ข่าว

ขึ้นเหนือเยี่ยมชม'เชียงใหม่เฟรชมิลค์'

ขึ้นเหนือเยี่ยมชม'เชียงใหม่เฟรชมิลค์'

25 ส.ค. 2556

ขึ้นเหนือเยี่ยมชม'เชียงใหม่เฟรชมิลค์' ฟาร์มโคนมมาตรฐานแห่งอาเซียน : คอลัมน์ท่องโลกเกษตร : โดย...ดลมนัส กาเจ

               คณะของข้าราชการจากกรมปศุสัตว์และสื่อมวลชนราว 30 คนขึ้นรถตู้มาจากการเยี่ยมชมกิจกรรมเลี้ยงโคนมของเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน เลียบรอบเมืองเชียงใหม่ ฝ่าเปลวแดดครึ้มฝนมุ่งหน้าสู่ จ.ลำพูน โดยเป้าหมายปลายทางที่ "เชียงใหม่เฟรชมิลค์" ของบริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด ที่ ต.เหล่ายาว อ.บ้านโฮ้ง จ.ลำพูน ว่ากันว่าฟาร์มแห่งนี้เป็นฟาร์มโคนมที่ได้มาตรฐานสากล และใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่สุดในประเทศไทย เป้าหมายของผู้บริหาร "บัลลพ์กุล ทิพย์เนตร" ในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท ต้องเป็นฟาร์มมาตรฐานสากลที่ทันสมัยที่สุดในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ภายในปี 2560

               ฟาร์มแห่งนี้อยู่ในพื้นที่กว่า 150 ไร่ แบ่งพื้นที่ด้านหน้าเป็นอาคารสำนักงาน ห้องประชุมและโรงรีดนมที่ทันสมัย ห่างออกไปเป็นโรงเรือนที่เลี้ยงแม่โคนมจำนวน 4 โรงเรือน สามารถรองรับแม่โคได้ถึง 2,000 แม่ เป็นโรงเรือนที่สมัย เพราะถือเป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งของฟาร์มโคนมที่มีการออกแบบโรงเรือนจะเน้นการระบายอากาศที่ดี เพื่อช่วยลดความร้อน ภายในโรงเรือนจะมีพัดลมขนาดใหญ่ติดเรียงราย เพราะแม่โคนม เมื่อเจออากาศที่ร้อบอบอ้าวจะมีอาการเครียด ถือเป็นโรงเรือนระดับมาตรฐานที่ออกแบบตามหลักวิศวกรรม มีชายคาสูง 4 เมตร โล่งโปร่งเพื่อให้วัวเข้าออกได้สะดวก และระดับความลาดชันของหลังคาจะมีมากกว่าอาคารทั่วไป

                ภายในโรงเรือนมีการออกแบบซองนอนพร้อมเบาะรองนอนที่มีราคาใบละถึง 4,000 บาท เพื่อให้แม่โคได้นอนพักผ่อนและหลับอย่างสบายและมีการติดตั้งเครื่องกวาดมูลโคแบบอัตโนมัติ เพื่อให้ภายในโรงเรือนสะอาดแทบจะไม่กลิ่นมูล และไม่มีแมลงวัน  นอกจากนี้ยังมีระบบการจัดการฟาร์มที่เป็นมิตรกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม คือมูลโคที่ได้จากโรงเรือนจะถูกส่งเข้าสู่โรงเก็บมูลเพื่อผลิตแก๊สชีวภาพขนาดใหญ่ 2 บ่อ ที่อยู่ช่วงท้ายของฟาร์ม

               ส่วนแก๊สชีวภาพที่ได้มาจะนำไปสู่การผลิตกระแสไฟฟ้าจากไบโอแก๊ส นำมาใช้ภายในฟาร์มและกระแสไฟฟ้าส่วนที่เหลือจะถูกส่งไปยังโรงไฟฟ้าส่วนภูมิภาคต่อไป และปัจจุบันได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวกับระบบไบโอแก๊สจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาเป็นไบโอมีเทนด้วย ส่วนพื้นที่เหลือเป็นแปลงปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 สำหรับให้โคในฟาร์มกินนั่นเอง

               บัลลพ์กุล บอกว่า บริษัทเชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด เดิมดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายนมพาสเจอไรซ์ ที่ได้เข้าร่วมโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียนครั้งแรกเมื่อปี 2537 โดยจัดส่งนมให้โรงเรียนต่างๆ ในเขตจังหวัดเชียงใหม่และขยายพื้นที่จัดจ่ายนมโรงเรียนครอบคลุมทั้งเขตภาคเหนือ ต่อมาได้ก้าวสู่ความหลากหลายและความสมบูรณ์แบบแห่งมาตรฐานโรงงานด้วยการเพิ่มรายการผลิตนมยูเอชที พร้อมๆ กับการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตนมพาสเจอไรซ์ให้มีปริมาณสูงขึ้น มีผลิตภัณฑ์นมพาสเจอไรซ์ ตราเชียงใหม่เฟรชมิลค์ ผลิตภัณฑ์นมยูเอชที ตรานมโรงเรียนทั้งชนิดกล่องและชนิดซอง นมยูเอชที ตรามายด์ด้า และผลิตภัณฑ์นมรสธัญญาหารตรายัมมี่

