ข่าว

พิมพ์เขียวภาคกลาง...สู่ฮับโลจิสติกส์

พิมพ์เขียวภาคกลาง...สู่ฮับโลจิสติกส์

27 ก.ค. 2556

พิมพ์เขียวภาคกลาง...สู่ฮับโลจิสติกส์ : ทีมข่าวภูมิภาค ... รายงาน

 

                                 การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา สาระสำคัญจากการประชุมคือ เห็นชอบโครงการตามที่คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอแนวทาง เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ภาคกลาง (ตอนบน 1) รวม 26 โครงการ ด้วยงบประมาณรวม 542 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการของกลุ่มจังหวัด อาทิ โครงการศูนย์วัฒนธรรมริมฝั่งน้ำ (หมู่บ้านครม.สัญจรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) โครงการส่งเสริมเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวทางน้ำ (คลองรังสิตประยูรศักดิ์)

                                 โครงการของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น โครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำ, โครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน, โครงการของจังหวัดนนทบุรี ได้แก่ โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งทรุดตัว บริเวณวัดโปรดเกษ และวัดฉิมพลี, โครงการของจังหวัดปทุมธานี คือ การก่อสร้างท่าเทียบเรือและเขื่อนป้องกันตลิ่ง ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และโครงการของจังหวัดสระบุรี ที่เสนอขอรับการสนับสนุน ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างระบบประปา โครงการพัฒนาศูนย์โอท็อปคอมเพล็กซ์  โครงการฝึกอาชีพ 

                                 อย่างไรก็ตาม หากพิจารณายุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ภาคกลางตอนบนที่รัฐบาลให้น้ำหนักนับจากนี้ไปคือ การพัฒนาจังหวัดในกลุ่มภาคกลางตอนบน ให้เป็นศูนย์ของกิจกรรมทางโลจิสติกส์ เป็นการให้ความสำคัญกับพระนครศรีอยุธยา ที่เป็นพื้นที่ศูนย์กลางของนิคมอุตสาหกรรม สามารถที่จะเชื่อมโยงได้ทั้งการขนส่งทางบก ทางราง และทางน้ำ

                                 นี่จึงเป็นการต่อยอดการขยายตัวของกรุงเทพมหานคร ที่มีแนวโน้มว่าจะมีการขยายตัวมากขึ้น ให้กระจายออกไปสู่จังหวัดภาคกลางตอนบน เพราะด้วยโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดบริวาร ย่อมมีส่วนที่จะเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระบบ

                                 ท่าทีของรัฐบาลต่อการให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ภาคกลาง คือ ปฏิกิริยาจากการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค (กรอ.ภูมิภาค) ครั้งที่ 4/2556 ที่มี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 18 กรกฎาคม ที่พระนครศรีอยุธยา และเห็นชอบต่อข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ประกอบด้วย  ส่งเสริมการค้าและการลงทุน  ด้วยการขอให้สนับสนุนโครงการพัฒนานวัตกรรมการเลี้ยงโคนมและนมอินทรีย์ครบวงจร 

                                 เร่งรัดและทบทวนประกาศกฎกระทรวงมหาดไทย “ให้ใช้บังคับผังเมืองรวม” โดย 1.ขอให้ยกเลิกพื้นที่สีเขียวในผังเมืองรวมพระนครศรีอยุธยา ช่วงบ้านกรด-คลองข้าวเม่า ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของถนนสายเอเชีย โดยให้ขยายสีของผังเมืองเหลืองและส้มตามผังเมืองเดิม และขอยกเลิกข้อห้ามการสร้างอาคารขนาดใหญ่ในผังเมืองรวมเมืองพระนครศรีอยุธยา 2552 ทุกสี (เหลือง ส้ม แดง) 2. ขอให้ปรับปรุงแก้ไขผังเมืองรวม จ.สระบุรี ตามประกาศกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม จ.สระบุรี  2554 ให้มีความสอดคล้องกับสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน และตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศให้แล้วเสร็จใน 6 เดือน

