
ภูมิธรรม:'ยืดหยุ่นไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า'
'ยุทธศาสตร์พรรคคือ ยืดหยุ่น ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า' : สัมภาษณ์พิเศษ ภูมิธรรม เวชยชัย โดยสมัชชา หุ่นสาระ, สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์
ในภาวะที่รัฐบาลเจอปัญหาอุปสรรคมากมาย ทั้งในสภาและนอกสภา "ภูมิธรรม เวชยชัย" เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ "สำนักข่าวเนชั่น" เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในช่วงนี้ จังหวะก้าวเดินในเรื่องต่างๆ ของรัฐบาล และมุมมองต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเเละรมว.กลาโหมหญิงคนแรกของประเทศ ที่อาจจะแตกต่างไปจากหลายๆ คน
-สถานการณ์การเมืองตอนนี้ เหมือนยิ่งห่างไกลจากความปรองดอง เวทีปฏิรูปการเมืองของรัฐบาลก็เหมือนจะมีแต่คนฝ่ายรัฐบาลที่เข้าร่วม
ไม่จริง คนที่มาร่วมเวทีนี้ส่วนใหญ่เป็นคนกลางๆ เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมและไม่ใช่คนในฝ่ายรัฐบาล เช่น นายพิชัย รัตตกุล (อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์), นางมุกดา อินต๊ะสาร (ครูที่ จ.พะเยา ซึ่งเคยได้รับรางวัลมากมาย รวมทั้งรางวัลต่อสู้กับความยากจน (The Race Against Proverty Award) จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในปี 2542), ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล, นายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาเเละพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล, ภาคเอกชน คนส่วนนี้มาร่วมเพราะคิดว่าบรรยากาศและโอกาสที่จะหาจุดร่วมนั้นยังมี หากไม่มีเวทีคุยกัน ปัญหาไม่จบ แต่เมื่อคุยเเล้วแก้ปัญหาได้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง ผมมองว่าเป็นบรรทัดฐานที่ดี และเรื่องนี้ตรงกับโพลล์ เพราะคนในประเทศส่วนใหญ่มองว่า ประเทศเสียโอกาสมาพอควร และควรเดินหน้าได้แล้ว นายกฯ หวังน้อย คือหวังจากการสำเร็จในการเริ่มต้นที่ร้อยละ 1 นายกฯ บอกพวกผมว่าอย่าท้อถอย เพราะความขัดแย้งเกิดมา 7 ปีแล้ว มันควรจะเริ่มต้นแก้ได้แล้ว
ความหวังนั้นต้องมีเพราะเราเป็นมนุษย์ หลายคนที่ช่วยผลักดันเวทีนี้ผมและคณะก็เคยไปคุยกับบางฝ่ายมาแล้ว และมีความรู้สึกคล้ายกันว่า สิ่งใดหาทางร่วมกันได้มันก็ดี และต้องเริ่มต้นและเริ่มคิดว่าอีกฝ่ายมองอย่างไร จากนั้นมองหาจุดร่วม สิ่งใดเริ่มได้ก็ทำเลย ไม่ต้องรอหาข้อยุติโดยรวมทั้งหมด ตรงนี้คือท่าทีเป็นจริงและเวทีนี้ไม่บังคับให้เชื่อเสียงส่วนใหญ่
-ความหวังคือชวนพรรคประชาธิปัตย์มาร่วม
