
ละติจูดที่6@ปัตตานีภาพยนตร์เพื่อชายแดน
ละติจูดที่6@ปัตตานี ภาพยนตร์เพื่อชายแดน : ปกรณ์ พึ่งเนตรรายงาน
พูดถึง "ละติจูดที่ 6" หลายคนอาจไม่ทราบว่า เป็น "เส้นรุ้ง" ที่พาดผ่านสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ "ละติจูดที่ 6" กำลังจะเป็นชื่อภาพยนตร์เกี่ยวกับแง่งามของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะเข้าฉายภายในปีนี้
ส่วนที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดก็คือ "ละติจูดที่ 6" เป็นภาพยนตร์ที่ทุ่มทุนสร้างโดยหน่วยงานรัฐที่ชื่อ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.)
"ใครที่มองภาพ กอ.รมน.ว่าต้องเป็นองค์กรที่ดุดัน เคร่งเครียด น่ากลัว เพราะทำงานด้านความมั่นคงแล้วล่ะก็ ต้องลบภาพนี้ไปได้เลย เพราะนี่คือความมั่นคงยุคใหม่ เป็นการสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้คนผ่านทางสื่อภาพยนตร์ และนี่คือบทบาทใหม่อีกบทบาทหนึ่งของ กอ.รมน" พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (ศปป.5) กอ.รมน.กล่าว
จริงๆ แล้ว กอ.รมน.เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะที่ ศปป.5 คือศูนย์ปฏิบัติการฯ ที่รับผิดชอบงานเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง ส่วน พล.ต.นักรบ เป็นคีย์แมนสำคัญคนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดภาพยนตร์เรื่องนี้
หลักการเริ่มจากการเสริมสร้างความเข้าใจ ซึ่งเป็นภารกิจหลักด้านหนึ่งของการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเขียนไว้ในนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ที่จัดทำโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ด้วย
"เรื่องนี้ ศปป.5 ทำมาหลายปี วิเคราะห์ออกมาได้ว่า การสร้างความรับรู้และความเข้าใจนั้น ถ้าจะทำให้ง่ายและได้ผลดีต้องใช้เวลา ไม่ใช่การยิงสปอตแค่1-2 นาที ฉะนั้นการสื่อสารที่ใช้เวลาจะได้ผลมากกว่า แต่ปัญหาคือ หากไปจัดสัมมนาแล้วนำไปเผยแพร่ หรือทำรายการแบบเชิญคนมานั่งคุยกัน อย่างนั้นมันน่าเบื่อ เพราะการจะดูหรือรับฟังรับรู้อะไรยาวๆ มันต้องมีการนำเสนอที่น่าสนใจด้วย สุดท้ายจึงมาจบที่ภาพยนตร์"
พล.ต.นักรบ ขยายความว่า การสร้างภาพยนตร์จะสร้างความรับรู้และความเข้าใจได้ง่ายที่สุด สามารถสร้างอารมณ์ร่วมได้กับคนทุกรุ่น ทุกวัย โดยเฉพาะถ้าสามารถผูกเรื่องได้ดี คัดเลือกนักแสดงที่เก่งๆ จะทำให้ผู้ชมอินไปกับเรื่องราวตลอด 2 ชั่วโมงของหนัง ยิ่งถ้าสร้างความประทับใจได้ก็จะจำนาน และอยู่ในความทรงจำไปตลอด
"จากหนังเรื่องหนึ่ง เราสามารถขยายผลไปได้อีกหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่ใบปิดหนัง หรือ แฮนด์บิลล์ ก็สร้างความรู้สึกที่ดีๆ ได้ พอหนังออกจากโรงก็ทำซีดีเผยแพร่ต่อ หรือช่วงของการโปรโมทก็สร้างกระแสผ่านโซเชียลมีเดีย หรืออย่างเรื่องเพลงประกอบหนัง เราก็นำมาขยายได้อีกทาง ขณะที่นักแสดงเราก็ต้องเลือกคนที่มีชื่อเสียงพอสมควร เพราะแต่ละคนก็จะมีแฟนคลับของเขาช่วยสร้างความคึกคักให้แก่หนังได้"
"แต่ทุกอย่างไม่ได้มุ่งไปที่ผลกำไร เพราะเรามุ่งเพื่อสร้างความเข้าใจ ทั้งธีมของหนัง เนื้อเรื่อง นักแสดง ภาพทุกภาพ และเพลงประกอบ เราจะไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับความรุนแรงเลย ทุกอย่างมุ่งสื่อสารไปที่สันติภาพและการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลายอย่างสันติสุข"
พล.ต.นักรบ เล่าต่อว่า แม้จะได้ข้อสรุปลงตัวที่การสร้างภาพยนตร์ แต่กระบวนการสร้างก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานความมั่นคงโดยเฉพาะทหารไม่มีความคุ้นเคยเอาเสียเลย
