
สัมผัสวิถีชาวบ้านหลังเขื่อนป่าสักเลี้ยงแพะแกะ-รวมกลุ่มสร้างอาชีพ
อาจ เพราะ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.ลพบุรี และสระบุรี อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก ระยะทางแค่ร้อยกว่ากิโลเมตร ขับรถชั่วโมงเศษก็ถึง จึงมีประชาชน นักท่องเที่ยว เดินทางแวะไปเยี่ยมชมไม่ขาดสายในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ยิ่งช่วงเทศกาลดอกทาน
ด้วยไม่ไกลจากเส้นทางหลัก ตัวเขื่อนตั้งอยู่ในเขต ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ส่วนพื้นที่อ่างเก็บน้ำกินพื้นที่ไปถึง จ.สระบุรี เขื่อนแห่งนี้จึงเป็นที่แวะพักรถ ก่อนเดินทางต่อไปยังจังหวัดอื่น อย่างใครที่ใช้ถนนมิตรภาพจะไปเขาใหญ่ นครราชสีมา หรือจังหวัดทางภาคอีสาน หากไม่รีบเร่งจนเกินไปอาจจอดรถสูดอากาศเย็นสบายสักครู่แล้วค่อยไปต่อ หรือใครที่จะเข้าตัวเมืองสระบุรีเพื่อไปยังจ.เพชรบูรณ์ ก็อาจเลี้ยวเข้ามาเติมอากาศบริสุทธิ์ชมเขื่อนก่อนก็ได้
ไม่เฉพาะเขื่อนแห่งนี้จะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ หรือที่สถานท่องเที่ยวเท่านั้น ผลจากโครงการนี้ได้ทำให้ราษฎรในพื้นที่ ทั้งที่อยู่หน้าเขื่อน ริมเขื่อน หลังเขื่อน มีอาชีพใหม่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะทำประมง แปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากปลา ผลิตภัณฑ์งานฝีมือของกลุ่มแม่บ้านต่างๆ ด้านปศุสัตว์ก็มีการเลี้ยงโค กระบือ แพะ แกะ ส่วนเหล่าแม่บ้านก็จะมีการรวมกลุ่มกันสร้างอาชีพในหลายพื้นที่
อย่างที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย คุณธรรมนันท์ จันทรมณี ผอ.ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ได้พาคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมเกษตรกร และกลุ่มเกษตรตัวอย่าง ผลิตผลหลังจากโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์แล้วเสร็จสมบูรณ์
เริ่มจากลุยฟาร์มเลี้ยงแพะ แกะ "ไร่คุณสุขฟาร์ม" ของ คุณเชาวรัตน์ อ่ำโพธิ์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2552 ซึ่งตั้งอยู่ที่ 301 หมู่ 1 บ้านลำสมพุง ต.ลำสมพุง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ทำให้ได้รับรู้ถึงวิธีการเลี้ยงสัตว์ 2 ชนิดนี้ว่ากว่าจะกลายเป็นอาหารชั้นเลิศในภัตตาคารหรู เป็นผลิตภัณฑ์แสนสวยมากด้วยคุณค่า ขั้นตอน วิธีการ กว่าจะได้มานั้น ผู้ประกอบกิจการต้องใช้ความอดทน ความละเอียด พิถีพิถันอย่างมาก หากไม่มีจิตใจที่รักจริงในอาชีพนี้
"ที่สนใจเลี้ยงแพะและแกะ เพราะเห็นว่าเป็นสัตว์ที่เจริญเติบโตได้ในสภาพอากาศร้อนและชื้นอย่างบ้านเราได้ดี อีกทั้งเป็นสัตว์ที่มีต้นทุนการเลี้ยงไม่แพงนัก มีความสามารถในการใช้พืชผลทางการเกษตรต่างๆ ทั้งใบ ผล เป็นอาหารได้ รวมถึงผลตอบแทนจากการเลี้ยงดีกว่าสัตว์เศรษฐกิจตัวอื่นๆ" คุณเชาวรัตน์ ให้มุมมองถึงข้อดีในการเลี้ยงแพะ แกะ หลังพาคณะชมฟาร์มซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 55 ไร่ มีพ่อและแม่พันธุ์แพะแกะทั้งสายพันธุ์เนื้อ พันธุ์นม รวมกว่า 700 ตัว โดยใช้พื้นที่ทั้งหมดเป็นที่ตั้งของคอกเลี้ยงและแปลงหญ้าสำหรับเป็นอาหาร
