ข่าว

โอ่งมังกร...เสี่ยงที่จะเป็นเพียงตำนาน

เสียงสะท้อน SME : โอ่งมังกร...ราชบุรี ความเสี่ยงที่จะเป็นเพียงตำนาน : โดย...สายชล ศรีนวลจันทร์

 

                            "โอ่งมังกร" เป็นอุตสาหกรรมท้องถิ่นที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ จ.ราชบุรี ด้วยคุณสมบัติที่สามารถใช้เก็บน้ำฝน โดยไม่ทำให้น้ำเกิดกลิ่น หรือรสชาติเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งน้ำฝนที่เก็บในโอ่งจะเย็น เพราะคุณสมบัติของภาชนะที่รักษาความเย็นเอาไว้ ซึ่งถือเป็นความโดดเด่น ขณะที่ข้อดีอีกด้านคือ ตัวสินค้ามีความทนทานต่อแดด-ฝน จึงทำให้โอ่งมังกรเป็นที่นิยมทั่วไป 

                            ความเป็นของโอ่งมังกรมีประวัติมายาวนาน เป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งทำเครื่องปั้นดินเผา แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นไปอย่างยากลำบากรวมถึงโอ่งมังกรด้วย จึงจำเป็นต้องผลิตใช้กันเองภายในประเทศ จุดเริ่มต้นของการทำโอ่งขายใน จ.ราชบุรี มาจากชาวจีนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในไทย จนได้มาพบแหล่งดินที่ราชบุรี และเห็นว่าเป็นดินดีสีแดงสามารถใช้ปั้นโอ่งได้ จึงลงทุนร่วมหุ้นกันคนละ 3,000 บาทในขณะนั้น ก่อตั้งโรงงานทำโอ่งขนาดเล็กในปี 2476

                            ในช่วงแรกจะเน้นทำอ่าง ไห กระปุกต่างๆ มากกว่าโอ่ง เมื่อกิจการรุ่งเรือง โรงงานจึงขยายตัวและมีการผลิตโอ่งมากขึ้น หุ้นส่วนหลายคนเริ่มแยกตัวออกไปตั้งโรงงานเอง แต่ยังอยู่ในเขต จ.ราชบุรี ทำให้มีโรงงานทำโอ่งกระจายอยู่หลายแห่ง การทำโอ่งในยุคแรกๆ จะเป็นโอ่งไม่มีลวดลาย เรียกว่า "โอ่งเลี่ยน" แต่ต่อมามีการวาดลวดลายโดยใช้ดินขาวจากเมืองจีน และภายหลังสามารถหาดินขาวทดแทนได้ที่ จ.จันทบุรี และสุราษฎร์ธานี ซึ่งลวดลายที่วาดบนตัวโอ่งมักจะเป็นลายมังกร เนื่องจากตามความเชื่อของคนจีน มังกร ถือเป็นสัตว์ชั้นสูง เป็นมงคล และมีความหมายที่ดี เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อผู้ใช้ นอกเหนือจากความงามเพียงอย่างเดียว

                            การทำตลาด "โอ่งมังกร" ในยุคนั้น ใช้วิธีเร่ขายทางเรือ ต่อมามีถนนตัดผ่าน ผู้ผลิตจึงเปลี่ยนมาใช้รถเร่ขายแทน ส่วนแรงงานที่ใช้ในโรงโอ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นลูกหลานและเป็นคนในครอบครัว แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลง ทำให้โรงโอ่งในระยะหลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะช่างปั้นลายมังกรที่มีฝีมือ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย จึงมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวเข้ามาช่วยในกิจการโรงโอ่ง

                            ขณะเดียวกันเมื่อโรงโอ่งมีมากขึ้นความต้องการใช้ดินในการปั้นโอ่งก็มากขึ้นตามมา ทำให้ดินในพื้นที่ จ.ราชบุรีไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องสั่งซื้อดินสำหรับปั้นโอ่งมาจากที่อื่น ทำให้ต้นทุนของโอ่งเริ่มขยับตัวสูงขึ้น แต่ความต้องการโอ่งไปใช้สอยกลับน้อยลง เนื่องจากมีสินค้าพลาสติกเข้ามาทดแทน รวมทั้งแท็งก์น้ำเข้ามาแทนที่ การใช้โอ่งดินแบบเดิมจึงไม่สอดคล้องกับความสะดวก ประกอบกับปัญหาค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวขึ้นแบบก้าวกระโดด ทำให้โรงโอ่งในพื้นที่ราชบุรีพากันปิดตัวลง

