ข่าว

BRNตีกินนอกโต๊ะเจรจาส่ง'ไลน์'ชี้เป้า'หัวหน้าชุด'

BRNตีกินนอกโต๊ะเจรจาส่ง'ไลน์'ชี้เป้า'หัวหน้าชุด'

26 มิ.ย. 2556

บีอาร์เอ็นตีกินนอกโต๊ะเจรจา ส่ง'ไลน์'ชี้เป้า'หัวหน้าชุด' : ทีมข่าวความมั่นคง / เสถียร วิริยะพรรณพงศา / ปกรณ์ พึ่งเนตรรายงาน

               คล้อยหลังโต๊ะเจรจาสันติภาพเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ไม่ทันไร นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ก็เปิดเกมชิงการนำ ยื่นข้อเสนอนอกโต๊ะเจรจาผ่านเว็บไซต์ยูทูบเป็นครั้งที่ 4 โดยเงื่อนไขรอบนี้แข็งกร้าวดุดันกว่าทุกครั้ง ด้วยข้อเสนอหลักให้ถอนกำลังทหาร-ตำรวจที่มาจากภาคอื่นออกนอกพื้นที่ แลกกับการหยุดก่อเหตุช่วงเดือน "รอมฎอน" และบวกอีก 10 วันในเดือนถัดไป

               พร้อมทั้งขีดเส้นว่า ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงนามอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ และให้นำข้อเสนอดังกล่าวเข้ารัฐสภาเพื่อประทับรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  หากรัฐบาลไทยไม่ยอมรับข้อเสนอ 7 ข้อของบีอาร์เอ็น โต๊ะการเจรจาในรอบต่อไปก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งคล้ายเป็นการยื่นเงื่อนไข "สุดโต่ง" ที่ไม่มีทางเป็นไปได้ เพื่อ "ล้มโต๊ะเจรจา" มากกว่า

               เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มองว่า เป็นการเร่งเกมของกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งได้วางระบบการปฏิบัติการมาตั้งแต่ปี 2527 เพื่อเดินไปสู่จุดหมายที่ได้วางเอาไว้ในการกอบกู้รัฐปัตตานี เพราะเงื่อนไข 5 ข้อที่ได้เสนอไปก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยก็ยังไม่ตอบให้แน่ชัด ทำให้แกนนำบีอาร์เอ็นรีบฉวยจังหวะยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเติมเพื่อกดดัน

               นอกจากนี้ การยื่นข้อเสนอของนายฮัสซันยังเป็นการโยนความล้มเหลวให้รัฐบาล เพราะหากไม่ยอมรับข้อเสนอของกลุ่มบีอาร์เอ็น ทางกลุ่มบีอาร์เอ็นก็จะอ้างว่า รัฐบาลไม่ยอมรับข้อตกลง และเป็นต้นเหตุให้ความรุนแรงในพื้นที่ไม่ลดลง ทั้งที่ความเป็นจริง นายฮัสซัน และแกนนำกลุ่มนี้ไม่สามารถคุมสภาพกองกำลังในพื้นที่ได้จริง เพราะกองกำลังรุ่นใหม่ปฏิเสธการเจรจาครั้งนี้มาตั้งแต่ต้น

               “การรุกคืบครั้งนี้ถือเป็นการทิ้งไพ่ใบใหม่ใส่รัฐบาล ซึ่งในทางปฏิบัติการแก้ปัญหาจะซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ และรัฐบาลจะต้องเดินตามเกมบีอาร์เอ็น เพราะบีอาร์เอ็นมีตัวตนขึ้นมาแล้ว เมื่อเราไปยกระดับให้เขามีตัวตน ก็จะต้องหาทางแก้ไขปัญหานี้ต่อไป ส่วนผลสรุปจะออกมาอย่างไร จะมีการล้มโต๊ะการเจรจาหรือไม่ ก็จะต้องดูสัญญาณในพื้นที่ต่อไป”

