ข่าว

สิ่งที่ไม่อาจเรียกว่า 'ความโลภ'

สิ่งที่ไม่อาจเรียกว่า 'ความโลภ'

21 ก.ค. 2556

สิ่งที่ไม่อาจเรียกว่า 'ความโลภ' : คอลัมน์วันอาทิตย์คิดเรื่องเงิน : โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล [email protected]

               ชายหนุ่มวัยย่างเข้า 36 ปีอย่าง “เจตน์พัฒน์ เศรษฐสวัสดิสุข” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท บิวตี้ไชน์คอสเมติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด อาจจะไม่ได้พกความฝันและความหวังมาเต็มเปี่ยม แต่การตัดสินใจก้าวพ้นจากความเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ได้รับผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจ ทิ้งงานที่มีอนาคต และเพื่อนร่วมงานที่ดี ด้วยวัยเพียงไม่ถึง 30 ปี เพื่อก้าวสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองนั้น ถือได้ว่าชายหนุ่มคนนี้มีอะไรที่น่าสนใจไม่น้อย              

              “ผมเรียนจบสถาปัตย์ แต่ผมสนใจด้านไอที ก็เลยตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทสาขาคอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบสถาปัตย์ ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไร คิดแค่ว่าสนใจแล้วก็อยากเรียน ระหว่างที่ผมเรียนปริญญาโท เพื่อนๆ ส่วนใหญ่ก็ทำงานไปแล้ว จนวันหนึ่งเพื่อนที่สนิทกัน มาชวนให้ผมไปทำงานกับเจ้านายของเขา เป็นธุรกิจจิวเวลรี่ เขาอยากได้คนทำงานเกี่ยวกับไอที ทั้งการจัดเก็บข้อมูลของลูกค้า การจัดระบบข้อมูลสินค้า จากจุดที่รับผิดชอบงานตรงนี้ ก็ขยายไปสู่การจัดดิสเพลย์ การตกแต่งภาพสินค้า จนผมเรียนจบปริญญาโทและทำงานเป็นพนักงานประจำของที่นี่”

              ว่ากันว่า การเปลี่ยนแปลงของชีวิตในแต่ละช่วงเวลานั้น บางทีก็อาจจะอยู่ที่โชคชะตากำหนด เหมือนกรณีของ “เจตน์พัฒน์” ซึ่งไม่ได้คิดอยากเปลี่ยนงาน เพราะงานที่รับผิดชอบมาหลายปียังมีความท้าทาย ไม่มีวันไหนที่น่าเบื่อหน่าย ผลตอบแทนก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจสำหรับคนทำงานในวัย 20 ปลายๆ รวมทั้งโอกาสในการเติบโตในหน้าที่การงานก็ยังมีอีกมาก แต่เพราะเพื่อนคนหนึ่งที่สนิทสนมด้วยมีปัญหาเรื่องงานประจำที่ทำอยู่ ทำให้เส้นทางชีวิตของเขาต้องเปลี่ยนจากลูกจ้าง สู่การเป็นเจ้าของธุรกิจ

              “เราคุยกันแล้วตัดสินใจจะลองทำธุรกิจของตัวเอง ช่วงนั้นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในบ้านเราเพิ่งเริ่มต้น ตัวผมเองก็สนใจเรื่องไอทีอยู่แล้ว ก็เลยสนใจ ตอนนั้นเรารู้ระบบ รู้การทำตลาด เพราะเราศึกษามาแล้ว แต่ปัญหาคือ เราจะขายสินค้าอะไร”
 จากจุดนั้น เขาและเพื่อนก็เริ่มลงมือศึกษาอย่างจริงจังว่า ธุรกิจอะไรที่น่าสนใจ โดยเริ่มต้นจากการดูผ่านเว็บไซต์ที่เป็นแหล่งรวบรวมสินค้า ซึ่งในช่วงเวลานั้นก็มีไม่มาก และพบว่า ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือสกินแคร์มีความน่าสนใจไม่น้อย เมื่อไม่มีอะไรต้องลังเล ทั้งคู่จึงเริ่มต้นธุรกิจซื้อมาขายไป แต่เพิ่มไอเดีย ด้วยการเปลี่ยนแพ็กเกจสินค้าให้ดูดีขึ้น ด้วยเงินทุนที่ไม่มาก ควบคู่ไปกับการทำงานประจำ