ความขัดแย้งบางประเทศใช้เวลาแก้ 30 ปี ผมไม่กล้าคิดว่าฝ่ายค้านหวังอะไร สังคมไทยไม่ได้ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ แต่สังคมไทยประกอบด้วยทุกฝ่าย เวทีนี้ต้องกว้างสุดและรับฟังทุกฝ่ายเพื่อทยอยลดความขัดแย้งลง ตรงนี้ถือว่าเริ่มเดินหน้าแล้ว ความขัดแย้งของสังคมไทยในหลายปีมันใช้เวลาสั้นๆ แก้คงไม่ได้ ตอนนี้คือแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างไว้ก่อน
-ความขัดแย้งที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่ร่างพ.ร.บ.ปรองดองมากกว่าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับที่นายวรชัย เหมะ เสนอ
ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมอยู่ช่วงเริ่มต้นเอง ควรรอกรรมาธิการหารือและตัดสินก่อน เรื่องนี้นั้นคงจะใช้เวลาอีกพักใหญ่ เพราะดูการประชุมรัฐสภาช่วงนี้สิ(ยิ้ม)
-ช่วงนี้พรรคประชาธิปัตย์เดินสายรวมกับ12กลุ่มเพื่อเปิดเวทีใหม่
สังคมควรตรวจการบ้าน ข้อเสนอทุกฝ่ายมีคุณค่า แต่สิ่งที่รัฐบาลเริ่มไว้นั้นไม่เคยคิดแย่งชิงกับใคร มองเพียงว่าเชิญทุกฝ่ายให้มาร่วมมากสุดและมอบให้นายบรรหาร ศิลปอาชา ดำเนินการ นายกฯ ไม่ได้ดึงเรื่องนี้ไว้ทำด้วยตัวเอง ยอมรับว่าสังคมขัดแย้งจนมีความไม่วางใจกัน แต่บุคคลสำคัญหลายคนในบ้านเมืองก็ไม่ปฏิเสธเวทีนี้ของรัฐบาล ตรงนี้คือท่าทีที่เป็นบวก มันเพิ่งเริ่มต้นเป็นครั้งแรกและน่าจะมีความคลี่คลายของปัญหา ผมชอบฟังความเห็นที่ขัดแย้งกับแนวทางของพวกผม สิ่งใดควรรับฟังก็โอเค และใช้เวลาพิสูจน์ แต่หลายเรื่องยามนี้มีความแตกต่างสองขั้วบนโลกยุคใหม่ เพราะมีหลายฐานความคิด ความพยายามมุ่งล้มรัฐบาลนั้น ผมไม่อยากใช้คำคำนี้ แต่หลายอย่างที่บางกลุ่มกระทำไม่ให้รัฐบาลเดินหน้า
ผมไม่สบายใจวิธีการในรัฐสภาตอนนี้เหมือนเล่นเกมทางการเมืองแบบชิงไหวชิงพริบกัน วิธีแสดงออกแบบรุนแรงในรัฐสภาของแต่ละฝ่าย บางเรื่องผมผิดหวังกับท่าทีของผู้ใหญ่ในพรรคฝ่ายค้าน และควรประณามพฤติกรรมแบบนี้ไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก พรรคเพื่อไทยก็ตำหนิ ส.ส.ในพรรคที่ทำแบบนี้เช่นกัน สังคมประชาธิปไตยควรงดงามและควรมีบรรทัดฐาน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นแบบนี้ โพลล์ระบุประชาชนร้อยละ 80 ประณามสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐสภา
-วันนี้แต่ละฝ่ายสะกดคำว่าประชาธิปไตยต่างกัน คนการเมืองจะนัดคุยนอกรอบเพื่อหาข้อยุติหรือไม่
108 เวทีก็สรุปความเห็นชาวบ้านแบบนี้ ของแบบนี้นักการเมืองต้องช่วยกันจัดการ ย้ำว่าไม่มีอะไรสำเร็จในเวลาสั้นๆ หากทำไปแล้วเจอทางตัน ก็อาจมอบอำนาจให้ประชาชนตัดสินตามครรลองและตามระบบ ไม่มีรัฐบาลใดอยากยุบสภา แต่ต้องเตรียมความพร้อมไว้
-โพลล์บางสำนักระบุหากวันนี้เลือกตั้งประชาชนร้อยละ 44 เลือกพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 22 เลือกพรรคประชาธิปัตย์และเมื่อโพลล์ออกมาแบบนี้สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการไปในช่วงนี้คล้ายว่าไม่มีผล
