเทศสิงคโปร์ หน้าที่เราคือคอยประสานงาน ดูแลความต้องการของเรือสินค้าต่างๆ ที่เข้ามาในประเทศไทย ตอนนั้นเริ่มรู้สึกว่างานเราไม่มีเวลางานที่แน่นอน วิธีทำงานส่วนใหญ่ก็จะใช้โทรศัพท์ประสานงาน จินนี่อาจเริ่มงานเวลา 2-5 ทุ่ม หรือหายไปดูงานเลย 2-3 วัน เวลาว่างเราไม่อยากอยู่บ้านพักผ่อนเฉยๆ หลายอย่างที่วัยรุ่นทำ ก็ทำมาจะหมดแล้วกินเที่ยวเล่นจนเบื่อแล้วค่ะ พอมานึกถึงที่ตรงนี่เราเคยมาปลูกต้นไม้กับคุณตา นึกได้ว่าตอนที่อยู่โรงเรียนจิตรลดา จินนี่ก็ชอบต้นไม้ได้มีโอกาสเป็นประธานชมรมพฤกษศาสตร์ด้วย น่าจะเป็นอีกเรื่องที่เราทำได้นะ ก็เอารถแบ็กโฮมาขุดเคลียร์พื้นที่ ขุดท้องร่องใหม่ คิดหาอะไรปลูกให้ได้ผลเร็วๆ เอาดินไปตรวจ ศึกษาตลาดสุดท้ายจินนี่เลือกที่จะปลูกกล้วยน้ำว้าเพราะมีความทนทาน และปลูกได้ง่าย"  เจ้าตัวเล่าถึงที่มาในการทำสวน

                     เมื่อคิดจะทำโปรเจกท์ใหญ่ จึงต้องศึกษาให้รอบคอบ บัณฑิตหมาดๆ จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงใช้หลักการพูดคุย ลงพื้นที่ศึกษางานเกษตรจากชาวสวน เริ่มจากคุณน้าของตัวเอง ที่มีสวนกล้วยอยู่แล้วที่ จ.สระบุรี จากนั้นกลับมาทำแผนผัง วัด ตีตารางในกระดาษ ว่าสามารถลงต้นไม้ได้จำนวนทั้งหมดกี่ต้น

                     "พอได้แพลนคร่าวๆ เราจะเริ่มปลูกแล้ว จินนี่เดินเข้าไปสวนอื่นๆ ยกมือสวัสดีค่ะคุณน้า คุณอา  บอกว่า หนูอยากปลูกกล้วย อยากเป็นเกษตรกรค่ะ ต้องทำอย่างไรบ้างคะ ?  ชาวสวนก็น่ารักมาก จริงใจ ถ้าอยู่ดีๆ มีคนแปลกหน้ามาเข้าบ้านเรา เราก็คงตกใจใช่ไหมค่ะ แต่พวกเขาใจดีมากพาเรามากินน้ำก่อน ตัดกล้วยให้กินด้วย แล้วพาไปดูการปลูกกล้วยทีละขั้นตอน เป็นอาจารย์เราไปเลยเขาจะให้ข้อมูลเรามาเต็มที่มาก แต่ละที่ก็ไม่เหมือนกันสอนเทคนิคแบบไม่หวง ให้เบอร์ติดต่อเราโทรไปปรึกษาได้ตลอดเวลาอีก" วิธีการศึกษาชวนซึ้งน้ำใจของคนสวนมือใหม่

                     เกษตรกรคนรุ่นใหม่ชี้ชวนให้ดูว่าแรกเริ่มเมื่อขุดเสร็จ 1 หลุม ต้องเอาไม้บรรทัดวัดระยะห่างของแต่ละต้น ก่อนที่จะขุดอีกหลุม ทั้งที่ชาวสวนจริงๆ ใช้สายตากะเอาได้ตรงเป๊ะ เล่นเอาเจ้าตัวต้องก้มเงยจนปวดหลังไปหมด พร้อมพาเราเข้าไปดูหลุมลึก 1 ศอก นับสิบหลุมที่เพิ่งเตรียมไว้เพื่อปลูกต้นมะนาวแทรกเข้าไปในสวน ขณะที่ใกล้ๆ กันก็เป็นต้นมะม่วงที่เพิ่งปลูกเพิ่มเช่นกัน แล้วก็พาเราขึ้นเรือรดน้ำลำเล็กข้ามคูน้ำไปที่กลางสวน ภูมิใจนำเสนอดูหัวปลีและหน่อกล้วยที่กำลังแตกตัวสวยพร้อมให้เก็บขายได้เร็วๆ นี้

