
เงินค่าขนม
เงินค่าขนม : คอลัมน์วันอาทิตย์คิดเรื่องเงิน : โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล [email protected]
คุณแม่ของลูกสาววัยประถมโพสต์รูปปากกา เป็นตัวการ์ตูนสีชมพูน่ารักลงในเฟซบุ๊ก พร้อมข้อความเชิญชวนให้ลุงป้าน้าอาร่วมกันทายราคาปากกา ที่ลูกสาวตัวน้อยจ่ายเงินซื้อมาจากรุ่นพี่ที่โรงเรียน ทายกันตั้งแต่ราคาต่ำสุดที่ 5 บาทไปจนถึงราคาสูงสุดที่ 120 บาทก็ยังไม่ถูก จนเจ้าตัวมาเฉลยว่า คุณลูกซื้อปากกาด้ามนี้ในราคา 340 บาท!! เล่นเอาพี่ป้าน้าอาส่งเสียง "จ๊ากกกกกก" กันทั้งเฟซบุ๊ก
หลายคนถามว่า ทำไมให้ลูกพกเงินเยอะขนาดนี้ คุณแม่ท่านนี้บอกว่า เงินค่าขนมของลูกจะฝากไว้กับคุณครูประจำหอ เวลาลูกจะใช้เงินก็ไปเบิกจากคุณครู
ไม่บอกก็คงจะรู้ว่า หลังจากนั้น "การแสดงความเห็น" ก็ถั่งโถม ตำหนิรุ่นพี่ที่เอาเปรียบน้อง เพราะของมันแพงเกินไป ตำหนิคุณครูที่ไม่ดูแลการใช้จ่ายของเด็ก อย่างน้อยเด็กเล็กๆ มาขอเงินไปซื้อของ 340 บาท ถือเป็นจำนวนไม่น้อย คุณครูต้องถามไถ่อะไรบ้าง
แนะนำคุณแม่ท่านนี้ในฐานะเพื่อนที่รู้จักชอบพอกันมานานว่า ครั้งนี้เสียแล้วก็ถือว่าเสียไป แต่ถ้ามีเวลาว่าง ให้พาลูกสาวไปเดินช็อปปิ้งแผนกเครื่องเขียน ให้ลองเลือกปากกาแล้วเปรียบเทียบดูว่า เงินจำนวน 340 บาทเท่ากันนั้น สามารถซื้อปากกาที่น่ารักเหมือนๆ กัน เขียนได้ดีเท่าๆ กัน ได้ทั้งหมดกี่ด้าม หรือจะลองเสียเงินอีกเท่าตัว ลองเล่นเกมกับคุณลูกว่า คุณแม่ก็มีเงิน 340 บาทเท่าลูก ลองแข่งกันช็อปว่า เงินจำนวนเท่านี้ คุณแม่กับคุณลูกจะเลือกซื้อของอะไรได้บ้างในแผนกเครื่องเขียน
ลองมองย้อนกลับไป บางทีก็อาจจะไม่ใช่ความต้องการเอาเปรียบน้องของเพื่อนรุ่นพี่ หรือเป็นความผิดของคุณครู แต่อาจจะเป็นข้อบกพร่องของพ่อแม่ที่ละเลยและลืมสอนลูกเรื่องความคุ้มค่าของเงิน
นึกย้อนไปถึงตอนที่ตัวเองเรียนชั้นประถม น้องชายคนเล็กที่อยู่ในวัยประถมกว่า ก็คล้ายๆ กับลูกสาวของเพื่อน ที่สนุกสนานกับการใช้เงินค่าขนมอย่างเพลิดเพลิน จนตอนหลังแม่ต้องควบคุมด้วยการหักเงินค่าขนม รวมทั้งกำชับคุณครูประจำชั้นให้ช่วยจับตามองการใช้จ่ายที่เกินตัว พอเจอมาตรการขั้นเด็ดขาดเข้าไปแบบนี้ แทนที่เจ้าตัวจะกลับตัวกลับใจ ดันแอบย่องไปหาน้องสาวตัวเล็กกว่า ออดอ้อนขอความเห็นจนน้องต้องซื้อไอติมให้กินทุกพักกลางวัน ส่วนเงินของตัวเองก็เอาไปซื้อแมลงทับ แมลงเต่าทองจากเพื่อน จนครูก็จับไม่ได้ แม่ก็ไล่ไม่ทัน
