
ประกันราคาข้าวใช่คำตอบสุดท้าย ?
กลายเป็นประเด็นร้อนๆ นอกเหนือจากโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คันของพรรคภูมิใจไทย หลังจากที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สั่งยกเลิกมาตรการ "จำนำ" พืชผลเกษตร แล้วนำมาตรการ "ประกันราคา" มาใช้แทน
โดยเลือกประกันราคา "ข้าว" เป็นโครงการนำร่อง ด้วยการประกันราคาข้าวหอมมะลิใน 8 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา และร้อยเอ็ด ในเป้าหมาย 2 แสนตัน
แน่นอนย่อมมีข้อถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า จะแก้ปัญหาได้แท้จริงหรือไม่
บรรชา พงศ์อายุกูล ส.ว.พิจิตร ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เจ้าของธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่ ทำมานานหลายสิบปี เป็นที่รู้จักกันว่า “ผู้ใหญ่ไก่”
เขามองว่า การประกันราคาสินค้าการเกษตร อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น
ต้นเหตุคือ รัฐบาลเข้าไปรับจำนำข้าวในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริงมาก ซื้อแพง-ขายถูก
เมื่อรัฐบาลรับจำนำข้าวก็ไปเก็บที่โรงสี เพื่อให้โรงสีแปรสภาพจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร แล้วนำไปเก็บในโกดังของ อคส และ อ.ต.ก. ซึ่งจะต้องเสียค่าเช่าโกดังตันละ 20 บาทต่อวัน หากข้าวขายไม่ได้ ข้าวก็เสื่อมคุณภาพ ราคาก็ตก
นอกจากนี้ในขั้นของการประมูลซื้อข้าว ซึ่งผู้ส่งออกก็จะออกมาประมูลซื้อข้าวจากรัฐบาล ขั้นตอนนี้ก็จะมีการฮั้วประมูลข้าวกัน โดยเงื่อนไขการประมูลเอื้อประโยชน์เฉพาะรายใหญ่ ส่งผลให้วงการส่งออกข้าวผูกขาดอยู่กับผู้ส่งออกไม่กี่กลุ่ม
การทุจริตจะเริ่มตั้งแต่การรับจำนำ ฝากเก็บโกดังกลาง การระบายออกจากสต็อก โดยที่เกษตรกรไม่ได้ผลประโยชน์จากโครงการดังกล่าวเลย
จากตัวเลขการตรวจสอบของคณะอนุกรรมาธิการข้าวของกรรมาธิการการเกษตรฯ ตั้งแต่ปี 2543-2551 พบว่า รัฐบาลขาดทุนไปหลายหมื่นล้านบาท
การเปลี่ยนจากโครงการรับจำนำสินค้าการเกษตร โดยนำร่องที่ "ข้าว" นั้น ส.ว.พิจิตร ระบุว่า เป็นการแก้ปัญหามุ่งเน้นการทุจริตในโครงการ แม้จะเป็นเรื่องดี แต่รัฐบาลควรมองให้กว้างมากกว่านี้
นอกจากนี้รูปแบบหรือวิธีการ "ประกันราคา" หรือ "การสร้างหลักประกันความเสี่ยงราคา" ซึ่งประเทศไทยไม่เคยใช้มาก่อน ก็ยังมองไม่ออกว่า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร รัฐบาลจะประกันราคาอย่างไร ไม่มีความชัดเจนออกมา
ผู้ใหญ่ไก่บอกว่า เขาไม่ได้ว่าการประกันราคาสินค้าเกษตรหรือโครงการรับจำนำข้าวเป็นวิธีการที่ไม่ดี แต่ต้องยอมรับว่าทั้ง 2 วิธีมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป และหนีไม่พ้นเรื่องการทุจริต
สิ่งที่สำคัญคือ เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวแม้จะได้บ้างก็ไม่ได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งเป็นปัญหาคาราคาซังมาทุกรัฐบาล
ในฐานะที่เป็นประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา และในฐานะที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการค้าข้าวใน จ.พิจิตร ซึ่งมีโรงสีเกือบ 50 โรง ผู้ใหญ่ไก่เสนอแนะต่อรัฐบาลว่า รัฐบาลควรกำหนดราคาการรับซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด 500 บาท
เช่น หากราคาข้าวความชื้น 15% ราคาตันละ1 หมื่นบาท รัฐบาลก็ประกาศรับจำนำข้าวในราคา 10,500 บาท ซึ่งบรรดาพ่อค้าก็จะซื้อในราคานี้ หรือหากโรงสีต้องการข้าวมาก ก็ต้องซื้อสูงกว่าราคารัฐบาลหรือเทียบเท่า ซึ่งเกษตรกรก็จะได้ประโยชน์ เป็นราคาที่ตายตัว ที่สำคัญราคาข้าวก็จะเป็นไปตามกลไกตลาด รัฐบาลเพียงแค่ช่วยในเรื่องของปัจจัยภายนอกเท่านั้น เช่น เรื่องของดอกเบี้ยของ ธ.ก.ส. เรื่องน้ำในการทำการเกษตร
อย่างไรก็ตาม เขายังคงให้กำลังใจรัฐบาลในความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ถึงแม้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
รัฐบาลควรมองให้กว้างและมองถึงอนาคตในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกร และหากจะแก้ปัญหาทางการเกษตรทั้งหมด ไม่ควรมุ่งแค่เรื่องของปัญหาราคาที่ตกต่ำเพราะเป็นแค่ปลายเหตุ แต่ปัญหาที่ควรเร่งดำเนินการคือ การหาแหล่งน้ำเพื่อนำมาใช้ในการเกษตร เพราะน้ำเป็นหัวใจสำคัญในการเพิ่มผลผลิต
เขาอยากให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ มีนโยบายเกี่ยวกับการหาแหล่งน้ำ เพราะน้ำคือปัจจัยหลักในการทำการเกษตร โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่ลงทุนเพียง 1.2 หมื่นล้านบาท กักเก็บน้ำได้ 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะจัดสรรน้ำทำนาได้ถึงปีละ 2 ครั้งจากเดิม 1 ครั้ง ไม่ต้องรอฝน เพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นเป็นเท่าตัว
"ตั้งแต่ นายกฯ อภิสิทธิ์ มารับตำแหน่ง ผมก็เห็นว่า เป็นคนหนุ่มไฟแรง จะพัฒนาประเทศไปได้ดี ผมอยากให้ท่านแก้ปัญหาเรื่องสินค้าการเกษตรตกต่ำ และการหาแหล่งน้ำให้เกษตรกรมีน้ำใช้ทั้ง 365 วัน ควบคู่กันไปด้วย หากเราสร้างเขื่อน สร้างแหล่งน้ำได้ ประเทศของเราก็จะเป็นมหาอำนาจทางการเกษตร รัฐบาลอย่าลุกขึ้นมาทำเรื่องรับจำนำ ประกันสินค้าเกษตร แค่นี้ รัฐบาลจะต้องมองถึงอนาคตข้างหน้าของเกษตรกรว่า จะทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถลืมตาอ้าปากได้ อย่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท รัฐบาลควรเจียดงบมาทำเรื่องนี้บ้าง" ส.ว.บรรชากล่าวทิ้งท้าย
ประภาศรี โอสถานนท์