                     "กล้วยที่ลงไปก็เป็นกล้วยน้ำว้า 1,100 ต้น ส่วนตอนนี้น่าจะมีประมาณ 2,000-3,000 ต้นแล้ว เพราะมันแตกหน่อออกไปแต่ละต้น ต้นละ 3 หน่อได้ ไม่ต้องซื้อมาลงใหม่แล้วเบาใจเรื่องต้นทุนไปได้อีกเยอะ จินนี่กำลังปลูกมะนาว มะม่วงเพิ่มไปอีก กว่าจะปลูกได้เต็มพื้นที่อย่างที่เห็นยากมากค่ะเพราะทั้งสวนมีคนงานอยู่ 2 คน มีจินนี่ กับคุณลุงคนสวนที่ขยันมากๆ บางวันก็ได้แรงจากคนที่บ้าน ออกอุบายหลอกล่อเพื่อนๆ ว่าวันนี้เรามีกิจกรรมดีนะ มาทำแล้วอัพลงอินสตาแกรมได้เลย ไม่เหมือนใครแน่ๆ (หัวเราะ) ตอนนี้คิดไว้ว่าผลผลิตเราอยากเอาส่วนหนึ่งมาแปรรูปขายส่งออก เคยเห็นเขาเอาไปอบแล้วเคลือบช็อกโกแลตขายดีมาก แค่กล้วยสุกบ้านเราเอาไปขายต่างประเทศก็ได้ราคาลูกละหลายสิบบาทแล้ว แต่สำหรับสวนของจินนี่อยู่ในช่วงศึกษาว่าจะให้เป็นอะไร ไว้ลุ้นกันต่อไปค่ะ" สาวห้าวแพลนการจัดการในอนาคต

                     เมื่อความฝันเป็นรูปเป็นร่างใช้ว่าทุกอย่างจะราบรื่น ตามที่จินนี่บอกว่าการทำสวนมีเรื่องท้าทายตลอดเวลามีเหตุการณ์ในช่วงหน้าแล้ง ไม่มีจะให้รดน้ำ ถึงขั้นต้องนั่งยกมือไหว้ขอให้ฝนตก พร้อมติดต่อกรมชลประทานขอน้ำจากคลองข้างหน้าสวนมาช่วย ปรากฏว่าไม่กี่วันฝนตกให้เจ้าตัวดีใจไม่ทันไร ก็ต้องเผชิญข่าวร้ายเพราะฝนตกไม่หยุด น้ำกลับขึ้นมาท่วม ต้องเร่งสูบน้ำออกด่วน

                     "ตอนนั้นต้องหาคนมาสูบน้ำออกไปลงคลองเดิม บางส่วนก็ไม่ทันต้องปล่อยหน่อเขาให้จมน้ำไป รู้สึกท้อเลยนะ กลายเป็นคนคิดมากกับฟ้าฝนด้วย คือ จินนี่บ้านอยู่ในกรุงเทพเวลาฝนตกหนักติดๆ กันหลายวัน ใจเรามาที่นี้แล้ว ห่วงมาก ใครจะมาดูใครจะมารักเหมือนเรา แต่จินนี่พูดได้เลยว่าตัวเองยังโชคดี เจ้าของบางสวนบอกว่าเขาเช่าพื้นที่มาทำ พอน้ำท่วมผลผลิตดันตายหมดไม่มีเงินไปจ่ายค่าที่แต่ก็ต้องสู้มาปลูกใหม่ จินนี่ฟังแล้วคิดได้ว่าเวลาคนอื่นล้มเขาแย่กว่าเรา เขายังลุกมาสู้เลย คิดได้แบบนี้ก็มีกำลงัใจทำต่อได้เยอะ" เจ้าของสวนกล้วยเล่าถึงอุปสรรค

                     ถามถึงสิ่งดีๆ ที่ได้รับเจ้าตัวยอมรับว่าเราเป็นคนใจร้อนมากๆ แต่มาอยู่ในสวนนี้ทุกครั้งไม่มีเรื่องให้ต้องใช้อารมณ์ ทำให้จิตใจสงบชวนให้ดูบรรยากาศรอบๆ ว่าเป็นโลกอีกใบหนึ่ง ที่ตัดขาดจากความวุ่นวายโดยสิ้นเชิง เมื่อการงานมีปัญหาถ้าได้มาหยิบจอบมาขุดดิน หรือผสมปุ๋ยเอามาโรยทั่วๆ ก็เหมือนได้ทำสมาธิไปในตัว พอใจนิ่งแล้วก็คิดแก้ปัญหาได้ตรงจุดเสมอ

                     "จินนี่ก็ทำมาแบบไม่คิดว่าจะทำได้ขนาดนี้ หลายคนคิดว่าจินนี่เห่อการทำสวนเดี๋ยวเหนื่อยก็เลิก แต่พอคุณตามาดูท่านก็ดีใจมาก เห็นที่พังๆ เมื่อปีก่อนมีกล้วยเต็มไปหมด วันแรกคุณพ่อคุณแม่ (พล.อ.ม.ล.ทศนวอมร เทวกุล-รัตนาภา เทวกุล ณ อยุธยา) ท่านมาดูเห็นไม่มีอะไรเลย ตอนนี้กล้วยสูงกว่าจินนี่แล้วคุณแม่มาเห็นก็ร้องโห้...ลูกทำได้ขนาดนี้เลย ท่านถ่ายรูปไปอวดคุณพ่อ อวดเพื่อนๆ ท่านใหญ่เลยว่าจินนี่ทำได้แล้วนะ แค่จินนี่เห็นคุณพ่อคุณแม่ดีใจและภูมิใจในตัวเรา จินนี่ก็มีความสุขที่สุดแล้วค่ะ" ชาวสวนคนขยันยิ้มดีใจกับผลงาน