               เจ้าหน้าที่ความมั่นคงคนเดิมชี้ว่า 7 ข้อเสนอล่าสุดของบีอาร์เอ็นเป็นเพียงความต้องการของคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น แต่ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ต้องการเพียง "คุณภาพชีวิตที่ดี" เท่านั้น รวมถึงการได้รับการยอมรับ และการได้รับความเป็นธรรม ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน แต่มีเพียงเซลล์เล็กๆ ที่เป็นแนวร่วมของกลุ่มก่อความไม่สงบเท่านั้นที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน เพื่อปกครองตนเอง

               เขาวิเคราะห์อีกว่า การที่รัฐบาลยกระดับสถานะของกลุ่มความไม่สงบ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามฉวยโอกาสโยนเงื่อนไขต่อสาธารณะเพื่อช่วงชิงการนำ และสร้างความสำคัญของกลุ่มตนเองขึ้นมา ซึ่งหากฝ่ายรัฐบาลยิ่งตอบสนองต่อข้อเรียกร้องก็จะเข้าทางฝ่ายนั้นไปเรื่อยๆ

               "ขณะนี้หัวหน้าใหญ่ของบีอาร์เอ็นส่งสัญญาณให้ นายอัสซัน ตอยิบ เร่งปฏิบัติการ เพราะทางหัวหน้าใหญ่ก็ถูกกดดันมาอีกที จึงได้สั่งการให้นายฮัสซันยื่นเงื่อนไขกดดันให้รัฐบาลไทยยอมปฏิบัติตามแผนบันได 7 ขั้นของกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งขณะนี้บรรลุมาเกือบถึงบันไดขั้นที่ 7 แล้ว คือการปกครองตนเอง หรือการจัดตั้งรัฐปัตตานี"

               เจ้าหน้าที่ความมั่นคงคนเดิมยังแจ้งเตือนด้วยว่า การก่อเหตุในขณะนี้ทางฝ่ายนั้นพยายามพุ่งเป้าเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคู่ต่อสู้กับกลุ่มขบวนการ และในการปิดล้อมตรวจค้นอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ระดับหัวหน้าของผู้ก่อความไม่สงบก็เสียชีวิตจากการปะทะไปหลายคน

               “กลุ่มก่อความไม่สงบพยายามเอาคืน โดยพุ่งเป้ามาที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจมากขึ้น ล่าสุดมีการปล่อยข่าวการตั้งค่าหัวเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าชุด ทั้งนี้ กลุ่มก่อความไม่สงบได้เกาะติดการเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้นตลอดระยะเวลา และรอเพียงจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการปฏิบัติการเท่านั้น”

               เจ้าหน้าที่ความมั่นคงคนเดิมเตือนเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ด้วยว่า "รถทหาร" หรือ "รถตำรวจ" ที่ใช้ในราชการก็เป็นจุดอ่อนที่กลุ่มก่อความไม่สงบสามารถปฏิบัติการได้ง่าย โดยปัจจุบันกลุ่มก่อความไม่สงบได้ใช้โปรแกม "ไลน์" ในโทรศัพท์มือถือเพื่อถ่ายรูปรถเจ้าหน้าที่ เพื่อ "ชี้เป้า" ให้ชุดลอบสังหาร เมื่อได้รูปรถพร้อมทะเบียนแล้ว การโจมตีเป้าหมายก็สามารถทำได้อย่างถูกต้องแม่นยำ


หลากความเห็นเมื่อ'ฮัสซัน'หาทางลง

               คำประกาศของนายฮัสซัน ตอยิบ ที่ยื่นเงื่อนไขใหม่ของขบวนการบีอาร์เอ็นผ่านคลิปวิดีโอเผยแพร่ทางยูทูบล่าสุด ที่ให้ทางการไทยถอนทหาร-ตำรวจพ้นพื้นที่ชายแดนใต้แลกกับการยุติก่อเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน และให้นำข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่เสนอไปก่อนหน้านี้เข้าขอความเห็นชอบจากรัฐสภา มิฉะนั้นจะไม่มีการพูดคุยเจรจาครั้งต่อไปนั้น มีความเห็นตามมาในฉับพลันว่า ล้วนเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยาก

