
40ปี'กองทัพไทย'ไม่สิ้นกลิ่นปฏิวัติ?
40ปีสงครามอำนาจ'กองทัพไทย'ไม่สิ้นกลิ่นปฏิวัติ? : ทีมข่าวความมั่นคงรายงาน
������������� ตลอดระยะเวลา 40 ปี มีการชำระประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 มาโดยตลอด ซึ่งแต่ละฝักฝ่ายต่างก็มีแนววิเคราะห์และบทสรุปแตกต่างกันออกไป
������������� นอกจากบทบาทของนักเรียนมัธยม นักเรียนอาชีวะ และนิสิตนักศึกษา ที่ได้มารวมพลังกับประชาชน จนกลายเป็นการเดินขบวนบนถนนราชดำเนินครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด แต่อีกด้านหนึ่งที่เป็น "ปัจจัยสำคัญ" ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือ "กองทัพ"
������������� ศรี อินทปันตี อดีตผู้สื่อข่าวกรมประชาสัมพันธ์ และผู้สื่อข่าวการเมืองหลายสำนัก ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เขาเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาของผู้บัญชาการทหารระดับสูงของกองทัพ
������������� หลัง 6 ตุลาคม 2519 ศรี อินทปันตี ได้เข้าร่วมการต่อสู้ในเขตป่าเขา และมีตำแหน่งเป็นโฆษกของ "คณะกรรมการประสานงานกำลังรักชาติรักประชาธิปไตย" (กป.ปช.) ซึ่งเป็นองค์กรแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)
������������� ย้อนอดีตไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว "ศรี" ผู้สื่อข่าวอาวุโส สรุปไว้สั้นๆ ว่า มันเป็นการต่อสู้เพื่อช่วงชิง "อำนาจสูงสุด" (Elite Power)
������������� "เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เป็นเรื่องของอำนาจเก่าที่เข้ามายึดคืนอำนาจจากกลุ่มอำนาจใหม่ นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องของความเบื่อหน่ายต่อการปกครองในระบอบเผด็จการทหารมาตั้งแต่ปี 2490 และมีการเดินสายให้ความรู้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยในช่วงนั้น จนเกิดกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตย จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในที่สุด"
������������� ดั่งที่ทราบกัน นับแต่ปี 2500 ประเทศไทยตกอยู่ในอำนาจการปกครองของ "เผด็จการทหาร" กลุ่มใหม่ ภายใต้การนำของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
������������� หลังการอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ปี 2506 ทายาททางอำนาจ 4 คน คือ จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร, พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา และ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ ได้หลอมรวมเป็น "ศูนย์อำนาจใหม่" ในยุคสงครามเย็น โดยจอมพลถนอม คุมฝ่ายบริหาร จอมพลประภาส-พล.อ.กฤษณ์ คุมกองทัพ และพล.ต.อ.ประเสริฐ คุมตำรวจ
������������� การอยู่ในอำนาจอันยาวนานของ "จอมพลถนอม-จอมพลประภาส" แถมมีท่าทีจะส่งต่อท่ออำนาจไปยังลูกชายคือ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร จึงทำให้เกิดรอยปริแยกในกองทัพ
������������� ประกอบ "พล.อ.กฤษณ์" เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก มาตั้งแต่ปี 2509 เขาเป็นรองผู้บัญชาการทหารบกยาวนานถึง 7 ปี โดยจอมพลประภาสไม่ยอมลุกจากเก้าอี้ ทำนองเดียวกันจอมพลถนอม ก็อยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด แบบว่าต่ออายุแล้วต่ออายุอีก ทำให้นายทหารคนอื่นหมดโอกาสขยับ
������������� จอมพลถนอม-จอมพลประภาส ได้กลิ่นความขัดแย้ง จึงแต่งตั้งให้ พล.อ.กฤษณ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก ในฤดูกาลโยกย้าย 1 ตุลาคม 2516
������������� สำหรับ "จอมพลถนอม" ก็ยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ควบคู่กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมี "จอมพลประภาส" ขยับขึ้นมาเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
