
'เขตปกครองพิเศษ'ภาคใต้อาจขัดรธน.
'เขตปกครองพิเศษ'ภาคใต้ รูปแบบยังไม่ชัด-อาจขัดรธน. : ทีมข่าวความมั่นคงรายงาน
กลายเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมาทันทีเมื่อมีข่าวว่า 1 ในข้อเสนอ 5 ข้อของกลุ่มบีอาร์เอ็น คือ การเสนอขอเป็น "เขตปกครองพิเศษ" ภายใต้รัฐธรรมนูญไทยในรูปแบบเดียวกับ กรุงเทพฯ และพัทยา แต่ก็ยังไม่มีตัวแทนของฝ่ายใด ทั้งในส่วนของกลุ่มบีอาร์เอ็น หรือตัวแทนรัฐบาลไทยออกมายอมรับ
ทั้งยังทำให้เกิดความสับสนว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะหมายถึง "เขตปกครองตนเอง" จึงทำให้ตัวแทนรัฐบาลไทยไม่ยอมเปิดเผยข้อเสนอ 5 ข้อของกลุ่มบีอาร์เอ็นมาจนถึงทุกวันนี้ !?!?
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการด้านความมั่นคง มองว่า เนื่องจากยังไม่มีตัวแทนฝ่ายใดออกมาเปิดเผยว่า ข้อเสนอที่แท้จริงเป็นอย่างไร จึงทำให้แสดงความคิดเห็นได้ยาก เพราะอาจจะไม่ตรงกับข้อเสนอที่แท้จริงก็เป็นได้
"ยังไม่ค่อยชัดว่า ข้อเสนอของบีอาร์เอ็นจะเป็นเขตปกครองพิเศษ หรือเขตปกครองตนเอง (Autonomous Zone) เพราะที่ผ่านมาทั้งกลุ่มพูโล และบีอาร์เอ็นเก่า ต่างก็ต้องการการแบ่งแยกดินแดน หรือเขตปกครองตนเองมาตลอด แต่วันนี้กลับต้องการเพียงเขตปกครองพิเศษ ซึ่งผมมองว่า ทุกวันนี้รูปแบบของศอ.บต. ก็ใกล้เคียงเขตปกครองพิเศษอยู่แล้ว"
รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า การเสนอเขตปกครองพิเศษสามารถทำได้ เพราะไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญไทย และสามารถออกเป็นพ.ร.บ.ได้ แต่อำนาจของเขตปกครองพิเศษก็มีจำกัด ส่วนใหญ่เป็นอำนาจเกี่ยวกับเทศบาล ไม่สามารถดำเนินนโยบายหลักๆ เช่น การจัดการศึกษา หรือจัดเก็บภาษีเองได้ ซึ่งไม่แน่ใจว่า รูปแบบการปกครองแบบนี้จะตรงกับความต้องการของฝ่ายผู้ก่อเหตุหรือไม่
เขายังเสนอแนะด้วยว่า เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อเสนอที่ออกมามีความสับสน จึงควรมีแนวทางปฏิบัติดังนี้ 1.เรา (รัฐบาลไทย) ต้องตีกรอบว่า ข้อเสนอต่างๆ สามารถทำได้แค่ไหนถึงจะยอมรับกันได้ 2.ควรมีการนั่งแถลงคู่กันว่า ข้อเสนอในการเจรจาเป็นอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้มีการให้ข่าว หรือออกเว็บไซต์ยูทูบภายหลังเหมือนเช่นที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดความสับสนมาก
รศ.ปณิธาน ทิ้งท้ายว่า สุดท้ายแล้วการเจรจาอาจจะไม่ได้ข้อสรุปอะไร นอกจากการหวังผลทางการเมืองของทั้งสองฝ่าย โดยจะเห็นได้ว่า รัฐบาลมาเลเซียได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 1 ที่นั่งในพื้นที่ทางตอนเหนือของมาเลเซีย ซึ่งปกติจะเป็นเรื่องที่ยากมาก ขณะที่กลุ่มบีอาร์เอ็นได้ยกระดับสถานะ "อย่างเป็นทางการ" ในเวทีโลกเป็นครั้งแรก ส่งผลให้กลุ่มอื่นในพื้นที่ก่อเหตุรุนแรงขึ้นเพื่อแสดงตัวตนขึ้นมา
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) กล่าวว่า รูปแบบการปกครองที่เขาส่งมาให้เราดูสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างไรก็ตาม การพิจารณาจะต้องเกิดขึ้นจากหลายฝ่าย ที่สำคัญจะต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย และรัฐธรรมนูญของไทย
"รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษจะต้องสอดคล้องความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ การจัดการในรูปแบบของการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษก็ถือเป็นข้อเสนอของภาคประชาสังคม และนักวิชาการในพื้นที่เช่นกัน โดยมีถึง 7 รูปแบบที่เป็นทางเลือก" ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
ผศ.ดร.ศรีสมภพ ระบุว่า รูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษจะต้องมีฐานโดยตรงจากประชาชน ทั้งในเรื่องการคลัง การเก็บภาษี รวมถึงประเด็นในด้านเทคนิคต่างๆ อย่างไรก็ตาม อำนาจที่เกี่ยวกับความมั่นคงทั้งทางด้านการทหาร หรือตำรวจ ก็จะต้องมีการพูดกันในเชิงลึกเป็นพิเศษ ส่วนการแบ่งสรรงบประมาณสู่ท้องถิ่นอาจจะมากขึ้นกว่าในรูปแบบปกติ ซึ่งรูปแบบจะคล้ายกับกทม. โดยรัฐบาลจะควบคุมดูแล ซึ่งการดูแลอาจจะให้กระทรวงมหาดไทยดูแลในส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น แต่ส่วนภูมิภาคอาจจะต้องลดบทบาทไป โดยการจัดการอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ
"ภาคอื่นของประเทศก็มีข้อเรียกร้องในลักษณะนี้เหมือนกัน แต่เรื่องดังกล่าวจะต้องใช้ระยะเวลาอีกนานในการพิจารณา ซึ่งในหลักการถ้ารัฐบาลเห็นว่าไม่ขัดกฎหมายก็คงยอมรับได้ในหลักการ แต่ขั้นตอนการปฏิบัติจะต้องมีการพูดคุยกันเป็นขั้นตอน โดยต้องผ่านกระบวนการรัฐสภา เพราะรัฐบาลไม่มีอำนาจตัดสินใจ" ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังไฟใต้ กล่าว
ขณะที่แหล่งข่าวความมั่นคงระดับสูงในพื้นที่มองข้อเสนอเรื่องเขตปกครองพิเศษว่า สำหรับหน่วยงานความมั่นคงคงไม่รับอยู่แล้ว และอยากถามด้วยว่า ประชาชนในพื้นที่เขาต้องการหรือไม่ ซึ่งกลุ่มบีอาร์เอ็นพูดเพียงฝ่ายเดียว โดยที่ไม่มีเสียงจากประชาชนในพื้นที่เลย ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องถามคนในพื้นที่ และอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ
"ตอนนี้กลุ่มบีอาร์เอ็นพยายามเดินเกมในทุกรูปแบบ เพราะเมื่อแบ่งแยกเอกราชไม่ได้ จึงเดินหน้าในเรื่องเขตปกครองพิเศษแทน คล้ายเป็นการลดระดับลงมา ส่วนที่เขาอ้างว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2550 มันก็เข้าข่าย เพียงแต่มันล่อแหลม และส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เพราะมันยังไม่มีโมเดลให้ดูว่าจะออกมาลักษณะไหน"
แหล่งข่าวความมั่นคงในพื้นที่คนเดิมตั้งคำถามด้วยว่า ในเขตปกครองพิเศษนั้น เรื่องการทหาร หรือตำรวจใครจะดูแล รวมทั้งเรื่องการจัดแบ่งผลประโยชน์ในท้องถิ่นด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ไม่ใช่ปล่อยให้ตกเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
..........................
(หมายเหตุ : 'เขตปกครองพิเศษ'ภาคใต้ รูปแบบยังไม่ชัด-อาจขัดรธน. : ทีมข่าวความมั่นคงรายงาน)