              จากการหมุนเงินด้วยบัตรเครดิตที่ใช้รูดซื้อสินค้า เมื่อขายของได้ ก็นำไปชำระค่าบัตร ซึ่ง “เจตน์พัฒน์” เปรียบเทียบภาวะนี้อย่างน่าสนใจว่า เหมือนกับการเข็นรถที่สตาร์ทไม่ติด ตราบใดที่รถยังไม่สามารถติดเครื่องแล้วขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ เราก็ไม่มีวันปล่อยมือได้ เขาจึงเริ่มบริหารสภาพคล่องเงินสด จัดระบบใหม่ให้ธุรกิจมีเงินทุนหมุนเวียน และเลิกใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้า

              จะด้วยความสามารถหรือโชคชะตา หรือเพราะความทุ่มเทของหุ้นส่วนทั้ง 2 คน ทำให้ธุรกิจสกินแคร์ของเขาเติบโตจากยอดขายในเดือนแรกที่ 3 หมื่นบาท เพิ่มเป็น 3 แสนบาทต่อเดือน ก่อนจะเพิ่มขึ้นสูงสุดถึงระดับ 2 ล้านบาทต่อเดือน และจากธุรกิจที่ซื้อมาขายไป กลายเป็นการสั่งผลิตภายใต้แบรนด์สินค้าของตัวเอง

              “ถามว่า ตอนนั้นรู้สึกว่า มันมาเร็วไปมั้ย ก็ยอมรับว่า มันมาเร็วกว่าที่คาด เราเห็นฟองสบู่ของธุรกิจบ้างแล้ว ขณะเดียวกัน เราก็ไม่ได้ควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด เริ่มใช้งบการตลาดมากขึ้นๆ และพบว่า มีช่องโหว่หลายจุด ผมก็พยายามหา แล้วก็พยายามแก้ไข ถามว่าธุรกิจมีปัญหาหรือไม่ มันไม่ถึงกับมีปัญหาขาดทุน แต่เงินสดเริ่มฝืด สภาพคล่องเริ่มเหือด ซึ่งเราปล่อยไว้แบบนี้ไม่ได้”

              หลายคนอาจจะคิดว่า ชายหนุ่มคนนี้คงพยายามรื้อโมเดลธุรกิจใหม่ หรือหาผลิตภัณฑ์มาเพิ่มความหลากหลาย และเน้นทำการตลาดเพิ่มเติม แต่กลับกลายเป็นว่า “เจตน์พัฒน์” ตัดสินใจหา “ตัวช่วย” อื่นที่นอกเหนือจากการทำธุรกิจหลัก

              “จุดเปลี่ยนมันมาจากการที่ผมอ่านหนังสือ "พ่อรวยสอนลูก" ที่พูดถึงเงิน 4 ด้าน ผมขยับจากด้านที่ 1 คือ การเป็นลูกจ้าง สู่ด้านที่ 2 คือ การเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก เป้าหมายของผม คือ การขยับไปสู่ด้านที่ 3 นั่นคือ การเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ขึ้น มีเครือข่ายที่ทำงานแทน ถึงเราไม่ลงมือทำเอง ก็มีรายได้เข้ามา และสุดท้ายคือ ด้านที่ 4 นั่นคือ การเป็นนักลงทุน ให้เงินทำงานแทน และได้ผลตอบแทนจากปันผล”

              เพียงแต่ครั้งนี้ “เจตน์พัฒน์” เลือกเงินด้านที่ 4 เป็นตัวช่วย นั่นคือ การเข้าสู่การเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้ “เจตน์พัฒน์” ให้นิยามการลงทุนของตัวเองว่า เป็นนักเทคนิค นั่นคือ ใช้เครื่องมือทางเทคนิคเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจลงทุน ซึ่งถ้าเปรียบเหมือนการเดินป่า เครื่องมือทางเทคนิคเหล่านี้ก็เหมือนกับเข็มทิศหรือแผนที่ ที่จะบอกตำแหน่งแห่งที่ และบอกเส้นทางที่จะก้าวเดินไปสู่จุดหมายปลายทาง โดยไม่หลงป่าไปเสียก่อน แม้วันนี้ ชายหนุ่มคนนี้จะบอกว่า ตัวเองยังไม่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนอย่างที่ใจคิด แต่ทั้งเส้นทางชีวิตและจังหวะก้าวเดินในด้านการลงทุน รวมถึงหลักคิดของเขาก็นับว่าน่าเกินกว่าคนวัยเดียวกันอีกเป็นจำนวนมาก