จริงๆ แล้ว "เงินค่าขนม" เป็นเครื่องมือชั้นดีในการสอนทักษะทางการเงินให้แก่เด็กๆ เหมือนที่หนังสือ "ปั้นเศรษฐีน้อยจากร้อยสู่ล้าน" เขียนไว้จริงๆ
เด็กๆ สามารถได้รับเงินค่าขนมได้ตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ ด้วยจำนวนที่ไม่มากเกินไป อาจจะเริ่มต้นที่ 10 บาท หรือ 20 บาท แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นทุกปีในสัดส่วนเท่าๆ กัน ซึ่งจำนวนที่ให้ก็ควรจะเพียงพอกับค่าใช้จ่าย และเหลือเผื่อไปถึงการออมด้วย
การให้ค่าขนมลูก ก็เหมือนประตูที่เปิดไปสู่การสอนให้พวกเขารู้จักคุณค่าของเงิน เพราะถ้าไม่มีเงินค่าขนมเหล่านี้ พ่อแม่ก็ไม่มีกลไกหรือเครื่องมือที่จะสอนให้ลูกได้ปฏิบัติจริง สิ่งที่พ่อแม่สอนลูกได้ผ่านค่าขนมของลูก ก็คือ การสอนให้พวกเขารู้จักใช้จ่าย สอนเรื่องงบประมาณในการใช้จ่ายที่มีอยู่อย่างจำกัด การออมเล็กน้อยในวันนี้เพื่อของที่ใหญ่กว่า มากกว่าในวันข้างหน้า
ในหนังสือ "ปั้นเศรษฐีน้อยจากร้อยสู่ล้าน" บอกด้วยว่า หลายครั้งพบว่า พ่อแม่บางคนอาจไม่เห็นด้วยกับการให้ค่าขนมลูกเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารเงินหรือแม้กระทั่งนักจิตวิทยาบอกว่า เงินค่าขนมเป็นรายงวดนี่ล่ะที่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กๆ รู้จักค่าของเงินและรู้จักเก็บออมเงิน
ปัญหาถัดมา คือ ค่าขนมเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสมสำหรับเด็กในแต่ละวัย
เรื่องนี้บางทีก็อาจจะต้องถึงกับกางตำรา ซึ่งตำราบอกไว้ว่า ในการกำหนดเงินค่าขนม "อัตรากลาง" สิ่งที่ควรคำนึง ก็คือ เพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียนของลูกได้เงินค่าขนมกันคนละเท่าไหร่ อาจจะบวกลบมากกว่านั้นเล็กน้อยก็ไม่เป็นไร แต่ก็อย่ามากเกินไป เพราะถ้ามากเกินไป ก็อาจจะทำให้เด็กๆ ใช้จ่ายไปกับของราคาแพงจนไม่เหลือเงินเก็บ ยิ่งถ้าพ่อแม่เข้าไปช่วย เวลาที่ลูกใช้มากเกินไปจน "ช็อตเงิน" ก็จะยิ่งกลายเป็นการบ่มเพาะการใช้นิสัยใช้จ่ายเกินตัวให้ลูกเพิ่มขึ้นไปอีก
มีข้อคิด 6 ข้อในเรื่องค่าขนมที่หนังสือ "ปั้นเศรษฐีน้อยจากร้อยสู่ล้าน" เขียนไว้และน่าสนใจทีเดียว นั่นคือ ข้อแรก-ไม่เคยเร็วเกินไปที่จะเริ่มต้น ถ้ากำลังลังเลว่าลูกโตพอที่จะเรียนรู้เรื่องเงินทองหรือยัง ก็ต้องรู้ไว้ว่า ผลการศึกษาล่าสุดแสดงว่า เด็ก 3 ขวบส่วนใหญ่ก็พร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องเงินและวิธีซื้อมาขายไปของสิ่งของต่างๆ และพออายุ 5 ขวบ เด็กก็จะเริ่มออมเงินเองได้แล้ว
