ข่าว

เมืองบน อ.พยุหะคีรี มีชุมชนยุคทวารวดี

เมืองบน อ.พยุหะคีรี มีชุมชนยุคทวารวดี

10 มิ.ย. 2552

“เมืองบน” หมายถึง เมืองที่อยู่ข้างบน เหนือขึ้นไปจากข้างล่างหรือทางใต้ เป็นชื่อสมมติที่ชาวบ้านเรียกขาน เมืองโบราณ ในเขตบริเวณบ้านบน อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์

  ชื่ออำเภอ “พยุหะคีรี” มีคำว่า “พยุหะ” แปลว่า หมู่, ขบวน และ “คีรี” ที่แปลว่า ภูเขา “พยุหะคีรี” จึงหมายถึง พื้นที่มีหมู่ภูเขาเป็นทิวแถว

 ในต้นแผ่นดินรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ.2408 ได้ประกาศยก “บ้านพยุแดน” ขึ้นเป็น “เมืองพยุหะคีรี”
 ในเอกสารเก่าทั้งหลายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ลงมาเขียนชื่อ พยุหคีรี ไม่มีสระ อะ ตรงคำว่า ห แต่ปัจจุบันทางราชการให้เขียนว่า พยุหะคีรี

 บ้านเมืองบริเวณนี้ เริ่มเติบโตสืบเนื่องจากยุคเหล็กเมื่อราว 2,500 ปีมาแล้ว และมีที่โยกย้ายมาตั้งหลักแหล่งถาวรในย่านนี้ เพราะอยู่ในเส้นทางคมนาคมทางบกและทางน้ำ มีแม่น้ำใหญ่ (เจ้าพระยา) และเชื่อมโยงด้วยเส้นสายลำน้ำเล็กๆ ไปยังบ้านเมืองชุมชนอื่นๆ ใกล้เคียง สร้างบ้านเมืองอย่างที่คนยุคหลังเรียกว่า “เมืองบน” เป็นเมืองโบราณมีคูน้ำ คันดิน รูปวงกลม คล้ายคลึงกับเมืองโบราณในอีสานหลายแห่ง

 เมื่อมี “เมืองบน” แล้ว ควรมี “เมืองล่าง” คู่กัน เมืองล่างที่ว่า อ.ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวถึงว่า ที่ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท มีชื่อ “เมืองอู่ตะเภา” แต่ชาวบ้านเรียกว่า  “เมืองล่าง”

 เมืองบนกับเมืองอู่ตะเภามีพัฒนาการร่วมกันตั้งแต่ 2,500 ปีมาแล้ว บนชุมทางคมนาคม ก่อนนั้นราว 5,000-1 หมื่นปี แถบนี้เป็นทะเลหรือหนองบึงใหญ่มาก่อน จากนั้นตื้นเขินเป็นทะเลโคลน จึงมีคำบอกเล่าว่าเคยเป็นอู่สำเภา มี 2 อู่ คืออู่บนกับอู่ล่าง

 “อู่บน” คือ เมืองบน อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ส่วน “อู่ล่าง” คือ อู่ตะเภา หรือบางทีเรียก เมืองล่าง ที่ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท 

 ที่เมืองบนไม่พบร่องรอยโบราณสถาน ที่จะแสดงถึงการเป็นศาสนสถานของบ้านเมือง เพราะมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ได้รับการสถาปนาขึ้นบนบริเวณเขาไม้เดน ในบ้านเขาไม้เดน ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามใกล้กับเมืองบน ที่พบซากสถูปเจดีย์ตั้งแต่เชิงเขาไปจนถึงยอดเขาของเทือกเขาเตี้ยๆ และโบราณวัตถุเนื่องในพุทธศาสนากระจัดกระจายทั่วไป

 นี่เป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่คือหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทยฉบับสมบูรณ์นั่นเอง!

"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"