������������� เพียง 14 วัน หลังจากการขึ้นดำรงตำแหน่ง "ผบ.ทบ." ของ พล.อ.กฤษณ์ ก็ได้เข้าควบคุมกองทัพไว้ทั้งหมด บวกกับสถานการณ์การนองเลือดจากการปะทะกัน ระหว่างนักเรียน-นักศึกษา กับทหาร ในวันที่ 14-15 ตุลาคม 2516 ส่งผลให้ "จอมพลถนอม-จอมพลประภาส" ต้องลี้ภัยไปอยู่ในต่างแดน
������������� หลัง 14 ตุลา ศูนย์อำนาจใหม่ก่อรูปขึ้น ประกอบด้วย พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบก, พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ, พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ หรือ "เทพ 333" ผู้บัญชาการทหารเสือพราน ซึ่งทหารรับจ้างเสือพรานนับหมื่นคนเพิ่งกลับมาจากสมรภูมิสงครามลับในลาว
������������� ห้วงเวลาปลายปี 2516 ถึงต้นปี 2519 "พล.อ.กฤษณ์" คือผู้นำหลังม่านตัวจริง เป็นเสาค้ำยัน "รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์" เป็นผู้วางแผนจัดตั้ง "รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช" (ปี 2518) และเป็นผู้คุมเกมตั้ง "รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช" (ปี 2519) ก่อนจะเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ
������������� ว่ากันว่า อำนาจใหม่ของ พล.อ.กฤษณ์ สถาปนาขึ้นมาจากโครงสร้างทางการเมืองแบบดั้งเดิม ซึ่งมีบทบาทสำคัญเหนือกองทัพมาแต่การรัฐประหาร 2500 ซึ่งได้กำจัด "ระบอบพิบูลสงคราม" ออกไป
������� 000
������������� น่าเสียดาย 40 ปี 14 ตุลา คีย์แมนคนสำคัญคือ พล.ท.วิฑูรย์ หรือ พล.ต.อ.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว จึงไม่มีใครมาเปิดเผย "ความลับ 14 ตุลา" ในมุมของผู้ทรงอำนาจหลังวันมหาวิปโยค
������������� ขณะที่ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ทายาทจอมพลถนอม ได้มอบให้นักวิชาการอิสระเขียนหลัง "ลอกคราบประวัติศาสตร์ 14 ตุลา" เวอร์ชั่นครอบครัวกิตติขจร-จารุเสถียร เมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มกฤษณ์ สีวะรา เป็นผู้จุดชนวนความรุนแรง
������������� ด้านนายทหารใหญ่อย่าง "เสธ.อ้าย" พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ อดีตประธานกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) เล่าว่า ตอนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ตนเป็นทหารบ้านนอก กำลังเคลื่อนกำลังไปปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ในพื้นที่ จ.เชียงราย จึงไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ทราบแต่ข่าววิทยุ และหนังสือพิมพ์เท่านั้น
������������� "ผมมองว่ามันเป็นการต่อสู้กันระหว่างคนรุ่นใหม่กับทหาร โดยเฉพาะนักศึกษาคิดว่าทหารครองอำนาจนานเกินไป ควรที่จะเปลี่ยนถ่ายบ้าง ขณะเดียวกัน ในช่วงนั้นทหารก็แตกแยกทำให้การล้มรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ทำได้ง่าย"
������������� ถามว่า 40 ปี 14 ตุลา ประเทศไทยได้อะไรบ้าง "พล.อ.บุญเลิศ" ตอบว่า ได้อย่างเดียวคือ การตื่นตัวทางการเมืองของภาคประชาชนหรือองค์กรภาคประชาชน จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 บรรจุเรื่ององค์กรภาคประชาชน หรือองค์กรอิสระไว้ในรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ก็เป็นเหตุการณ์สืบเนื่องมาจาก 14 ตุลา 16 รวมถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ที่ทำให้เราต้องมีองค์กรอิสระ
������������� สำหรับโอกาสที่จะมีนักศึกษารวมตัวกันเรียกร้องเหมือนกับช่วง 14 ตุลา ในอนาคตหรือไม่ พล.อ.บุญเลิศ มองว่า "ผมคิดว่าจะต้องมี ถ้าคนทนไม่ไหว ซึ่งผมเชื่อว่าคนทนไม่ไหวเยอะ เพียงแต่วันนี้หาคนที่ดูแลปลอดภัยไม่ได้"
������������� ส่วนการวางตัวของกองทัพปัจจุบันนั้น พล.อ.บุญเลิศ มองว่า "กองทัพเฉย และกลัว ไม่กล้าตัดสินใจ ความจริงแล้วกองทัพน่าจะเป็นกรรมการ ถ้าเป็นฟุตบอลก็จะต้องเป็นกรรมการเป่านกหวีด ถ้ามวยก็จะต้องเป็นกรรมการห้ามมวย ผมมองว่าตอนนี้กองทัพยังไม่กล้าผลีผลาม"