ข้อสอง-หาสูตรเหมาะสำหรับครอบครัว พ่อแม่ต้องมองหาระบบที่เหมาะสมในการจ่ายค่าขนมให้กับลูกๆ และมีความยืดหยุ่นพอสำหรับเด็กโต เพราะยิ่งโตขึ้น พวกเขาก็ย่อมอยากได้โน่น นี่ นั่น เป็นธรรมดา ซึ่งพ่อแม่อาจจะเลือกวิธีเพิ่มเงินให้ลูกทุกๆ เปิดเทอมก็ได้ ข้อสาม-อธิบายกฎ เด็กแต่ละคนควรเข้าใจว่า ทำไมเขาจึงได้รับค่าขนมและควรนำมาเป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง แต่ย้ำเตือนพวกเช่นกันถึงหน้าที่รับผิดชอบในฐานะสมาชิกในครอบครัวว่ามีอะไรบ้าง ข้อสี่-ให้เงินตรงเวลา การจ่ายเงินให้ลูกตรงเวลา เช่น ทุกเย็นวันอาทิตย์ ทุกต้นเดือน หรือทุกเช้าวันจันทร์ จะเป็นการสอนลูกอย่างชาญฉลาดถึงค่าของการให้เกียรติในภาระผูกพันที่มีต่อใครคนใดคนหนึ่ง
ข้อห้า - เงินค่าขนมไม่ใช่เครื่องมือบังคับ พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการขู่ว่าจะไม่ให้เงินค่าขนม นอกจากว่า เงินค่าขนมจะถูกจำกัดอยู่กับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายบางอย่าง ถ้าค่าขนมเกี่ยวข้องกับงาน ก็ต้องแน่ใจว่าได้มีการตกลงกันอย่างนั้นจริงๆ และพ่อแม่ก็มีสิทธิยกเลิกเงินค่าขนม หากลูกทำงานชิ้นนั้นไม่สำเร็จ และ ข้อหก-ทำรายงานการใช้เงิน พ่อแม่บางคนต้องการให้ลูกรายงานว่าใช้เงินทำอะไรไปบ้าง กิจกรรมนี้สามารถเตรียมเด็กให้รับมือกับเงินก้อนใหญ่และจัดการกับสมุดเช็คได้ ซึ่งพ่อแม่อาจจะให้คำแนะนำที่มีประโยชน์ว่า จะนำเงินไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร
"ค่าขนม" ที่พ่อแม่มองว่า "เรื่องเล็กๆ" อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของ "เรื่องใหญ่" ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม
ยังไม่ทันหมดเรื่องนี้ ก็มีข้อความจากคุณแม่ส่งมาถามว่า ลูกชอบซื้อของเล่นราคาแพงอย่างฟุ่มเฟือย ปัญหาคือ คุณแม่ไม่อนุญาต แต่ลูกก็รู้ทัน ไม่ขออนุญาตคุณแม่ แต่ไปขออนุญาตคุณพ่อ ซึ่งคุณพ่อก็จะซื้อให้ทุกครั้ง
เรื่องนี้แก้ที่ลูกอาจจะไม่ตรงจุด แนะนำให้คุณแม่ "แก้" ที่คุณพ่อให้ได้ก่อน ถ้าแก้ได้ ที่เหลือก็ไม่มีอะไรยาก
......................................
(เงินค่าขนม : คอลัมน์วันอาทิตย์คิดเรื่องเงิน : โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล [email protected])