ข่าว

กทม.ตัดถนนใหม่ 2.1 หมื่นล้าน

กทม.ตัดถนนใหม่ 2.1 หมื่นล้าน

08 ต.ค. 2556

กทม.ตัดถนนใหม่ 2.1 หมื่นล้าน เชื่อมเกษตร-นวมินทร์ถึงสุขุมวิท 103 แก้จราจรติดขัดด้านตะวันออก

               สนย.สรุปผลการศึกษาแนวเส้นทางที่เหมาะสม โครงการถนนตามแนวผังเมือง ช2 เชื่อมต่อเรือ รถ ราง และเติมเต็มถนนวงแหวนรอบกลาง เชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งให้สมบูรณ์

               การประชุมรับฟังความคิดเห็น (ครั้งที่ 2) โครงการสำรวจออกแบบการก่อสร้างถนน ตามแนวผังเมือง ช2 จากถนนเกษตร-นวมินทร์ ถึงถนนสุขุมวิท 103 เพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษาในทุกด้าน ผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสม รูปแบบถนนโครงการ รวมทั้งมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา เครือข่ายภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกว่า 200 คน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556 

                นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ถนน ช2 จากถนนเกษตร-นวมินทร์ ถึงถนนสุขุมวิท 103 เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางในการแก้ไขปัญหาการจราจรในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ โดยเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อกับถนนประเสริฐมนูกิจ (เกษตร-นวมินทร์) กับถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 และสามารถเชื่อมต่อเส้นทางไปยังถนนบางนา-บางปะกง ซึ่งจะช่วยเติมเต็มโครงข่ายถนนวงแหวนรอบกลางให้เป็นถนนที่สมบูรณ์ รวมทั้งสามารถเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนรูปแบบอื่นๆ ทั้งรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-บางกะปิ-สำโรง) รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-รามคำแหง-บางกะปิ-สะพานสูง-มีนบุรี) และเรือโดยสารคลองแสนแสบได้อีกด้วย ทั้งหมดนี้ช่วยให้การเดินทางและการส่งสินค้ามีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

                โดยนำเสนอเส้นทางที่เหมาะสมจากผลสรุปการศึกษาในทุกด้าน จาก 3 แนวเส้นทางเลือก ได้คัดเลือกแนวเส้นทางที่ 2 เส้นสีเหลือง มีจุดเริ่มต้นที่ ถ.ประเสริฐมนูกิจ (เกษตร-นวมินทร์) ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ตัด ถ.นวมินทร์ ซอย 42 ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ แล้วเบี่ยงแนวไปทางทิศใต้ข้ามคลองกุ่ม ขนานไปกับแนวคลองบางเตยทางทิศตะวันตก ผ่าน ถ.เสรีไทย ข้ามคลองแสนแสบ ผ่าน ถ.รามคำแหงไปทางทิศใต้ จากนั้นเบี่ยงแนวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ผ่าน ถ.ศรีนครินทร์-ร่มเกล้า (โครงการอนาคต) ผ่าน ถ.กรุงเทพกรีฑา ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ข้ามทางรถไฟสายตะวันออก ลอดทางวิ่งของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ข้ามคลองประเวศบุรีรมย์ ขนานไปกับแนวคลองสองห้อง ผ่าน ถ.อ่อนนุช โรงกำจัดขยะอ่อนนุช และสิ้นสุดที่ ถ.เฉลิมพระเกียรติ ร.9 ห่างจากสมแยกถนนพัฒนาการ-เฉลิมพระเกียรติ ร.9 ประมาณ 400 เมตร รวมระยะทางประมาณ 13.5 กิโลเมตร

                และมีการศึกษาแนวเส้นทางเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นถนนวงแหวนรอบกลางที่สมบูรณ์ โดยเริ่มต้นจาก ถ.เฉลิมพระเกียรติ ร.9 ลงไปทางทิศใต้ เบี่ยงแนวไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ตัด ถ.รามคำแหง 2 จากนั้นขนานไปตามแนวคลองปลัดเปรียงข้ามคลองต้นตาล จนมาบรรจบกับ ถ.บางนา-บางปะกง ประมาณกม.ที่ 6 ระยะทางประมาณ 4.5 กิโลเมตร รวมระยะทาง 18 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่เขตบึงกุ่ม แขวงคลองกุ่ม เขตสะพานสูง แขวงสะพานสูง เขตบางกะปิ แขวงหัวหมาก เขตประเวศ แขวงประเวศ แขวงสวนดอกไม้ กรุงเทพมหานคร และเขตพื้นที่ ต.บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

                รูปแบบถนนของโครงการกำหนดให้มีแนวเขตทางกว้าง 60 เมตร 8 ช่องจราจร มีเท้ากว้าง 8 เมตร สามารถแบ่งเป็นเลนจักรยานได้ เกาะกลางมีความกว้าง 15 เมตร เพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต โดยมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return = 19.48%) มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 21,680 ล้านบาท

                ถนน ช2 เป็นถนนตามแนวร่างผังรวมกรุงเทพมหานคร (ปี พ.ศ.2554) ซึ่งกำหนดไว้ว่าควรจะดำเนินการก่อสร้าง เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ในย่านต่างๆ รวมถึงแก้ปัญหาการขาดการเชื่อมต่อโครงข่ายและปัญหาพื้นที่ปิดล้อม ซึ่งกำหนดด้วยตัวอักษร ก-ช แทนความกว้างของเขตทาง

                ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ถูกกำหนดขึ้นโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์ที่ดินกับระบบคมนาคมขนส่ง เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นและมีอัตราการเพิ่มของประชากรสูง ทำให้เกิดการขยายตัวของที่อยู่อาศัย การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

               ดังนั้นสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร จึงต้องปรับปรุงผังเมืองรวมฯ ทุกๆ 5 ปี เพื่อกำหนดทิศทางและวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสม โดยคำนึงทั้งลักษณะทางกายภาพของพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล การบริหารปกครองพื้นที่ การคมนาคมขนส่ง สภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การกระจายความหนาแน่นของจำนวนของประชากรในเขตกรุงเทพมหานคร นโยบายของภาครัฐ และความคิดเห็นของประชาชนโดยส่วนรวม

               สำหรับพื้นที่กรุงเทพฝั่งตะวันออกนั้น จัดอยู่ในที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง และเป็นพื้นที่รองรับการขยายตัวของเขตเมือง (Built up Area) ซึ่งคาดว่าจะเกิดความต้องการในการเดินทางระหว่างพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นจึงเกิดโครงการสำรวจออกแบบการก่อสร้างถนนตามแนวผังเมือง ช2 จากถนนเกษตร-นวมินทร์ถึงถนนสุขุมวิท 103 ขึ้น เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ด้านเหนือและใต้ของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก และเพื่อรองรับการพัฒนาระบบการเดินทางรูปแบบอื่นๆ ในอนาคต

               ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานโครงการ สำนักการโยธา ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชน ทั้งในรูปแบบการประชุมกลุ่มย่อยกับประชาชนตามแนวเส้นทางเลือก และการประชุมสัมมนาให้ข้อมูลโครงการและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่ง สนย. จะนำความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ที่ได้รับมาพิจารณาประกอบร่วมกับผลการศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนโดยรวมมากที่สุด