ข่าว

เจาะลึกม็อบต้านนิรโทษ'แม้ว'

เจาะลึกม็อบต้านนิรโทษ'แม้ว'

01 พ.ย. 2556

เจาะลึกม็อบต้านนิรโทษ'แม้ว' เปิดศึก'1เป้าหมายหลายทัพ' : รายงาน

               พลันพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย “เทพเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศนำม็อบเคลื่อนไหวต่อต้านการบรรจุร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหม่าเข่ง หรือ “สุดซอย” เข้าสู่การพิจารณาของสภาวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 31 ตุลาคม 2556

               สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาอย่างไม่ต้องสงสัยก็คือ ปรากฏการณ์ “1 เป้าหมาย หลายทัพ” ของการชุมนุมประท้วงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เหมารวมแทบทุกคดี รวมถึงคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย 

               และแน่นอน ทำให้มีเวทีใหญ่เกิดขึ้นอย่างน้อย 3 เวทีพร้อมกัน เวทีแรก ปักหลังอยู่ก่อนแล้ว บริเวณ แยกอุรุพงษ์ ของเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดย อุทัย ยอดมณี และ 'ทนายนกเขา' นิติธร ล้ำเหลือ เป็นแกนนำ

               เวทีที่สอง ก็มีอยู่ก่อนแล้วเช่นกัน คือ เวทีสวนลุมพินี นำโดย กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ซึ่งมี พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ พร้อมคณะเสนาธิการร่วม (ยกเว้น ไทกร พลสุวรรณ ที่ถอนตัวออกไปแล้ว) และกองทัพธรรม โดย สมณะโพธิรักษ์ เป็นแกนนำ โดยมีสื่อทีวีดาวเทียม ช่อง FMTV พร้อมถ่ายทอดสดทุกสถานการณ์

               เวทีที่สาม คือ เวทีสถานีรถไฟสามเสน นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์หลายคน ที่ลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคเรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีผลกับคดียุบพรรค เป็นต้นว่า กรณ์ จาติกวณิช, ถาวร เสนเนียม, อิสสระ สมชัย และศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ฯลฯ

               และนอกจากจะเริ่มไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม เวลา 16.00 น. ยังประกาศที่จะยืดเยื้อสู้จนกว่ารัฐบาลจะถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกจากสภา รวมถึงชักชวนให้ประชาชนที่มาร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ ไปปักหลักชุมนุมอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดด้วย

               อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนม็อบของประชาธิปัตย์นี่เอง ที่ได้รับความสนใจอย่างสูง ทั้งจากหน่วยงานความมั่นคง ตำรวจ และรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ เนื่องจากสามารถระดมพลังมวลชนได้สูง และมีศักยภาพเพียงพอที่จะยึดพลังมวลชนให้ติดตรึงอยู่กับเวทีได้

               เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า “ฝีปาก” พะยี่ห้อ “ประชาธิปัตย์” แล้ว รัฐบาลพรรคเพื่อไทย รู้พิษสงดี ยิ่ง “เงื่อนไข” การนิรโทษกรรมให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างชัดเจนอย่างนี้ ยิ่งสามารถ “จงใจ” ให้พลังมวลชนคล้อยตามได้ไม่ยาก

               ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ยุทธวิธีที่พรรคประชาธิปัตย์นำมาใช้ ก็แหลมคมไม่น้อย นั่นคือ 'แยกกันเดิน รวมกันตี' โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเป็นแม่ทัพ 'ในสภา' ส่วน สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแม่ทัพ 'นอกสภา'

               นอกจากนี้ ยังมีกลุ่ม 'แนวร่วม' ต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้แก่พ.ต.ท.ทักษิณ อีกส่วนหนึ่ง ที่พร้อมเข้าร่วมชุมนุมกับเวทีต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ ได้ประกาศผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กของตัวเองไปแล้ว ว่าพวกเขาจะเข้าร่วมอย่างไร ที่ไหนบ้าง

               เริ่มจาก 'กองทัพนิรนาม' นำโดย 'เสธ.อู๊ด' และ 'ผู้กองปูเค็ม' มีมติว่า จะเข้าร่วมการชุมนุมที่เวทีสถานีรถไฟสามเสน พร้อมกับขอให้ 'กองทัพนิรนาม' 13 กองพัน จำนวน 13 จังหวัด เดินทางเข้าร่วมชุมนุม ตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าว

               'กลุ่มหน้ากากขาว V For Thailand' ออกแถลงการณ์เชิญชวนให้ชาว V ไปร่วมชุมนุม "ใครสะดวก ณ จุดไหน อาทิ เวทีสถานีรถไฟสามเสน, เวทีอุรุพงษ์, เวทีสวนลุมฯ เลือกได้ตามความสะดวก" ส่วนในต่างจังหวัด ก็ให้ชาว V ไปรวมตัวกันได้ที่หน้าศาลากลางในแต่ละจังหวัด

               'กลุ่มแพทย์ไทยหัวใจรักชาติ' ก็ได้แสดงจุดยืนต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วยเช่นกัน โดยจะออกเดินรณรงค์ไปยังเวทีอุรุพงษ์ และไปร่วมสมทบกันที่สถานีรถไฟสามเสน

               อีกกลุ่มหนึ่งที่เตรียมจัดการชุมนุมใหญ่ขึ้นมาสมทบ คือ 'สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย' (สปท.) ที่มี สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และ สุริยะใส กตะศิลา เป็นผู้ประสานงานหลัก

               โดยมติที่ประชุมตัวแทนจาก 77 จังหวัด ที่หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม จะเปิดฉากชุมนุมใหญ่ทันทีที่มีการลงมติผ่านวาระ 3

               ด้านต่างจังหวัด 'ภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้' (ค.ย.ป.16 จว.ภาคใต้) ที่เรียกร้องรัฐบาลให้แก้ปัญหาราคายางพารา และปาล์มน้ำมัน ก็เป็นอีกแนวร่วมที่ใกล้ชิด คปท.