"อังคณา"จี้วางปืนแลกถอนทหาร

               นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ให้ความเห็นว่า ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ไม่น่าเป็นไปได้ โดยเฉพาะที่ให้รัฐบาลถอนกำลังทหารและตำรวจออกจากพื้นที่ จะกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ประชาชนในพื้นที่หรือไม่ เพราะไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ถอนกำลังออกไปแล้ว กลุ่มผู้ก่อการจะหยุดก่อเหตุจริงๆ

               กรณีลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นที่อาเจะห์ (ปัจจุบันเป็นเขตปกครองพิเศษของอินโดนีเซีย) ซึ่งเคยมีการต่อสู้เพื่อตั้งรัฐใหม่แยกจากอินโดนีเซีย กรณีของอาเจะห์ รัฐบาลอินโดนีเซียถอนทหารในวันเดียวกับที่กลุ่มขบวนการต่อสู้ (กลุ่ม GAM) วางปืนให้เห็นต่อหน้าองค์กรระหว่างประเทศที่เข้าไปเป็นสักขีพยาน ทั้งสหภาพยุโรป หรือองค์การสหประชาชาติ แต่ในสามจังหวัดของไทยยังไม่เห็นมีการวางอาวุธ

               "หากจะให้ถอนกำลังทหารตำรวจ แต่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยังสามารถขับรถกระบะถือปืนเอ็ม 16 ยิงคนได้อย่างเสรี อย่างนี้ไม่ใช่ข้อตกลงสันติภาพ" นางอังคณา ระบุ

"อนุศาสน์"ลั่นไม่มีรัฐบาลไหนในโลกรับได้

               นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สายสรรหา ชาว จ.ปัตตานี กล่าวว่า การยื่นเงื่อนไขเพิ่มเติมของกลุ่มบีอาร์เอ็นแสดงให้เห็นว่า ไม่มีความจริงใจมากพอที่จะร่วมมือลดเหตุรุนแรง มีแต่ข้อเสนอให้รัฐบาลไทย หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 จะพบว่ารัฐบาลมีข้อเสนออย่างเดียวคือให้ลดความรุนแรง แต่บีอาร์เอ็นก็ยังทำไม่ได้ เป้าหมายอ่อนแอยังตกเป็นเหยื่อตลอด กรณีสังหารหมู่ 6 ศพที่ร้านชำในตัวเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ก็ยังกล่าวหาว่ารัฐอยู่เบื้องหลังด้วย

               "เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มเหตุการณ์ตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่มีความหวังว่าช่วงรอมฎอนความรุนแรงจะลดน้อยลง แต่เงื่อนไขใหม่ที่เสนอมานี้ ต้องบอกว่าไม่มีรัฐบาลไหนในโลกยอมรับได้ คิดว่าส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ สร้างความชอบธรรมให้ตัวเองและหาพวก หรือไม่ก็หาเสียงกับคนในพื้นที่ ปัญหาเกิดจากความผิดพลาดที่เราไปให้เวทีกับเขา ไปผูกมัดตัวเราเองจนเข้าทางเขา และเขาก็ใช้โอกาสอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันเราเองก็ไม่มีกรอบการพูดคุยเจรจาที่ชัดเจน ทำให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นปฏิบัติอยู่นอกเหนือข้อตกลงตลอดเวลา"

นักวิชาการชี้"ฮัสซัน"หาทางลง

               ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า เรื่องนี้มองได้ 3 ประเด็น คือ

               1.การยื่นเงื่อนไขใหม่ เป็นความต่อเนื่องจาก 5 ข้อเรียกร้องเดิม ซึ่งหลังจากยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อแล้ว บีอาร์เอ็นค่อนข้างได้เปรียบ เสมือนหนึ่งเป็นผู้วางกรอบการพูดคุย แม้รัฐบาลไทยจะประกาศว่าไม่รับข้อเรียกร้อง แต่ก็เกือบรับในช่วงแรก และจากท่าทีก็ถูกตีความเหมือนกับรับไปแล้ว ทำให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นได้เปรียบ และการพูดคุยกันครั้งล่าสุด (13 มิ.ย.) ก็มีการพูดคุยกันตามกรอบของข้อเรียกร้อง 5 ข้อนี้ ล่าสุดบีอาร์เอ็นจึงยื่นเงื่อนไขใหม่ตามมาอีก

