ข่าว

ศาลรธน.!ด่านสุดท้ายนิรโทษ'สุดซอย'?

ศาลรธน.!ด่านสุดท้ายนิรโทษ'สุดซอย'?

02 พ.ย. 2556

ศาลรัฐธรรมนูญ : ด่านสุดท้ายนิรโทษกรรม'สุดซอย'? : สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ สำนักข่าวเนชั่นรายงาน

              "ฝ่ายรัฐบาล" ทำเกินความคาดหมายอีกครั้ง หลังจากให้สภาผู้แทนฯ "รวบรัด" ผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม "ฉบับสุดซอย" ในวาระ 2 และ 3 ไปเรียบร้อยช่วงเช้ามืดวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

              ในช่วงต้นของการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ ที่เริ่มตั้งแต่เช้าวันพฤหัสบดี บรรยากาศเหมือนจะไม่มีอะไรรุนแรง ฝ่ายรัฐบาลยอมให้ฝ่ายค้านได้อภิปรายบ้าง แม้จะไม่เต็มที่อย่างที่ฝ่ายค้านต้องการ สภาใช้เวลาอภิปรายตั้งแต่เกริ่นก่อนเข้าเนื้อหา มาถึงชื่อร่าง คำปรารภ มาตรา 1 และมาตรา 2 ไปเกือบ 18 ชั่วโมง แสดงให้เห็นว่าไม่มีการหักดิบรุนแรง

              ตอนที่สภาพิจารณาเสร็จในมาตรา 2 ยังมีการคาดว่า สภาจะหยุดพักประชุม แล้วมาประชุมต่อในวันศุกร์ (1 พ.ย.) เพราะเวลาตอนนั้นเกือบตีสามแล้ว แต่ปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลกลับดันให้พิจารณามาตรา 3 ซึ่งเป็น "หัวใจ" ของร่างกฎหมายนี้ต่อ ฝ่ายค้านประท้วงหนัก จนกระทั่ง เจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภา ที่ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมขณะนั้น "เอาไม่อยู่" จึงต้องสั่งพักประชุม แล้วเปลี่ยนให้ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภา ที่เคยได้ฉายาว่า "ค้อนปลอมตราดูไบ" ขึ้นมาทำหน้าที่เอง ซึ่งแน่นอน สมศักดิ์มีความเด็ดขาดกว่า และสามารถดันจนกระทั่งร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผ่านวาระ 3 ของสภาผู้แทนฯ ไปได้เมื่อเวลา 04.25 น. (ตีสี่ยี่สิบห้านาที)

              5 มาตรา และโหวตผ่านวาระที่ 3 ที่ประชุมใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น!!!

              ช่วงพิจารณามาตรา 3 ซึ่งเป็นหัวใจของร่างกฎหมายนี้ ที่บอกว่าจะนิรโทษให้ใครบ้าง ที่คณะกรรมาธิการแก้ไขจากเวอร์ชั่นของ วรชัย เหมะ ที่ถูกมองว่าเป็นเพียง "ฉบับปากซอย" ไปเป็นเวอร์ชั่นของ "ประยุทธ์ ศิริพานิชย์" ที่เป็น "ฉบับสุดซอย" ปรากฏว่าประธานสมศักดิ์อนุญาตให้เพียง จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.เพื่อไทย และชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา ที่สงวนคำแปรญัตติไว้ได้อภิปราย เช่นเดียวกับอีก 4 มาตราหลัง ที่ประธานสมศักดิ์ก็อนุญาตให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเพียง 1-2 คน ได้อภิปราย โดยตัวหลักที่อภิปรายคือ จิรายุ

              สิ่งที่ผ่านมา ตอกย้ำให้เห็นชัดเจนขึ้นไปอีกว่า "ฝ่ายทักษิณ" สามารถทำทุกอย่างที่เหนือความคาดหมายได้ทั้งนั้น อะไรที่ไม่คิดว่า "ฝ่ายทักษิณ" จะกล้าทำ เขาทำหมดแล้ว

              ตั้งแต่ขั้นตอนแรก ที่ "หลอก" ด้วยการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม "ฉบับปากซอย" ของ วรชัย เข้าไป แล้วไปหักดิบแก้ไขเป็นเนื้อหาในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการให้กลายเป็น "ฉบับสุดซอย" และ "รีบ" นำร่าง พ.ร.บ.ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วเข้าสภาเป็นเรื่องด่วน โดยการนัดประชุมพิเศษเพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ และล่าสุด คือ การ "รวบรัด" พิจารณาร่างกฎหมายในวาระ 2 และ 3 ให้เสร็จภายในวันเดียว (19 ชั่วโมง)

              คำถามคือ ขั้นตอนจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร จะมีกระบวนการตรงไหนที่จะทำให้ร่างกฎหมายนี้ไม่สามารถผ่านออกมาได้หรือไม่?