               ยิ่งกว่านั้น จากการเปิดเผยของ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่โพสต์เฟซบุ๊กยังระบุชัดเจนอีกว่า 'สนธิ ลิ้มทองกุล' มีนโยบายให้เอเอสทีวี ถ่ายทอดสดการชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์อย่างเต็มที่ เพราะเป้าหมายที่พรรคประชาธิปัตย์ชุมนุมก็คือ การต่อต้านการนิรโทษกรรมให้แก่พ.ต.ท.ทักษิณ
ที่สำคัญจากข้อมูลเจาะลึกม็อบประชาธิปัตย์ พบว่า สาเหตุที่เลือกนัดชุมนุมบริเวณถนนด้านหลังสถานีรถไฟสามเสน เนื่องจากเป็นจุดที่ประชาชนเดินทางสะดวก โดยสามารถนั่งรถไฟมาได้ และไม่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้านั่นเอง

               นอกจากนี้ “ยุทธวิธี” นำม็อบของประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ก็นับว่าน่าสนใจ กล่าวคือ  มีการใช้ "สี" เป็นสัญลักษณ์ คือ สีดำ, มีการสั่ง ส.ส. ตลอดจน ส.ก. และ ส.ข.ในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้งหมด ระดมมวลชนมาให้ได้เขตละ 1,000 คน, ยอดประเมินผู้ชุมนุมเบื้องต้นเกิน 1 หมื่นคน แต่หากผู้ชุมนุมมาเกิน 2 หมื่นคน จะมีปัญหาเรื่องพื้นที่ชุมนุม เพราะมวลชนจะหนาแน่นตั้งแต่หน้าร้านอาหาร "รถเสบียง" ไปจนถึงแยกทางรถไฟ และสามแยกที่จะเลี้ยวไปด้านหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คาดว่าจะเกิดสถานการณ์ผู้ชุมนุมล้นขึ้นไปบนรางรถไฟ และปิดกั้นเส้นทางรถไฟไปโดยปริยาย ทำให้รถไฟเดินทางไม่ได้ และเกิดปัญหาการจราจรและการคมนาคมขนส่งทันที

               ขณะเดียวกัน หน่วยงานความมั่นคงชี้ว่า หากผู้ชุมนุมเกิน 2 หมื่นคน จะประกาศขยายพื้นที่บังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และเพิ่มกำลังตำรวจเพื่อควบคุมสถานการณ์
ด้านฝ่ายทหารได้มีการประสานให้กองทัพบก เรือ อากาศ เตรียมกำลังสารวัตรทหารพร้อมในที่ตั้ง เพื่อสนับสนุนภารกิจของตำรวจ

               สำหรับแผนรองรับของตำรวจ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษก ศอ.รส. เปิดเผยว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. สั่งทุกหน่วยให้เตรียมพร้อมและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับมือการชุมนุมอย่างเต็มพิกัดเช่นกัน โดยเฉพาะการติดตามแกนนำ แนวร่วม จำนวนมวลชน กลุ่มการ์ด กลุ่มผู้ใช้ความรุนแรง ตลอดจนกิจกรรมการเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด, ตั้งจุดตรวจในพื้นที่ที่มีความเคลื่อนไหว หรือเส้นทางที่มีการนำมวลชนเข้ามา โดยเฉพาะในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 7, 8 และ 9 เพื่อคัดกรองบุคคลและสิ่งผิดกฎหมาย

               พร้อมกันนี้ให้ทุกกองบัญชาการ จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว กำหนดแผนเผชิญเหตุในกรณีต่างๆ ทั้งการปิดเส้นทางการคมนาคม ถนน, ทางรถไฟ, ท่าเรือ, ศาลากลางจังหวัด และ สนามบิน เป็นต้น

               รวมทั้งมีการจัดหน่วยเฉพาะกิจที่จำเป็นต่อการปฏิบัติ ทั้งชุดเจรจาต่อรอง, ชุดสืบสวนสอบสวน, ชุดตรวจเก็บกู้วัตถุระเบิด รวมถึงการกำหนดมาตรการเชิงรุกต่อกลุ่มเป้าหมาย

               นอกจากนั้น ยังน่าสนใจไม่น้อย พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมาแถลงว่า ทราบจากการข่าวว่า การชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์ที่สถานีรถไฟสามเสน จะมีการปิดสถานีรถไฟสามเสน โดยอ้างว่ามีผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็อาจจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.พรรคการเมือง และขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ซึ่งอาจจะถูกยื่นให้มีการยุบพรรคประชาธิปัตย์ได้

               ทั้งนี้ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน จะไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของกลุ่มพ่อค้าน้ำมันเถื่อน เพราะอาจเป็นน้ำเลี้ยงให้แก่กลุ่มต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทุกกลุ่ม

               เหนืออื่นใด ประเด็นอาจอยู่ที่ว่า การจัดชุมนุมใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ประกาศอย่างชัดเจนว่า ไม่ได้มุ่งหวังที่จะล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่อย่างใด หากแต่ตั้งเป้าที่จะให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้แก่ “ทักษิณ” ออกจากสภาเท่านั้น

               ดังนั้น สถานการณ์จะยุติหรือไม่ เร็วหรือช้า หรือว่าลุกลามบานปลายหรือไม่ แค่ไหน ขึ้นอยู่กับรัฐบาลนั่นเอง

...............

(หมายเหตุ : เจาะลึกม็อบต้านนิรโทษ'แม้ว' เปิดศึก'1เป้าหมายหลายทัพ' :รายงาน)