               "เรามีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากน้ำนมโค เพิ่ม อาทิ ครีมสด ไอศกรีมวิปปิ้งครีม และชีส โดยมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงเลือกใช้น้ำนมโคสดจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคในภาคเหนือและน้ำนมโคสดจากฟาร์มเชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด มาผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพอย่างพิถีพิถันจากนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารและโภชนาการ โดยผ่านกระบวนการผลิตที่มาตรฐานและทันสมัย" บัลลพ์กุล กล่าว

                กระทั่ง 6 ปีก่อน บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ หันมาดำเนินฟาร์มโคนมในพื้นที่กว่า 150 ไร่ โดยมีระบบการบริหารจัดการฟาร์มระดับสากล ปัจจุบันมีแม่โคที่สามารถรีดนมได้ 500 แม่ สามารถรีดนมได้วันละ 8,000 กก.โดยใช้ระบบรีดระบบปิดแบบอัตโนมัติแบบพาราเรลที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย สามารถรีดได้พร้อมกันครั้งละ 64 แม่ โดยใช้เวลารีดประมาณ 9 นาที และตั้งใจไว้ว่าในปี 2560 จะสามารถเลี้ยงแม่โคได้ถึง 2,000 แม่ จะสามารถผลิตน้ำนมดิบได้วันละ 3.5 หมื่นกิโลกรัม ถึงเวลานั้นเชียงใหม่เฟรชมิลค์จะเป็นฟาร์มโคนมที่ได้มาตรฐานและทันสมัยที่สุดในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีนั่นเอง

               ด้าน นสพ.อยุทธ์ หรินทรานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ บอกว่า หากดูตามสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ภาคเหนือเหมาะสมที่จะเลี้ยงโคนมมากที่สุด เนื่องจากการเลี้ยงโคนมต้องมีสภาพของอากาศที่ไม่ควรเกิน 28 องศาเซลเซียส กรมศุสัตว์จึงโซนนิ่งการเลี้ยงโคนมไว้ที่ภาคเหนือมากที่สุด จะเห็นได้ว่าปัจจุบันกิจการเลี้ยงโคนมเริ่มขยายฐานเลี้ยงที่ภาคเหนือมากที่สุด อย่างที่ลำพูนแม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่มีการเลี้ยงโคนมอันสองของภาคเหนือรองจากเชียงใหม่และเป็นอันดับ 10 ของประเทศ

                 อย่างไรก็ตามในพื้นที่ภาคกลางก็สามารถเลี้ยงได้เช่นในบางจังหวัด อาทิ สระบุรี ซึ่งเป็นที่เลี้ยงโคนมมากที่สุดรวมถึงภาคอีสานที่สภาพอากาศเย็น แต่ภาคใต้เป็นพื้นที่ไม่เหมาะสำหรับการเลี้ยงโคนม เนื่องสภาพอากาศชื้นสูง แต่ที่ จ.พัทลุง ซึ่งที่เลี้ยงโคนมแห่งเดียวในภาคใต้ที่อยู่ได้เนื่องจากการบริหารระบบสหกรณ์ที่เข้มแข็งนั่นเอง

               "ตอนนี้กิจการเลี้ยงโคนมบ้านเราเลี้ยงมากที่สุดในอาเซียน และใช้เทคโนโลยีทันสมัยด้วย แต่หลังจากที่เราร่วมตัวเป็นเออีซี ในช่วงแรกก็ไม่น่าเป็นห่วง เรายังเป็นประเทศที่ผลิตนมมากที่สุด และจะสามารถส่งออกนมไปยังกลุ่มประเทศเออีซีได้ แต่ระยะยาวไม่มั่นใจ เพราะอย่างเวียดนามมีการพัฒนารวดเร็วมาก ขณะที่สหภาพเมียนมาร์ หรือพม่ามีพื้นที่ที่เหมาะสมในการเลี้ยงโคนมเป็นอย่างมาก และหลายประเทศกำลังจับตามองที่จะไปลงทุนในพม่า ฉะนั้นเราไม่ควร และเราต้องพัฒนาฟาร์มให้ทันสมัย อย่างฟาร์ม เชียงใหม่เฟรชมิลค์ เท่าที่ดูมา ผมว่าตอนนี้ถือเป็นฟาร์มที่ได้มาตรฐานและทันสมัยที่สุดในบ้านเรา" รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

                 ขณะที่ รศ.ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า เชียงใหม่เฟรชมิลค์ มีระบบการเก็บมูลวัวแบบแคปซูลบอลลูน และเป็นฟาร์มแรกที่มหาวิทยาลัยเชียงได้ทดลองผลิตแก๊สไบโอมีเทน โดยนำเครื่องผลิตไบโอมีเทนที่มีกำลังผลิตวันละ 200 กก.ต่อเอ็นจีวี ที่สามารถนำไปใช้กับรถยนต์ได้ ปัจจุบันรถยนต์ที่ฟาร์มจำนวน 3 คัน ที่ถือเป็นรถยนต์ที่ใช้พลังขี้วัว 3 คันแรกในประเทศไทย ขณะที่ฟาร์มทั่วไปจะผลิตไบโอแก๊สที่ให้สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าเท่านั้น

               ทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่เข้าไปเยี่ยมชม "เชียงใหม่เฟรชมิลค์" ที่เราบันทึกไว้ก่อนเดินกลับในวันรุ่งขึ้น

 

...................................

(ขึ้นเหนือเยี่ยมชม'เชียงใหม่เฟรชมิลค์' ฟาร์มโคนมมาตรฐานแห่งอาเซียน : คอลัมน์ท่องโลกเกษตร : โดย...ดลมนัส  กาเจ)