
"มะกา"ใบขับเสมหะ
12 มิ.ย. 2552
บรรดาพรรณไม้ที่เป็นสมุนไพรนั้น "มะกา" หรือบางท้องถิ่น เรียก ก้องแกบ ซำซา มัดกา เป็นต้น แม้จะมีสรรพคุณไม่มาก แต่คนเก่าคนแก่ โดยเฉพาะชาวปักษ์ใต้จะนำใบมาทำเป็นยาขับเสมหะ ส่วนเปลือกซึ่งมีรสฝาด ใช้ในการสมานแผล ปัจจุบันไม่ค่อยเห็นต้นชนิดนี้กันแล้ว
เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าชายทะเล ในวงศ์ EUPHORBIACEAE สูงเต็มที่ไม่เกิน 10 เมตร เปลือกค่อนข้างเรียบ สีน้ำตาล แตกกิ่งก้านมาก ทรงต้นออกแนวเป็นพุ่ม
ใบ เป็นใบเดี่ยว ขึ้นเรียงสลับตามกิ่ง ทรงรี กว้าง 4-6 เซนติเมตร ยาว 10-20 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบแหลมมน ผิวใบเกลี้ยงสีเขียว ก้านใบสั้น ขอบใบเรียบ มีเส้นแขนงใบราว 8-14 คู่
ดอก ออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ มีดอกขนาดเล็กเวลาบานสีเหลือง มีดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย อยู่ในกลุ่มหรือกระจุกเดียวกัน
ผล ทรงกลมขนาดเล็ก สีเขียว เมื่อแก่จะสีน้ำตาลแห้งและแตก มีเมล็ดมาก
ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำกิ่ง ชอบความชื้นมาก ดินร่วนระบายน้ำได้ดี และมีแสงแดดส่องเต็มวัน
"นายสวีสอง"