
แผนเนรเทศ...'แรงงานต้มยำกุ้ง'
แผนเนรเทศ...'แรงงานต้มยำกุ้ง' : ทีมข่าวรายงานพิเศษ
ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียส่งเสียงขู่ดังมาถึงประเทศไทยหลายครั้ง เรื่องปัญหาคนไทยลักลอบเข้าทำงานในมาเลเซียโดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว ล่าสุดอธิบดีกรมตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซีย ประกาศชัดเจนว่า เริ่มจากวันที่ 1 กันยายน 2556 จะใช้มาตรการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวครั้งใหญ่สุดของประเทศ เป้าหมาย คือ เนรเทศแรงงานผิดกฎหมายกว่า 5 แสนคนออกนอกมาเลเซียภายใน 3 เดือน
สื่อท้องถิ่นแดนเสือเหลือง รายงานว่า “อาเลียส อาหมัด” อธิบดีกรมตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซีย เปิดเผยแผนปฏิบัติการ 3 เดือนว่า จะเริ่มเปิดฉากโดยใช้เจ้าหน้าที่ไม่ต่ำกว่าแสนคนทั่วประเทศ ตรวจสอบเอกสารทำงานของแรงงานต่างชาติทุกคนว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน อินโดนีเซีย บังกลาเทศ และเนปาล เชื่อว่าแผนนี้อาจทำให้ต้องเนรเทศแรงงานต่างด้าวมากกว่า 5 แสนคน พร้อมอ้างปัญหาเรื่องจำนวนคดีอาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวมาเลเซีย
“สมบัติ นิเวศรัตน์” ผอ.สานักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน ยอมรับว่า ยังไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลมาเลเซียเกี่ยวกับนโยบายเนรเทศแรงงานผิดกฎหมาย หากเป็นจริงน่าเป็นห่วงแรงงานไทยที่นั่นไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนคน ส่วนใหญ่ทำงานในร้านอาหารต้มยำกุ้ง ที่มีอยู่หลายสาขาทั่วมาเลเซียรวมถึงร้านนวดไทย และนิยมใช้วีซ่านักท่องเที่ยวไม่ได้ไปขึ้นทะเบียนขอวีซ่าทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากราคาค่าทำวีซ่าทำงานสูงถึงปีละ 2.7 หมื่นบาท ทำให้ไม่มีใครอยากเสียเงินในส่วนนี้ นิยมใช้วีซ่าท่องเที่ยวมีอายุ 1 เดือน สามารถเข้าๆ ออกๆ ระหว่างประเทศได้ง่ายและประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า
“แรงงานไทยส่วนใหญ่ไปจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รายได้สูงกว่าทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นชอบไปทำงานที่นั่น รู้สึกมีอิสระมากกว่า หากอยู่ในไทยต้องไปทำงานประมง หรือสวนยางพารา ไม่งั้นก็เป็นคนงานโรงงาน แรงงานรุ่นใหม่ไม่อยากทำงานแบบนี้ เลยหลั่งไหลไปทำงานที่นั่น ถ้ารัฐบาลมาเลเซียกวาดล้างจริง พวกเขาจะกลับมาเมืองไทยหางานใหม่ได้ไม่ยาก เพราะมีตำแหน่งงานในประเทศเหลืออีกมาก ไม่น่าเป็นห่วง ใครอยากรู้ว่ามีตำแหน่งงานอะไรว่าง ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่แรงงานประจำจังหวัดในพื้นที่ได้เลย” ผอ.สมบัติแนะนำ
ด้าน “ชาลี ลอยสูง” ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แสดงความเห็นว่า นโยบายข้างต้นไม่น่ากระทบแรงงานไทยในมาเลเซียมากนัก เพราะส่วนใหญ่เข้าไปทำงานแบบไปเช้า-เย็นกลับ บ้านพักอาศัยอยู่แนวเขตชายแดนเป็นหลัก ปัญหาการเนรเทศแรงงานผิดกฎหมายก็เหมือนเมืองไทย สุดท้ายไม่ได้ผลเพราะกลุ่มธุรกิจยังต้องการแรงงานจำนวนมากทำงานให้แบบจ่ายค่าจ้างถูกๆ ไม่สนใจว่าใครมีใบอนุญาตหรือไม่ เหมือนกรณีแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานพม่าในไทย ถึงแม้ไม่ถูกกฎหมายแต่รัฐบาลไทยผ่อนผันมาตลอด เพราะโรงงานต้องการคนงาน ช่วงแรกอาจกลับมาบ้างเพราะถูกจับ หรือกลัวโดนจับ ผ่านไปสักระยะพวกเขาก็หาทางกลับไปมาเลเซียทำงานแบบเดิม