              พิจารณาจากการกระทำของฝ่ายรัฐบาล แสดงให้เห็นว่า น่าจะต้องการให้ร่างกฎหมายนี้ผ่าน "รัฐสภา" ให้ได้ภายในการประชุมสภาสมัยนี้ ซึ่งจะปิดสมัยประชุมในช่วงปลายเดือนนี้ แต่จะได้ตามนั้นหรือไม่ ยังต้องรอดู ซึ่งตอนการพิจารณาของวุฒิสภาจะต้องพิจารณา 3 วาระ เหมือนสภาผู้แทนฯ จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาเหมือนกัน หากวุฒิสภาไปแก้ไขเนื้อหาแล้วสภาไม่เห็นด้วย จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภาขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง

              มีเสียงเรียกร้องให้วุฒิสภาคว่ำร่างกฎหมายนี้ ต้องบอกว่า เป็นไปได้ยากเต็มที

              หากพิจารณาการลงมติในเรื่องสำคัญๆ ที่ผ่านมา เช่น เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่า ส.ว.ส่วนใหญ่จะมีความเห็นไปในทางสนับสนุนรัฐบาลมากกว่า และมีความเป็นไปได้ว่า ฝ่ายรัฐบาลอาจจะเข้าไปจัดการกระบวนการพิจารณาของวุฒิสภาเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการ ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกคนมาเป็นคณะกรรมาธิการด้วยซ้ำ เพื่อให้การพิจารณาไม่ออกนอกแนว จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปตั้งคณะกรรมาธิการร่วม

              วุฒิสภา จึงไม่น่าจะเป็นด่านที่สกัดร่าง พ.ร.บ.นี้ได้ แต่น่าจับตาที่ศาลรัฐธรรมนูญมากกว่า

              หลังผ่านรัฐสภา ฝ่ายค้านเตรียมยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งตอนนี้เตรียมยกร่างคำร้องไว้แล้ว 7 ประเด็น เช่น ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 3 เรื่องหลักนิติรัฐ นิติธรรม ฝ่ายค้านมองว่า ร่างกฎหมายนี้ ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติไปก้าวก่ายฝ่ายตุลาการ เพราะบางคดีที่นิรโทษกรรม ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว, ขัดมาตรา 30 เรื่องหลักความเสมอภาค, ขัดมาตรา 122 เรื่องผลประโยชน์ขัดกัน และขัดมาตรา 309 เรื่องไปยกเลิกการกระทำของคณะปฏิวัติที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ไปจนถึงประเด็นที่ว่าร่างกฎหมายนี้เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินหรือไม่

              ศาลรัฐธรรมนูญนี่เอง ที่กลุ่มนิติราษฎร์ รวมทั้งกลุ่มคนเสื้อแดงส่วนหนึ่ง กังวลว่าจะทำให้ร่างกฎหมาย "ฉบับเหมาเข่ง" นี้ ตกไปทั้งฉบับ และจะพลอยทำให้คนเสื้อแดงที่อยู่ในคุกไม่ได้รับการนิรโทษไปด้วย กลุ่มนิติราษฎร์มองว่า ร่างกฎหมายนี้ แก้ไขเกินหลักการ และเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่ช่วยคนที่ทำผิดในคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

              ส่วนเสียงค้าน "นอกสภา" ฝ่ายรัฐบาล "ประเมินต่ำ" มาตลอด โดยเชื่อว่า จะไม่สามารถ "ล้มรัฐบาล" ได้ เพราะค้านไม่จริง เพราะร่างกฎหมายนิรโทษให้ทุกฝ่าย ทั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สุเทพ เทือกสุบรรณ และอดีตแกนนำเสื้อเหลือง รวมทั้งยังมีการประกาศพื้นที่ พ.ร.บ.มั่นคงคุมไว้ และสามารถประกาศเพิ่มเติมได้ หากมีความจำเป็น ที่สำคัญในภาวะที่ไม่มี "ตำรวจแตงโม" เหมือนยุคอภิสิทธิ์ และมั่นใจว่าจะไม่มี "โรคแทรกซ้อน" จาก "ฝ่ายทหาร" ทำให้ฝ่ายรัฐบาลกล้าลุยเต็มที่

              ฝ่ายรัฐบาลจะประเมินผิดหรือไม่ ประชาชนจะเป็นผู้ให้คำตอบ

              จับตาดู "ปราการ" ที่จะสกัดร่างกฎหมาย "นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย" จะมีหรือไม่!!