ผลโพลล์ออกมาก็มีกำลังใจในสิ่งที่ประชาชนไว้ใจ และต้องดูว่าส่วนที่ขาดไปนั้นเป็นเพราะอะไรและทบทวน ย้ำว่ายังไม่รีบยุบสภา แม้พรรคอาจได้เปรียบก็ตาม ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้น ไม่ขอวิจารณ์ แต่เมื่อโพลล์ออกมาแบบนี้พรรคประชาธิปัตย์ควรพิจารณาตัวเองด้วยว่าควรทำอย่างไร
สังคมไทยและประชาธิปไตยไม่ต้องการวิธีนอกกฎหมาย แต่ต้องการสิ่งถูกต้อง จริงๆ พรรคนั้นมีบุคลากรไม่น้อยที่มีศักยภาพ แต่เสียดายคนพวกนี้ ที่ไม่มีโอกาส ตรงนี้ควรตอบโจทย์ตัวเอง เช่นข้อเสนอของนายอลงกรณ์ พลบุตร หากพรรคนั้นดำเนินการเรื่องนี้ พรรคเพื่อไทยจะเหนื่อยขึ้น หากไม่ทำการปฏิรูปพรรค พรรคเพื่อไทยก็สบาย
ผมตกใจการปราศรัยของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็สบายใจนะที่เป็นแบบนี้(ยิ้ม) เพราะใช้อารมณ์นำเหตุผล สังคม วันนี้หากปล่อยไปไม่ใช่ผลดีกับประเทศเลย แม้ผมทำงานให้พรรคแต่ก็ฟังสังคม ไม่ใช่อิงแต่อุดมการณ์พรรค เพราะบางอย่างพรรคอาจพลาด แต่ก็ต้องฟังสังคมและปรับปรุง
-เวทีรัฐสภาวันนี้สร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา
มันต้องแก้ได้ ต้องให้โอกาสประชาธิปไตยทำงาน หากใครมองแบบนั้นว่าสภามีแต่ปัญหาและน่าเบื่อ มันจะเปิดโอกาสให้อำนาจนอกระบบเข้ามา ส่วนสิ่งที่บางฝ่ายมองว่าพรรคเพื่อไทยบางครั้งอดทนน้อยและใช้มติเสียงข้างมากลงมติบางเรื่องนั้น พรรคพยายามอดทนแล้ว แต่ถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันอาจเกินความอดทนแล้ว(หัวเราะ) ถามว่าอภิปรายวันนี้ฝ่ายค้านลงชื่อแปรญัตติ 200 กว่าคนเพื่อยื้อเวลานั้น เรื่องนี้สังคมควรมองเอาเอง พรรคเพื่อไทยทำตามข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญแล้วในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ
หากรัฐบาลทำสิ่งไม่ถูกต้ององค์กรอิสระอำนาจมหาศาล สื่อก็มีอำนาจ การตรวจสอบวันนี้อาจมากไปด้วยซ้ำ วันนี้รัฐบาลทำสิ่งใดได้ก็ทำ อะไรทำไม่ได้ก็ปล่อยตามสภาพ ยุทธศาสตร์พรรคคือยืดหยุ่น ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า
-มองข้อวิจารณ์ของนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญในหลายเรื่องเกี่ยวกับรัฐบาลอย่างไร
ควรช่วยกันดู เพราะผู้นำฝ่ายค้านวันนี้เพี้ยนไปแล้วในการใช้คำผรุสวาท อย่าลืมว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คืออดีตนายกฯ และเคยเป็นประมุขฝ่ายบริหาร สิ่งที่นายอภิสิทธิ์กระทำในช่วงนี้มันเหลือเชื่อและเหนือความคาดหมายนะ เหมือนกับสิ่งที่นายวสันต์ได้ทำลายกรอบประเพณีที่อดีตผู้พิพากษาอาวุโสได้ปฏิบัติกัน อย่าลืมว่านายวสันต์คืออดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ปกติแล้วตุลาการจะไม่ย้อนมาพูดในสิ่งที่ได้กระทำไปแล้วเพราะไม่เหมาะ การแสดงความเห็นของนายวสันต์คราวนี้เสมือนการชี้นำและทำให้สังคมไม่สบายใจ สิ่งที่นายวสันต์ระบุบางเรื่องนั้น ผมมองว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยด้วยซ้ำ ผมหวังว่านายวสันต์น่าจะไปทบทวนและน่าจะเสียใจกับสิ่งที่ได้กระทำไปแล้ว
