
'ทักษิณ'โวเป็น'นายกฯ'ปลดหนี้IMF
'ทักษิณ'โพสต์เล่าเบื้องหลังการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ โวเป็น'นายกฯ'ปลดหนี้'IMF'
8 ต.ค.56 เมื่อเวลา 12.45 น.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า" Me and My Country (1) ผมขอเริ่มตอนที่หนึ่งโดยการเล่าเรื่องเบื้องหลังการเจรจากับญี่ปุ่นในการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิครับ ปี 2544 ผมได้ประกาศว่าจะยกเลิกการประกวดราคาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งประกวดราคาโดยรัฐบาลก่อนเป็นวงเงิน 54,000 ล้านบาทเศษ โดยออกแบบรองรับผู้โดยสารได้ 35 ล้านคน ซึ่งขณะนั้นผมเห็นว่าแพงและจำนวนผู้โดยสารที่รองรับได้น้อยไป เกรงจะไม่พอ เปิดปุ๊บก็ต้องเต็มปั๊บ ทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยในขณะนั้นก็วิ่งมาพบผมและขอคัดค้านเพราะเรากู้เงิน JBIC อยู่ โดยบอกว่าจะยกเลิกเงินกู้
ผมก็นั่งคิด เนื่องจากเรายังไม่พ้นวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อ ก.ค.40 แต่ถ้าเรากลัวไม่ได้กู้เงิน เราก็ต้องสร้างสนามบินที่แพงเกินจริงและรองรับผู้โดยสารได้น้อยเกินไป เพราะจะสร้างใหม่ทั้งทีอุตส่าห์รอกันมาตั้ง 40 ปี ขณะนั้น ผมอ่านออกว่า ทูตญี่ปุ่นกลัวว่าประกวดราคาใหม่บริษัทญี่ปุ่นจะไม่ชนะประมูล เรื่องการไม่ให้กู้เงินคงจะไม่จริง ผมก็เลยบอกไปว่าผมจำเป็นต้องยกเลิกการประมูลและแก้แบบใหม่ให้รองรับผู้โดยสารจาก 35 ล้านคนเป็น 45 ล้านคน ถ้าญี่ปุ่นไม่ให้กู้ก็ไม่เป็นไร ผมใช้เงินแบงค์กรุงไทยกับแบงค์ออมสินก็ได้ ผมก็เลิกการประมูล แก้แบบเป็น 45 ล้านคน และให้มีการประมูลใหม่
ผลปรากฏว่า ราคาลดลงจาก 54,000 ล้านบาท เป็น 36,666 ล้านบาท ประหยัดไป 17,000 ล้านบาทเศษ พร้อมกับรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มอีก 10 ล้านคน จาก 35 เป็น 45 ล้านคน ซึ่งขนาดเพิ่มแล้ววันนี้หลังจากเปิดไม่กี่ปีก็เต็มแล้ว ทั้งๆ ที่ไปใช้ดอนเมืองด้วย และในที่สุด ท่านทูตญี่ปุ่นคนเดิมก็กลับมาขอร้องให้เราใช้เงินกู้ JBIC ต่อไปเหมือนเดิม (การเจรจาต้องรู้ความต้องการของเขาและของเรา)
ถ้าท่านจำได้ช่วงผมเป็นนายกฯใหม่ๆ ผมได้ประกาศว่า ไทยจะไม่ยอมกู้เงินนอกเด็ดขาดยกเว้นสัญญาที่มีอยู่เดิม ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเรามีเงินสำรองอยู่ 27-28 พันล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น แต่เรามีหนี้ต่างประเทศมากกว่าเงินสำรองเรามาก รวมทั้งหนี้ IMF ถึง 12,000 ล้าน ผมเข้าใจโลกทุนนิยมดีครับ มันเปรียบเสมือนว่า เมื่อแดดออก มีแต่คนจะเอาร่มมาให้เราถือเต็มไปหมดทั้งๆ ที่เราไม่ต้องใช้ แต่ยามฝนตก เราอยากได้ร่มสักคันก็ไม่มีใครให้ยืม เพราะฉะนั้นจึงต้องสร้างคำว่า Trust & Confident ให้ได้ เงินถึงจะมา
ผมเลยใช้นโยบายว่า กัดฟันไม่กู้เงินนอกเท่านั้น ต่างประเทศก็เริ่มมั่นใจขึ้น เงินต่างประเทศก็เริ่มเข้ามาประกอบกับการปรับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้นให้สอดคล้องกัน ทำให้พ่อค้านำเข้าและส่งออกที่เก็บเงินไว้ต่างประเทศก็เริ่มนำกลับเข้ามา เสถียรภาพเงินบาทก็แข็งขึ้น เงินสำรองก็มากขึ้นจนเราสามารถใช้หนี้ IMF ได้ ซึ่งตอนเกิดวิกฤติตอนเราต้องยืมเงิน IMF ทุกคนก็คิดว่าต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีกว่าจะใช้หนี้ได้
ตอนที่ผมตัดสินใจใช้หนี้หลายคนก็ห้ามผมว่า ทำไมต้องรีบใช้ เดี๋ยวเงินสำรองจะพร่องมากไปไม่พอใช้ บังเอิญผมมีประสบการณ์เป็นนักกู้เงินมาก่อน ถ้าเราเป็นหนี้แล้วใช้คืนได้เขาถึงว่าเราเป็นลูกค้าชั้นดีที่จะให้กู้มากขึ้นอีก ผมก็เลยสั่งให้ใช้หนี้ทั้งหมดทีเดียว หม่อมอุ๋ยขอต่อรองเป็นอีก 6 เดือน ผมก็เลยบอกว่าผมประกาศเลยนะว่าอีก 6 เดือนจะชำระ ก็เลยเกิดการชำระหนี้ IMF ก่อนครบกำหนดถึง 2 ปี ทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยดีขึ้นมาก เงินก็เริ่มไหลเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจนเรากลายเป็นประเทศที่เรียกว่าเป็น Net Creditor Nation คือ เป็นประเทศที่มีเงินฝากเป็นเงินตราต่างประเทศมากกว่าเงินกู้ต่างประเทศ โดยรวมตัวเลขทั้งภาครัฐและภาคเอกชนด้วย เป็นครั้งแรกของไทย
สรุปก็คือว่า ถ้าเรามียุทธศาสตร์การเงินและการทำงานที่ควบคู่กันได้ดี เราจะสร้างTrust & Confident ให้กับองค์กรของเรา(ซึ่งในที่นี้ก็คือประเทศ) แล้วเราจะเติบโตได้ เพราะจะมีเงินทุนเข้ามาให้เราได้ใช้บริหารและสร้างรายได้อย่างไม่จำกัดครับ วันนี้เอาเท่านี้ก่อนครับ "