              “ผมโชคดีที่ได้ครูดี มีเพื่อนรุ่นน้องที่สนิทกันช่วยสอนเรื่องการลงทุนให้ จากวันที่ไม่รู้อะไรเลย และไม่ได้คิดจะเข้ามาเป็นนักลงทุน วันนี้ผมสนุกกับมัน มีความสุขกับการเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งผมก็มีประสบการณ์เหมือนคนอื่น ซื้อหุ้นผิดจังหวะ ซื้อปุ๊บหุ้นลงปั๊บ แต่มันไม่ได้เสียหายมาก เพราะเรารู้จักใช้เครื่องมือในตลาดหุ้นให้เป็นประโยชน์ มันก็ช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนให้เราได้”

               “เจตน์พัฒน์” บอกว่า บทเรียนที่เขาได้รับจากการเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้น ก็คือ ต้องไม่ใจร้อน ต้องมีความรู้ในสิ่งที่ลงทุน เพราะถ้าไม่รู้จัก ไม่ทำการบ้าน ก็ไม่ต่างอะไรกับการโยนหัวโยนก้อย ขณะเดียวกัน ก็ต้องรู้จังหวะ รู้จักใช้เครื่องมือ และมีวินัยกับการลงทุน

              เมื่อถามเขาว่า สิ่งที่เขาทำและเขาเป็นในวันนี้ ล่อแหลมและล้อเล่นกับคำว่า “ความโลภ” มากแค่ไหน ชายหนุ่มคนนี้ตอบว่า ครั้งหนึ่งเคยมีคนบอกว่า ถ้ารู้เทคนิคการหยิบเงิน แล้วทำไมจึงไม่หยิบ หรือถ้ารู้ว่าเงินที่หยิบมันอันตราย แล้วจะไปหยิบมันทำไม

              “เป้าหมายของผม คือ เงินที่ได้จากการลงทุนต้องมากขึ้น แต่เราไม่อาจเรียกมันว่า ความโลภ เพราะมันคือ เรื่องของการลงทุน ที่ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจและใช้เครื่องมือ เราไม่ได้หยิบฉวยอะไรในอากาศ และวันนี้ผมเป็นนักลงทุนที่เรียกว่า นักเทคนิค แต่วันหน้าเมื่อผมอายุมากขึ้น โตขึ้น ผมก็ตั้งใจให้การลงทุนของผมปรับไปตามช่วงจังหวะของชีวิตที่มันช้าลงและมั่นคงขึ้น”

              ส่วนเป้าหมายระยะสั้นของ “เจตน์พัฒน์” ในขณะนี้ อยู่ที่การ “บาลานซ์” ทั้ง 2 ส่วนในชีวิต หนึ่งคือ ธุรกิจหลักที่ยังดำเนินต่อไป และสอง คือ การเป็นนักลงทุนแบบนักเทคนิคที่เขามีความสุขอยู่กับตลาดหุ้น เส้นกราฟและผลตอบแทน

              ชายหนุ่มไฟแรงคนนี้ปิดท้ายด้วยว่า เขาเชื่อว่า ทุกคนมีชีวิตในแบบที่ต้องการได้ ซึ่งนอกจากจะอยู่ที่เป้าหมายของแต่ละคนแล้ว ยังอยู่ที่ความพร้อมในการปรับชีวิตเพื่อให้เข้าสู่ทางเดินไปสู่เป้าหมาย

              “ลองถามตัวเองก่อนว่า คุณปรับได้มั้ย และจะปรับเมื่อไหร่”

 

..............................................

(สิ่งที่ไม่อาจเรียกว่า 'ความโลภ' : คอลัมน์วันอาทิตย์คิดเรื่องเงิน : โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล [email protected] )