-กังวลตุลาการภิวัฒน์หรือไม่
อะไรก็เกิดขึ้นได้ในสังคมที่เป็นแบบนี้ แต่ไม่ตกใจเหมือนในอดีต เพราะเรียนรู้มาเเล้ว พรรคจึงระวัง ยืดหยุ่น ไม่ทำสิ่งสุ่มเสี่ยง หากเกิดอะไรขึ้นประเทศจะรับผลกระทบ คนในสังคมวันนี้ตื่นตัวและไม่ยอมให้สิ่งผิดทำนองคลองธรรมเกิดขึ้นอีก บางคนอาจหวังเข้าไปอยู่ในบางมุมที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างปัญหาให้สังคมได้
-บางฝ่ายอ้างแย้งว่า สิ่งที่นายภูมิธรรมอ้างว่าสังคมไทยเพี้ยนนั้น ความเพี้ยนเกิดจากพรรคไทยรักไทยได้ก่อไว้ เช่น การทุจริต เพราะล่าสุดมีการตัดสินอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลไทยรักไทยว่าทุจริต (กรณีรถ-เรือดับเพลิง) จนเกิดคำว่า โกงทั้งตระกูล
สรุปแบบนี้อาจไม่ตรงความจริง สังคมควรมองแบบเป็นธรรม และใช้หลักเกณฑ์ตัดสิน ควรเเยกเป็นรายกรณี และควรดูคำวินิจฉัยของศาลในการตัดสินคดีนั้นๆ ด้วย ความเห็นประชาชนสะท้อนใน 108 เวทีว่าสังคมเกิดปัญหาเพราะการตัดสินในกระบวนการยุติธรรมบางเรื่องนั้นสองมาตรฐาน เรื่องแบบนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรทบทวนกันด้วย การวิจารณ์นั้นทุกฝ่ายวิจารณ์กันได้ วันนี้ผมมองว่าทุกฝ่ายควรสังคายนาตัวเองครั้งใหญ่กันด้วย
-นายกฯ โดนวิจารณ์หลายเรื่อง โดยเฉพาะการไม่ตอบคำถามในหลายปัญหาสำคัญรวมทั้งการเดินสายต่างประเทศบ่อยครั้ง
2 ปีสังคมมองนายกฯ ว่าไหวหรือไม่และเป็นผู้หญิง วันนี้สังคมยอมรับนายกฯ นะ แม้แต่กองทัพก็เห็นความจริงใจของนายกฯ ส่วนสิ่งที่หลายฝ่ายมองว่านายกฯ ชี้แจงไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง ผู้นำประเทศแต่ละคนมีวิธีในการตอบคำถามแตกต่างกัน อดีตนายกฯ เมืองไทยสไตล์ไม่ตอบคำถามต่างกันนะ เช่น กลับบ้านเถอะลูก โนพร็อบเบลม เป็นต้น ส่วนการเดินสายต่างประเทศของนายกฯ นั้น ทูตหลายประเทศคุยกับผมนั้นมันคนละแบบกับสิ่งที่บางฝ่ายวิจารณ์เลยนะ โดยดูผลตอบรับที่กลับมาสิ มันดีกว่าบางคนที่เคยเป็นอดีตนายกฯ แต่ไปไหนไม่ได้ อยู่แต่ในประเทศ บางเรื่องวิจารณ์นายกฯ กันได้ เพราะมันคือความจริง เช่น ไม่ค่อยไปประชุมสภา แต่อย่าลืมว่า นายกฯมีภารกิจเยอะและพยายามแบ่งเวลาและบริหารจัดการให้คนอื่นมาช่วย ย้อนดูได้ในอดีตไม่มีนายกฯ คนไหนเข้าสภาเสมอหรอก
..................
(หมายเหตุ : 'ยุทธศาสตร์พรรคคือ ยืดหยุ่น ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า' : สัมภาษณ์พิเศษ ภูมิธรรม เวชยชัย โดยสมัชชา หุ่นสาระ, สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์)