
งานศิลป์ชั้นสูงเสี่ยงล่มสลาย!
เสียงสะท้อน SME : 'วิกฤติช่างถม' งานศิลป์ชั้นสูงเสี่ยงล่มสลาย : โดย...กฤษณะ ทิวัตถ์สิริกุล
เครื่องถมเงิน ถมทอง หรือถมตะทอง เป็นงานศิลปะเชิงช่างฝีมือชั้นสูงที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยแหล่งผลิตงานประเภทนี้ ที่มีความโดดเด่นคือ นครศรีธรรมราช ในอดีตเครื่องถมถือเป็นเครื่องราชบรรณาการแด่พระมหากษัตริย์ในต่างแดน จนถึงปัจจุบันคาดว่าเครื่องถมจะมีอายุมากกว่า 400 ปี ลักษณะของงานเครื่องถม จะเป็นศิลปะเชิงช่างสกุลนครศรีธรรมราช ส่วนตัวงานเครื่องถมแบ่งเป็น 3 ชนิด 1. เครื่องถมเงิน หรือที่นิยมเรียกกันว่า ถมดำ ลักษณะเป็นเนื้อถมที่ถมลงไปบนพื้นตามร่องลาย เป็นสีดำมัน ซึ่งเนื้อถมจะขับลวดลายให้เด่นงดงามอยู่บนพื้นสีเงิน ตามความนิยมถมเงิน หรือถมดำที่ดีจะต้องมีสีดำสนิท ไม่มีจุดขาวบนสีดำ
2. เครื่องถมทอง เป็นการนำเอาถมดำ หรือถมเงินที่ใช้กรรมวิธีตะทอง หรือเปียกทอง ทำให้ลายสีเงินเป็นสีทองตามทองที่แต้มไว้ แตกต่างกันที่ลวดลายคือ ลายสีเงินเปลี่ยนเป็นสีทอง ช่างถมจะละลายทองคำให้เหลวเป็นน้ำ โดยการใส่ทองแท่งลงในปรอทแล้วนำพู่กันมาจุ่มลงในน้ำทองเขียนทับลงบนลวดลายสีเงิน เมื่อเขียนเสร็จจะใช้ความร้อนเผาไล่ปรอทออกจากทอง ซึ่งทองก็จะติดแน่นอยู่บนพื้นที่เขียนด้วยน้ำทอง และ 3. เครื่องถมตะทอง คือการนำทองคำบริสุทธิ์ผสมปรอทมาทเนื้อเงินของถมเงิน โดยระบายเฉพาะที่ไม่เหมือนการถมทอง เพื่อเน้นจุดเด่น หรือการอวดลายเด่นๆ
เครื่องถมจึงมีฐานะของการเป็นงานศิลปหัตถกรรมชั้นเลิศของงานช่างศิลป์ไทย ที่ปัจจุบันหาช่างฝีมือดีถ่ายทอดไว้ได้ไม่มากนัก ในการที่จะทำให้งานประเภทนี้ได้รับการอนุรักษ์ไว้ ถึงขณะนี้เฉพาะที่นครศรีธรรมราชยังคงมีแห่งผลิตงานสำคัญ 5 แห่ง ได้แก่ ร้านถมลายไทย อ.เมือง, กลุ่มเครื่องถม 10 ถนนชลวิถี อ.เมือง, กลุ่มเครื่องถม 25 ต.ในเมือง อ.เมือง, ร้านถมลายไทย ต.คลัง อ.เมือง, กลุ่มเครื่องถม-เครื่องเงิน ต.นาเรียง อ.พรหมคีรี และกลุ่มนครหัตถกรรม 1 ต.ในเมือง อ.เมือง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งคือ ความเสี่ยงที่งานในสาขานี้จะไม่ได้รับการอนุรักษ์ให้คงอยู่ ซึ่งจากความเห็นของช่างผลิตต่างพบว่า ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้ที่สนใจเข้ามาทำหน้าที่ช่างผลิตเครื่องถมลดลง ด้วยข้อจำกัดเรื่องความรู้ความสามารถในงานด้านนี้ ช่างฝีมือบางรายใช้เวลามากกว่า 10 ปี ในการที่จะเรียนรู้การผลิตกระทั่งมีความชำนาญ
“ผมกำลังเป็นห่วงว่า งานฝีมือที่มีอายุมายาวนาน จะไม่สามารถสืบทอดต่อไปได้ในสังคมปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ให้ความสนใจในการที่จะเรียนรู้งานศิลปะทางด้านนี้มีน้อยมาก เพราะมีตัวแปรอยู่ที่ความมั่นคงทางด้านรายได้จากการผลิตงาน ขณะเดียวกันด้วยตัวสินค้าที่มีคุณค่าของความเป็นเอกลักษณ์ทำให้ ราคาจำหน่ายอยู่ในเกณฑ์ที่สูงพอสมควร จึงเป็นอุปสรรคในการจำหน่ายอยู่บ้าง ส่วยปัจจัยอีกด้านคือความนิยมในตัวสินค้าที่ผันแปรไปตามยุคสมัย จึงกลายเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มในที่สุด" สมทรง แพรพระนาม ช่างฝีมือเครื่องถม อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช กล่าว
นาบีน สุดวิไล เจ้าของร้าน “นาบีน” ผู้ค้าเครื่องถม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า เครื่องถมเป็นสินค้าที่มีความต้องการจากลูกค้าเฉพาะกลุ่ม แม้ว่าจะมีอุปสรรคที่ราคาตัวสินค้าสูง แต่ก็ยังมีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มผู้ซื้อทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ด้วยเห็นถึงคุณค่าในตัวเองจากโลหะที่มีค่าเช่นเงิน และทอง
“ปัจจุบันงานเราได้จากกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรมมากขึ้น แม้ว่าราคาจะถูกลง แต่เป็นงานที่ไม่มีคุณค่าเหมือนงานฝีมือที่ทำด้วยมือ นี่จึงเป็นความจุดหักเหสำคัญต่อทิศทางของการผลิตงานฝีมือชั้นสูง" นาบีน กล่าว
สุรพล โชติธรรมโม ผู้อำนวยการวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ทางสถาบันพยายามรณรงค์ให้เยาวชนรุ่นใหม่สนใจเครื่องถม แต่สิ่งที่สวนทางกันคือ มีคนเลือกเรียนในวิชาเกี่ยวกับเครื่องถมน้อยมาก แต่ทางวิทยาลัยพยายามที่จะรักษางานสาขานี้ไว้ให้ได้
นี่คือทิศทางของงานผลิตเครื่องถมจากนครศรีธรรมราชที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ
-----------------------
(เสียงสะท้อน SME : 'วิกฤติช่างถม' งานศิลป์ชั้นสูงเสี่ยงล่มสลาย : โดย...กฤษณะ ทิวัตถ์สิริกุล)