“ประกาศเนรเทศแล้วใครจะทำงานให้ ร้านอาหารร้านนวดต้องปิดกิจการจำนวนเท่าไร รัฐบาลมาเลเซียรับผิดชอบไหวไหม ตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องเตรียมตัวคือ การดูแลค่าใช้จ่ายในการเดินทางสำหรับแรงงานที่ถูกผลักดันกลับมา ถ้าอยู่ทำงานอยู่ใกล้ชายแดนก็ไม่มีปัญหา ไม่น่าเป็นห่วง แต่กลุ่มที่ทำงานอยู่ลึกเข้าไปในเมืองกัวลาลัมเปอร์หรือเมืองอื่นๆ หรือเกาะต่างๆ อาจต้องใช้เครื่องบิน อย่าลืมว่าแรงงานเหล่านี้ส่งรายได้กลับมาเมืองไทยแต่ละปีจำนวนมหาศาล ผมคิดว่างานนี้ คุณเฉลิม อยู่บำรุง ต้องลงมาช่วยดูแลเรื่องนี้โดยตรง ย้ายมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้หลายเดือนแล้ว แต่ยังไม่มีผลงานช่วยเหลือแรงงานไทยให้เห็นเลย” นายชาลี กล่าว
สำหรับมาตรการลงโทษผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายนั้น มาเลเซียปรับสูงสุดถึง 1 หมื่นริงกิต หรือประมาณ 1 แสนบาท โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และอาจโดนเฆี่ยนได้เพราะกฎหมายอนุญาตให้เฆี่ยนไม่เกิน 6 ที บางกรณีถูกส่งไปกักขังยังค่ายกักกันก่อนส่งตัวกลับประเทศภูมิลำเนา ส่วนนายจ้างที่รับคนงานผิดกฎหมายมีโทษปรับตั้งแต่ 1-5 แสนบาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปีต่อลูกจ้าง 1 คน
ข้อมูลจากเว็บไซต์ "โครงการวิจัยชุดชายแดนไทย-มาเลเซีย" วิเคราะห์แรงจูงใจของการไปทำงานร้านอาหารไทยในมาเลเซีย เพราะแรงงานไทยต้องการเก็บเงินสะสม เช่น กรณีของ “ซูเบส ยีหมะ” เจ้าของร้านอาหาร Serbanika ให้สัมภาษณ์ว่า ภูมิลำเนาเป็นคน อ.จะนะ จ.สงขลา เคยทำงานเป็นผู้จัดการสาขาหนึ่งของธนาคารกรุงเทพ แต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ถูกเลิกจ้าง เพื่อนชวนมาหาทำงานในมาเลเซีย เริ่มจากล้างจานก่อน แล้วเลื่อนขั้นขึ้นมาเขียนบิล จากนั้นเริ่มชงเครื่องดื่มและทำอาหารง่ายๆ ประเภทผัด จนถึงขั้นได้ปรุงต้มยำกุ้ง ค่อยๆ สะสมประสบการณ์จนมีโอกาสเปิดร้านอาหารเป็นของตัวเอง
ชีวิตแรงงานไทยส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับกรณีข้างต้น เริ่มจากเงินเดือนประมาณ 1 หมื่นบาท แล้วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากใครขยันเก็บเงินได้มากก็จะไปเสาะหาหุ้นส่วนชาวมาเลเซียเปิดร้านต้มยำกุ้งของตนเอง หรือเปิดสาขาย่อยของร้านที่มีชื่อเสียงแล้ว
ข้อมูลกระทรวงมหาดไทยระบุว่า ปัจจุบันมีคนไทยทำงานในมาเลเซียทั้งสิ้น 2.3 แสนคน แบ่งเป็นสาขาต่างๆ เช่น ก่อสร้าง พนักงานนวด ร้านอาหารไทย ฯลฯ เฉพาะกลุ่มทำงานเกี่ยวกับร้านอาหารมีจำนวนมากสุดราว 1.5 แสนคน โดย 1.2 แสนคนเป็นแรงงานมาจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ที่เหลือมาจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น สงขลา พัทลุง ฯลฯ
ทั้งนี้ แรงงานไทยมาเลเซียกว่า 2.3 แสนคนนั้น มีกลุ่มที่ได้รับวีซ่าทำงานอย่างถูกกฎหมายประมาณ 1 หมื่นคน นอกนั้นเป็นกลุ่มลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ที่ผ่านมารัฐบาลมาเลเซียแกล้งปิดตาข้างหนึ่ง เพราะเข้าใจในสถานการณ์สู้รบและการก่อความไม่สงบพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย แต่ ณ วันนี้ รัฐบาลเสือเหลืองประกาศชัดเจนแล้วว่า ใครจะทำงานก็ได้แต่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นถูกผลักดันออกนอกประเทศของเขาอย่างแน่นอน ...