             ทันทีที่ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม "ฉบับสุดซอย" ผ่านการพิจารณาวาระ 3 ทุกสายตาย่อมที่จะ "โฟกัส" ไปยังบรรดา "บิ๊กเนม" ที่จะได้รับประโยชน์ในฉับพลันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่กระนั้น ก็ยังมีกลุ่มคนอีกจำนวนไม่น้อยที่จะได้รับอานิสงส์จากกฎหมายฉบับนี้ แยกแยะได้หลายกลุ่มด้วยกันคือ
    
             1.คดีที่ คตส.ดำเนินการทั้งหมด 12 คดี แบ่งเป็น 3 กลุ่ม
    
             กลุ่มเเรก คือ คดีที่ศาลตัดสินแล้ว มี 4 คดี ได้แก่
    
             1.คดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษก ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาให้จำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเวลา 2 ปี
    
             2.คดีทุจริตโครงการออกสลากเลขท้ายพิเศษ 2 ตัว 3 ตัว หรือหวยบนดิน ศาลฎีกาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุกนายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง 2 ปี นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดคลัง 2 ปี นายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีต ผอ.กองสลาก 2 ปี แต่ให้รอลงอาญาไว้ 2 ปีทั้งสามคน ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้เดินทางมารับฟังคำพิพากษา จึงมีการออกหมายจับ
    
             3.คดีร่ำรวยผิดปกติ ให้ทรัพย์สิน 76,621 ล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งศาลฎีกามีคำสั่งให้ยึดเฉพาะเงินค่าขายหุ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกฯ และเงินปันผล จำนวน 46,373 ล้านบาท
    
             4.คดีเลี่ยงภาษีการซื้อขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มูลค่า 738 ล้านบาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ 2 ปี แต่ให้รอลงอาญา 1 ปี (ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์) และอัยการสูงสุดไม่ได้ฎีกาต่อทำให้คดีถึงที่สุด
             
             กลุ่มที่สอง คือ คดีที่อยู่ในชั้นศาล 5 คดี
    
             1.คดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ เนื่องจากไม่ได้แจ้งการถือครองหุ้นชินคอร์ป ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ออกหมายจับไว้
    
             2.คดีทุจริตปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของเอ็กซิมแบงก์ให้แก่รัฐบาลพม่า มูลค่า 4,000 ล้านบาท จำเลยคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งศาลฎีกาได้ออกหมายจับไว้
    
             3.คดีทุจริตออกพระราชกำหนดแปลงค่าภาษีสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจบริษัทชินคอร์ป จำเลยคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ออกหมายจับไว้  
    
             4.คดีทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงฯ มูลค่า 6,800 ล้านบาท ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกนายประชา มาลีนนท์  อดีต รมช.มหาดไทย 12 ปี และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีต ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. 10 ปี และได้ออกหมายจับคนทั้งสองเนื่องจากหลบหนีคดี
    
             5.คดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้บริษัทกฤษดามหานคร มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับพวกรวม 27 คน เป็นจำเลย และอยู่ระหว่างรอสืบพยานโจทก์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกหมายจับเนื่องจากหลบหนีคดีในชั้นศาล  

             กลุ่มที่สาม  คือ คดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. จำนวน 3 คดี
    
             1.คดีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่มีจำเลย คือนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับพวก
    
             2.คดีจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 และระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีการไต่สวนว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดหรือไม่ หนึ่งในนั้นมีนายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม ซึ่งขณะนั้นเป็นบอร์ด บทม. รวมอยู่ด้วย
    
             3.คดีทุจริตท่อร้อยสายไฟฟ้าในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคมกับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา


             2.คดีของกลุ่มเสื้อแดง กลุ่มพันธมิตร และเจ้าหน้าที่รัฐ

    
             1.กลุ่มเสื้อแดง
    
             -คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1,142    คน (ได้รับโทษไปหมดแล้ว)
    
             -ผิดกฎหมายอาญา              135 คน  (รวมถึงคดีก่อการร้าย, คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุดรธานี อุบลราชธานี มุกดาหาร คดีใช้เครื่องยิงจรวดอาร์พีจี ยิงไปยังอาคารกระทรวงกลาโหม คดีระเบิดที่ทำการพรรคภูมิใจไทย)
    
              -คดีผิดทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎหมายอาญา     485    คน
    
             รวม         1,763     คน

    
             2.กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
    
             -บุกสถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ (เอ็นบีที)    85    คน
    
             -คดีกบฏต่อแผ่นดิน                9     คน
    
             -ยึดรถเมล์                    6    คน
    
             -การบินไทยฟ้องแพ่ง                36    คน
    
             -ชุมนุมหน้าสภา 7 ต.ค.            21     คน
    
             -บุกทำเนียบ                    6     คน
    
             -บุกสนามบิน (ก่อการร้าย)            114    คน
    
             -คดีอื่นๆ                    18    คน
    
             รวม                         295 คน  

             3.เจ้าหน้ารัฐ
    
             - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงในช่วงสลายการชุมนุมเมษายน-พฤษภาคม 2553
    
             -เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมหน้าสภา 7 ตุลาคม 2551 (พันธมิตรฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี)
    
             -ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมประมาณ 5 หมื่นนาย

 

..............

(หมายเหตุ : ศาลรัฐธรรมนูญ : ด่านสุดท้ายนิรโทษกรรม'สุดซอย'? : สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ สำนักข่าวเนชั่นรายงาน)