                            "นอกจากโรงโอ่งจะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือดีแล้ว ตลาดของโอ่งมังกรก็เริ่มแคบลง เมื่อมาเจอกับปัจจัยจากการปรับค่าแรง จึงไม่ต่างจากการซ้ำเติมอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา ที่ต้องใช้แรงงานมีฝีมือระดับสูง ซึ่งคนงานกลุ่มนี้มีน้อยอยู่แล้ว เพราะเป็นอุตสาหกรรมเฉพาะทาง ขณะนี้โรงโอ่งต้องปรับการจ้างรายวันมาเป็นการจ้างเหมาเพื่อให้งานสั้นลง เพราะตลาดทุกวันนี้ไม่ดีทั้งในและต่างประเทศ" ทัศนัย ศิลป์ประเสริฐ เจ้าของโรงโอ่งรุ่งศิลป์ อ.เมือง จ.ราชบุรี อดีตนายกสมาคมเครื่องเคลือบดินเผา สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น

                            สมหมาย ชินภาณุวัฒน์ เจ้าของโรงโอ่งเรืองศิลป์ 3 อ.เมือง จ.ราชบุรี ในฐานะนายกสมาคมเครื่องเคลือบดินเผา กล่าวว่า การปรับค่าแรงแบบก้าวกระโดดกระทบต่อกิจการโรงโอ่งมาก เพราะโรงโอ่งเป็นกิจการที่ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก ไม่สามารถนำเครื่องจักรมาทดแทนได้ เพราะเป็นงานหัตถกรรมที่ใช้ฝีมือโดยตรง ที่ผ่านมาผู้ประกอบการประสบปัญหาแหล่งวัตถุดิบที่ลดน้อยลงไปทุกปี แล้วยังต้องมาเผชิญกับปัญหาด้านแรงงานอีก ต้องจ้างแรงงานต่างด้าวทำให้มีต้นทุนการผลิตขึ้นไปที่ 60%

                            "ขณะนี้โรงโอ่งทยอยปิดตัวไปแล้ว 2 แห่ง หากเกิดภาวะเช่นนี้ แน่นอนว่าต้องมีโรงโอ่งทยอยปิดกิจการตามมาอีก สมาคมเครื่องเคลือบดินเผาในราชบุรี มีโรงโอ่งที่เป็นสมาชิกจำนวน 31 แห่ง โดยโรงโอ่งที่ปิดตัวไปอยู่ในระดับกลาง เป็นกิจการแบบเอสเอ็มอี ซึ่งต้องอาศัยแรงงาน 60% ผู้ประกอบการหลายคนได้ดัดแปลงผลิตภัณฑ์โอ่งมังกรมาเป็นผลิตภัณฑ์จำพวกกระถาง จัดสวน กระถางต้นไม้ ผลิตภัณฑ์ใช้ประโยชน์รูปแบบอื่นๆ ส่วนโอ่งนั้นทุกโรงงานจะผลิตลดลงมาก เพราะต้นทุนสูงขึ้น จากเดิมทำทุกโรงงาน แต่มาระยะหลังเหลือเพียง 7-8 แห่ง เนื่องจากมีสินค้าอื่นมาทดแทน และหากสถานการณ์ของโอ่งมังกรยังคงเป็นอยู่เช่นนี้ เชื่อว่ากิจการนี้น่าจะถึงจุดจบในที่สุด" สมหมาย กล่าว

                            เป็นสภาพของอุตสาหกรรมที่เคยสร้างเอกลักษณ์ให้แก่ จ.ราชบุรี ในฐานะแหล่งผลิตสำคัญ

 

 

------------------------

(เสียงสะท้อน SME : โอ่งมังกร...ราชบุรี ความเสี่ยงที่จะเป็นเพียงตำนาน : โดย...สายชล ศรีนวลจันทร์)

 

 

 

ข่าวยอดนิยม