������������� ครั้นถามถึงโอกาสในการทำปฏิวัติรัฐประหารในอนาคตนั้น "พล.อ.บุญเลิศ" ตอบชัดว่า "อยากให้มี และจะต้องมี เพราะมันไม่ไหวจริงๆ ทางรัฐสภาก็แก้ไม่ได้ คนที่เข้าไปเป็นสภานิติบัญญัติชั้นไม่ถึง ชั้นไม่ได้ คนพวกนี้ไม่มีใครไปคัดกรอง เพียงแต่ประชาชนเลือกมาก็ได้แล้ว ซึ่งการเลือกมามีได้หลายทาง เอาเงินซื้อเสียง โกงหีบเลือกตั้งก็เป็นไปได้"
������������� การเฉลิมฉลอง 40 ปี 14 ตุลา กำลังจะผ่านไป ยังมีเสียงเรียกร้องให้ทหารลุกขึ้นมาก่อการปฏิวัติยึดอำนาจ และเริ่มเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ ในเดือนตุลาอาถรรพณ์ ราวกับว่าบ้านนี้เมืองนี้จะหนีไม่พ้นวงจรอุบาทว์
"ทำไมวัยเท่าๆกัน ถึงได้กล้าหาญ"ย้อนวันวานกับ "พล.ร.อ.พะจุณณ์"
������������� พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ก็ถือโอกาสรำลึก 14 ตุลา ในฐานะเยาวชนที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวในครั้งนั้นด้วย
������������� โดยปี 2516 "พล.ร.อ.พะจุณณ์" เป็นนักเรียนนายเรือชั้นปีที่ 3 และด้วยความที่เป็นคนสนใจการบ้านการเมืองมาตั้งแต่เด็ก พอเป็นนักเรียนนายเรือจึงหนีโรงเรียนออกมาเพื่อติดตามการเมือง
������������� "ตอนนั้นผมมาอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมชื่นชอบผู้นำนักศึกษาหลายคน ผมตามคนกลุ่มนี้มาตลอดจนไม่ได้เข้าเรียนเลย โดยมีเพื่อนผมมาด้วยอีกคนคือ พล.ร.ท.เทพรังสรรค์ ศิลปบรรเลง ตอนที่มาตามขบวน มีความรู้สึกว่าคนพวกนี้ยิ่งใหญ่ อยากจะแหวกผู้คนเข้าไปไหว้จริงๆ" พล.ร.อ.พะจุณณ์ กล่าว
������������� พล.ร.อ.พะจุณณ์ ในวันนั้นได้แอบคิดว่า "ทำไมวัยเท่าๆ กัน ทำไมถึงได้กล้าหาญ ออกมายืนหยัดต่อสู้ตามความคิดความเชื่อของเขา จึงมานั่งวิเคราะห์ว่า ทำไมคนพวกนี้ถึงได้ลุกมาต่อสู้ และได้ข้อสรุปว่า น่าจะเป็นเพราะการที่เขาได้รับการศึกษา และประวัติศาสตร์บ้านเมืองที่ตอนนั้นอีนุงตุงนังมาก ซึ่งกลุ่มคนพวกนี้ต้องรับรู้ตลอดเวลา ทั้งเรื่องการปฏิวัติ เผด็จการ และการต่อสู้ทางการเมือง"
������������� ด้วยผลผลิตจากการศึกษาในยุคนั้น เราจึงได้เห็นคนในยุคนั้นออกมาร่วมในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองต่างๆ ซึ่งถ้าไปดูในม็อบทุกวันนี้ จะเห็นคนที่ออกมาต่อสู้อายุ 60 กว่าทั้งนั้น และเคยร่วมเหตุการณ์ 14 ตุลา มาแล้วทั้งสิ้น
������������� จากปัจจัยสังคมการเมืองที่แตกต่างจากปัจจุบันโดยสิ้นเชิง ทำให้วัยรุ่นในปัจจุบันไม่ออกมา เพราะคิดว่าประชาธิปไตยคือการหย่อนบัตร พวกเขาดีใจแล้วที่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ ซึ่งเป็นความผิดของผู้ใหญ่ปัจจุบันทุกคนจะต้องรับผิดชอบ ถ้าบ้านเมืองเป็นอะไร เป็นเพราะคุณไม่ได้ปลูกฝังในเรื่องนี้
������������� "ผมมีหลานอยู่หนึ่งคน อายุ 3 ปี ผูกผ้าสีเหลืองไปอยู่กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อปี 2552 ซึ่งเดินไปด้วยกัน ตัวเล็กนิดเดียว ทุกวันนี้เขาก็รู้จักนายกรัฐมนตรีชื่อทักษิณ นายกรัฐมนตรีชื่อปู และนายกรัฐมนตรีที่ชื่ออภิสิทธิ์ และรักในหลวงมาก ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นพระองค์ท่านเลย เพราะเราปลูกฝังเขา ถ้าเราไม่ปลูกฝัง หรือบ้านไหนไม่ปลูกฝังในเรื่องนี้ เด็กก็จะไม่สนใจกัน" พล.ร.อ.พะจุณณ์ กล่าว
������������� ถามว่า มีโอกาสที่จะมีเยาวชนในยุคนี้ลุกขึ้นมาเหมือนสมัย 14 ตุลา 16 หรือไม่?
������������� พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตอบว่า "ผมอยากบอกว่า ม็อบเขื่อนแม่วงก์ มีแต่เด็กวัยรุ่นทั้งนั้น นี่คือสิ่งอัศจรรย์ ทำไมเด็กวัยรุ่นถึงได้ออกมา เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ของการเมือง เขาคิดว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องของพรรคการเมืองก็ตีกันไป ไม่ใช่เรื่องของเขา ซึ่งก็ไม่อยากว่าเขา แต่เป็นเพราะเราไม่ได้ปลูกฝัง"
......................
(หมายเหตุ : 40ปีสงครามอำนาจ'กองทัพไทย'ไม่สิ้นกลิ่นปฏิวัติ? : ทีมข่าวความมั่นคงรายงาน)