               2.ยังคงมีคำถามว่ากลุ่มของนายฮัสซันได้รับการยอมรับจากกองกำลังในพื้นที่จริงหรือไม่ สะท้อนว่าในองค์กรบีอาร์เอ็นก็มีปัญหาเช่นกัน การยื่นเงื่อนไขใหม่ด้วยบริบทที่หนักแน่น แข็งกร้าวกว่าเดิมของกลุ่มนายฮัสซัน ก็ถือเป็นการเรียกความเชื่อมั่นจากกองกำลังในพื้นที่ให้หันมาสนับสนุนกลุ่มของตน พร้อมทั้งแสวงหาความเป็นตัวแทนของคนในพื้นที่

               3.ต่อเนื่องจากข้อ 2 คือเมื่อสถานะของนายฮัสซันอาจจะไม่ได้รับการยอมรับมากนักจากหลายๆ กลุ่มในพื้นที่ การยื่นข้อเรียกร้องที่เป็นไปได้ยากแต่ได้ใจกลุ่มต่อต้านรัฐไทยแบบนี้ ก็อาจจะเป็น exit strategy หรือการหาทางออกให้แก่ตัวเอง หรืออาจจะเรียกว่าหาทางลงจากหลังเสือของนายฮัสซันก็ได้

               "สถานะของนายฮัสซันที่ไม่สามารถคุมกองกำลังในพื้นที่ได้จริง เป็นเรื่องเก่าที่รู้กันอยู่แล้ว และทุกฝ่ายก็น่าจะเห็นตรงกัน เช่นเดียวกับการล้มโต๊ะเจรจาที่น่าจะเป็นทางออกหนึ่งของปัญหาในกระบวนการพูดคุยหนนี้ ฉะนั้นเมื่อพูดคุยกันมา 3-4 รอบแต่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร และนายฮัสซันเองก็เปิดเผยหน้าตาผ่านสื่อไปหมดแล้ว เขาเองก็อาจจะต้องมานั่งคิดว่าจะอยู่ต่อไปอย่างไร การเสนอข้อเรียกร้องแบบแรงๆ และอีกฝ่ายปฏิบัติไม่ได้แน่ๆ ก็อาจจะเป็นทางออกที่สวยงามจากกระบวนการนี้" 

แนะ "คุยตรง" กับกลุ่มในพื้นที่

'               ดร.ปณิธาน เสนอว่า รัฐบาลน่าจะปรับวิธีการด้วยการเปิดวงพูดคุยตรงกับบรรดาแกนนำกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในพื้นที่ด้วย "ผมคิดว่าคณะทำงานชุดเล็กเป็นเรื่องจำเป็น โดยต้องดึงฝ่ายปฏิบัติในพื้นที่ซึ่งมีประสบการณ์กับการพูดคุยลักษณะนี้อยู่แล้วไปร่วมทีมด้วย และไม่ใช่คุยแต่กับกลุ่มของนายฮัสซันเท่านั้น แต่เป็นกลุ่มอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ เราอาจให้ฝ่ายปฏิบัติเปิดชื่อของแกนนำเหล่านี้ แล้วรุกเข้าไปพูดคุยกับเขาเลย ที่ผ่านมาเรามีฐานข้อมูลอยู่แล้วจากหมายจับและ หมาย พ.ร.ก.(ออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) แต่วิธีการคือเข้าไปปิดล้อมตรวจค้นแล้วจับกุม หรือยิงเขาตาย ฉะนั้นถ้ายกคนกลุ่มนี้ขึ้นมา เปิดชื่อเปิดตัวแล้วไปหาเขา พูดคุยกับเขา แทนการปิดล้อมจับกุม น่าจะเป็นการเปิดแนวรุกทางการเมืองใหม่โดยไม่ต้องรอการเจรจากับกลุ่มนายฮัสซันอย่างเดียว"


.........................................................

(หมายเหตุ : บีอาร์เอ็นตีกินนอกโต๊ะเจรจา ส่ง'ไลน์'ชี้เป้า'หัวหน้าชุด' : ทีมข่าวความมั่นคง / เสถียร วิริยะพรรณพงศา / ปกรณ์ พึ่งเนตรรายงาน)