เกือบ 10 ปี กับความทุ่มเทให้การประกอบอาชีพ คุณเชาวรัตน์บอกว่า ได้พัฒนาการเลี้ยง รวมทั้งพัฒนารูปแบบฟาร์ม ทำให้วันนี้คุณสุขฟาร์ม กลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคการจัดการบริหารฟาร์มแพะ แกะ ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งของเกษตรกรผู้สนใจและสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ
"ได้ร่วมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ ต.ลำสมพุง ก่อตั้งชมรมส่งเสริมและพัฒนาพันธุ์แพะ แกะ อ.มวกเหล็กขึ้น โดยผมเป็นประธานตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ใน 30 จังหวัด เกือบ 200 ฟาร์ม มีการประชุมคณะกรรมการและสมาชิกทุก 3 เดือน เพื่อกำหนดแนวทางทั้งเรื่องการเลี้ยง การตลาด การป้องกันรักษาโรค การขยายพันธุ์ ฯลฯ"
ผลจากความพยายาม ทั้งด้านกิจกรรมความคิดริเริ่ม การฟันฝ่าอุปสรรค การแก้ไขปัญหาต่างๆ ทำให้คุณชวรัตน์ ได้รับเลือกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เป็นเกษตรกรดีเด่นระดับชาติ ประจำปี 2552 สาขาอาชีพการเลี้ยงสัตว์ เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ พลับพลาที่ประทับมณฑลพิธีท้องสนามหลวง
เช่นเดียวกับ ศูนย์ส่งเสริมหัตถกรรมหมู่บ้านลานทอง ซึ่งตั้งอยู่ที่ 11/3 แห่ง ต.วังม่วง อ.วังม่วง จ.สระบุรี อีกหนึ่งตัวอย่างของกลุ่มคนริมเขื่อน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันจัดสร้างอาชีพขึ้นช่วยเหลือคนในชุมชน โดยการนำของ คุณบานเย็น สอนดี ที่มีความตั้งใจอย่างแรงกล้า พัฒนา ปรับปรุง ผลิตภัณฑ์จักสานจากใบลานอันหลากหลาย ซึ่งเกิดจากฝีมือของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็น หมวกคาวบอย หมวกสตรีปีกกว้าง กระเป๋าสตรี ฯลฯ
ผลงานทุกชิ้นเหล่านี้ คุณบานเย็น ประธานศูนย์ การันตีได้ถึงฝีมือที่ประณีต สวยงาม ของบรรดาสมาชิกกลุ่มที่มีกว่า 20 ชีวิต โดยเฉพาะหมวกสตรีปีกกว้าง และหมวกคาวบอยนั้น มีออเดอร์จากบริษัทส่งออกต่างประเทศ ทั้งจากญี่ปุ่น เกาหลี อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญผลงานเหล่านี้ได้รับรางวัลโอท็อป 5 ดาว ระดับจังหวัดเกือบทุกชิ้น
"อาจเพราะผลงานแต่ละชิ้นใช้เวลาราว 4-5 วันกว่าจะครบขั้นตอน จึงทำให้งานนั้นได้รับความนิยมจากลูกค้ามาก ยิ่งความประณีต พิถีพิถัน ในลวดลายต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ มีตำหนินิดเดียวก็ผ่านไม่ได้ ขณะที่วัตถุดิบคือใบลานกว่าจะเป็นเส้น สะอาด พร้อมสาน ก็จะต้องผ่านกระบวนการมากมาย" ประธานศูนย์ แจงและฝากถึงผู้ที่สนใจในผลิตภัณฑ์ ให้สอบถามรายละเอียดไปได้ที่ศูนย์ หรือโทร.08-1852-6354 ยินดีให้ความร่วมมือตอบทุกคำถาม หรือหากท่านใดสนใจจะไปเรียนรู้วิชา เธอและสมาชิกก็ยินดีจะให้ความรู้ด้วยเช่นกัน ขอให้มีใจรักในงานจริงเท่านั้นเป็นพอ!
ธานี กุลแพทย์