                                 ด้านการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์  เสนอโดย กกร. ขอให้เร่งรัด 1.ถนนวงแหวนต่างระดับ สาย 9 ตัด 340 และ ตัด 345 เชื่อมโยงนนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี 2. ทางด่วนโทล์เวย์ (รังสิต-ประตูน้ำพระอินทร์) ให้เสร็จภายในปี 2558 และก่อสร้างเส้นทางหมายเลข 32 ต่อเชื่อมกับสถานีรถไฟมาบพระจันทร์ ที่ อ.นครหลวง (สถานีขนส่งสินค้า) เร่งรัดการขยายช่องจราจรจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ที่จะเอื้อต่อการขนส่งลงทางน้ำของแม่น้ำป่าสัก การเชื่อมโยงถนนหมายเลข 32 กับเส้นทางหลักของทางออกนิคมอุตสาหกรรมโรจนะไปกรุงเทพฯ

                                 ขยายถนนหมายเลข 9 จากแยกทางต่างระดับ 340 (นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี) จาก 4 ช่องจราจรเป็น 10 ช่องจราจร ระยะทาง 40 กิโลเมตร (กาญจนาภิเษก หรือวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตก ไปจนถึงถนนพหลโยธิน) ขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงจากบางใหญ่-ไทรน้อย (2.5 กม.) และเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูบนถนนชัยพฤกษ์ ระยะทาง 9 กม. (สายสีทอง) สนับสนุนโครงการศึกษา ทั้งการปรับปรุงสะพานนวลฉวี เพื่อการสัญจรทางน้ำ และยกระดับเส้นทางรถไฟ เพื่อการแก้ไขปัญหาการจราจร กรณีเส้นทางรถไฟผ่านตัวเมืองสระบุรี

                                 ส่วนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ขอให้ดำเนินโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองบางบัวทอง ต.ท่าอิฐ ต.อ้อมเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ขอให้พัฒนาเส้นทางขนส่งทางน้ำในแม่น้ำป่าสัก (อ.เสาไห้ จ.สระบุรี -อ.นครหลวง จ. พระนครศรีอยุธยา) พัฒนาเส้นทางคมนาคมในแม่น้ำป่าสักบริเวณเหนือ อ.ท่าเรือ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรียุธยา - อ.เสาไห้ จ.สระบุรี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขนส่งทางน้ำให้ครบทั้งระบบ 

                                 ข้อเสนอเหล่านี้คือส่วนหนึ่งที่รัฐบาล มีท่าทีสนับสนุนตามที่ร้องขอ ในที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม

                                 นายเรวัต แสงนิล ประธานหอการค้าจังหวัดสระบุรี ให้ความเห็นว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีที่พระนครศรีอยุธยา คือความชัดเจนของการวางยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาพื้นที่ในโซนภาคกลาง แน่นอนว่าพระนครศรีอยุธยา ค่อนข้างจะได้เปรียบจากแผนการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ โดยมีตัวแปรอยู่ที่การเป็นฐานที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสระบุรี ก็เชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการกำหนดแผนงานต่างๆ นับจากนี้ไป เพราะด้วยศักยภาพแล้ว สระบุรีอยู่ในฐานะของการเป็นพื้นที่เชื่อมโยง ระหว่างกรุงเทพฯ เข้ากับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  หรือกระทั่งเข้าสู่ภูมิภาคอินโดจีน ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ต้องผ่านสระบุรี ทั้งสิ้น 

                                 "การให้ภาคกลางเป็นฮับด้านโลจิสติกส์จะไม่สมบูรณ์แบบ หากพัฒนาเพียงพระนครศรีอยุธยา สิ่งที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับสระบุรี ก็คือ การพัฒนาระบบขนส่งทางราง สนับสนุนการขนส่งทางน้ำของแม่น้ำป่าสัก ในส่วนของสระบุรี การอยู่ในพื้นที่ของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เชื่อม พระนครศรีอยุธยา สระบุรี  นครราชสีมา ก็สร้างโอกาสให้กับพื้นที่ แต่หากเพิ่มเติมในโครงข่ายขนส่งที่มีอยู่แล้ว ก็เชื่อได้ว่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาภาคกลางทั้งระบบ" นายเรวัต กล่าว

                                 นี่จึงเป็นโครงร่างภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับพื้นที่ภาคกลาง

 

 

-----------------------

(พิมพ์เขียวภาคกลาง...สู่ฮับโลจิสติกส์ : ทีมข่าวภูมิภาค ... รายงาน)