หลายคนเสนอให้แก้ปัญหาโดยขอรัฐบาลไทยช่วยเจรจากับมาเลเซีย เพื่อขอลดค่าวีซ่าทำงานสำหรับแรงงานไทย จากปัจจุบันที่เก็บสูงถึงปีละเกือบ 3 หมื่นบาทได้หรือไม่ หากเป็นไปได้เชื่อว่ามีหลายคนต้องการขออนุญาตทำงานอย่างถูกต้อง เพราะทุกวันนี้ไม่มีใครมีความสุขกับการทำงานแบบหลบๆ ซ่อนๆ ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ เพราะกลัวตำรวจมาจับ หากถูกจับได้ต้องเสียค่าปรับสูงถึงวันละ 2,000 บาทบวกค่าเข้าเมืองผิดกฎหมายอีกวันละ 300 บาท ใครดวงไม่ดีอาจถูกของแถมสั่งทำโทษจำคุกก่อนส่งกลับเมืองไทยด้วย
เบื้องลึกชีวิต...แรงงานต้มยำกุ้ง
"กุ๊กมือสอง" หรือผู้ช่วยพ่อครัวร้านอาหารต้มยำกุ้งแห่งหนึ่งในกัวลาลัมเปอร์ เปิดเผยชีวิตของเขาผ่านเว็บไซต์แห่งหนึ่งว่า ร้านอาหารไทยที่นั่นจะเปิดประมาณ 5 โมงเย็นถึงตี 2 ดังนั้นพวกเขาส่วนใหญ่ตื่นประมาณเที่ยงวันหรือบ่ายโมง เริ่มต้นวันใหม่ด้วยการทำความสะอาดปัดกวาดหน้าร้าน และเตรียมส่วนผสมอาหารต่างๆ เช่น เด็ดพริก ปอกหัวหอม ต้มน้ำซุป ฯลฯ เสร็จแล้วทำอาหารเช้า-เที่ยงกินกันเอง รอเวลาเปิดร้านตอนเย็น พอร้านปิดตี 2-3 ต้องเก็บกวาดล้างจาน เสร็จแล้วค่อยแยกย้ายกันไปทำกิจกรรมส่วนตัว ดูทีวี ฟังเพลง กว่าจะเข้านอนเกือบรุ่งขึ้นของวันใหม่
สำหรับวันหยุดนั้นจะมีโควตาประมาณเดือนละ 2 วัน รายได้โดยเฉลี่ยเดือนละ 1.2-1.5 หมื่นบาท ค่าใช้จ่ายหลักคือค่าเช่าบ้าน 2,000-5,000 บาทต่อเดือน หากใครวีซ่าท่องเที่ยวยังไม่หมดจะมีโอกาสได้ออกไปเดินเล่นช็อปปิ้งบ้าง แต่ถ้าใครวีซ่าหมด 1 เดือนแล้ว ต้องเก็บตัวไม่ไปไหนประมาณ 2-3 เดือน ระหว่างนั้นจะมีนายหน้ามารับพาสปอร์ตไปสแตมป์ต่อวีซ่าให้ครั้งละพันกว่าบาท แรงงานส่วนใหญ่อยู่ทำงานประมาณ 4 เดือนแล้วกลับไปพักผ่อนเมืองไทยราว 1 อาทิตย์ก่อนกลับเข้ามาเลเซีย วนเวียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเก็บเงินสะสมได้ครบตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
ค่าจ้างขั้นต่ำแรงงานไทยในมาเลเซีย (บาท/เดือน)
1 พนักงานนวดแผนไทย 20,000
2 ผู้ประกอบอาหารไทย 17,500
3 ภาคก่อสร้าง-งานทั่วไป 15,000
4 ผู้ช่วยผู้ประกอบอาหารไทย 15,000
5 ผู้ดูแลเด็ก-ผู้สูงอายุ 15,000
6 ผู้ช่วยแม่บ้าน 13,000
ข้อมูล : กรมการจัดหางาน 14 พฤษภาคม 2556
.....................
(หมายเหตุ : แผนเนรเทศ...'แรงงานต้มยำกุ้ง' : ทีมข่าวรายงานพิเศษ)