"ครั้นจะไปจ้างบริษัทใหญ่โตมาทำ งบประมาณมันก็สูง ก็ไม่กล้าติดต่อเขา พอดีผมมีเพื่อนทำเรื่องมีเดีย ก็เลยขอให้มาช่วยคิด และให้เขาหาผู้กำกับหนังมานั่งคุยกันด้วย คือ "คุณเจมส์" ธนดล นวลสุทธิ์ เมื่อคุยกันแล้ว ได้รู้แนวคิดกันแล้ว ก็มองเห็นความเป็นไปได้ โดยคอนเซ็ปต์หลักของเราที่แปรมาเป็นบทภาพยนตร์ก็คือ การสร้างความเข้าใจ ทั้งความเข้าใจพื้นที่และความเข้าใจต่อพี่น้องมุสลิม โดยสื่อผ่านความสวยงามของพื้นที่และสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งสามารถอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างได้อย่างมีความสุข"
"โครงเรื่องของเราไม่ซับซ้อน ตัวละครมี 3 รุ่น เพื่อให้ตัวหนังสามารถเข้าถึงคนทุกระดับ ทุกกลุ่มอายุ คือรุ่นผู้ใหญ่ วัยรุ่น และเด็ก โดยมีฉากหลังเป็นความสวยงามของปัตตานี ทั้งวังเก่า บ้านเรือน สถานที่ที่เป็นประวัติศาสตร์มีความเป็นมา และการอยู่ร่วมกันของพุทธมุสลิม" พล.ต.นักรบ กล่าว
"ละติจูดที่ 6" เป็นเรื่องราวชีวิตช่วงหนึ่งของ "ต้น" ซึ่งรับบทโดย ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล พระเอกในรุ่นผู้ใหญ่ที่ต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปปัตตานีเพื่อวางระบบคอมพิวเตอร์ให้แก่ธนาคารอิสลาม ระหว่างนั้นได้ไปรู้จักและมีความรู้สึกดีๆ กับ "ฟ้า" ที่แสดงโดย "โบว์ลิ่ง" ปริศนา กัมพูสิริ อดีตนางสาวไทยรับบทสาวมุสลิม และเป็นครูโรงเรียนประถม
ท่ามกลางการพัฒนาความสัมพันธ์ของพระเอกนางเอก ก็มีเรื่องราวของนักแสดงรุ่นกลาง คือ ณัฐชา จันทรพันธ์ หรือ เมาส์ บีโอวาย แสดงเป็น "ชารีฟ" นักปันจักสีลัตของโรงเรียน ที่มีความรู้สึกพิเศษกับ "เฟิร์น" รับบทโดย "น้องมายด์" วิรพร จิรเวชสุนทรกุล สาเหตุที่เลือกปันจักสีลัตก็เพื่อสร้างกระแสให้แก่เยาวชนในสามจังหวัดหันมาเล่นกีฬาประเภทนี้
ส่วนนักแสดงรุ่นเด็กที่มาสร้างสีสัน คือ น้องใยไหม เล่นเป็น "ฝ้ายฟู" หลานของ "ต้น" ที่ตามไปใช้ชีวิตที่ปัตตานีด้วยกัน นอกจากนั้นยังมี "บ่าววี" วีรยุทธิ์ นานช้า นักร้องชื่อดังจากแดนใต้ และดาราสมทบซึ่งเป็นพี่น้องในพื้นที่ เช่น ลูกสาวของอดีตผู้ว่าฯ ปัตตานี ร่วมสร้างความสนุกสนานและความประทับใจตลอดเรื่อง
พล.ต.นักรบ บอกว่า จุดที่เน้นที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่ตอนเขียนบทก็คือ ต้องไม่มีภาพความรุนแรง รวมทั้งเนื้อหาต้องไม่กระทบอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง ความสัมพันธ์ของคู่พระนางในเรื่องก็ไม่ได้ถึงขั้นเป็นความรัก แต่เป็นความรู้สึกดีๆ ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ กอ.รมน.ระมัดระวังมาก โดยตลอดการเขียนบทและถ่ายทำทุกขั้นตอนผ่านความเห็นชอบของผู้นำศาสนาและมีมุสลิมเป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิด
"เราอยากให้สังคมไทยหรือคนที่ไม่เคยได้ไปสัมผัสสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เห็นความสวยงามของพื้นที่ ความน่ารักของพี่น้องมุสลิม และที่สำคัญคือ เราต้องการบอกผ่านภาพยนตร์ว่า เรายอมรับอัตลักษณ์ของพี่น้องมลายู และเราสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคมพหุวัฒนธรรม"
สำหรับเรื่องทุนสร้าง พล.ต.นักรบ แย้มให้ฟังว่า ตั้งงบไว้ที่ประมาณ 15-20 ล้านบาท ซึ่งในมุมหนึ่งอาจจะมองว่าสูง แต่สำหรับการทำภาพยนตร์ดีๆ สักเรื่องหนึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่สูงนัก งบก้อนนี้ กอ.รมน.ให้ทุนสนับสนุนประมาณ 10 ล้านบาท ส่วนที่เหลือบริษัทสร้างภาพยนตร์ คือ บริษัทยูซีไอ มีเดีย จำกัดเป็นผู้รับผิดชอบ ก็ถือเป็นความกล้าหาญของบริษัทที่กล้าลงทุน ทั้งๆ ที่มีความเสี่ยงว่าจะไม่คุ้มทุนอยู่เหมือนกัน ก็ถือเป็นเจตนาดีที่ต้องการช่วยชาติ
"เรายังไม่รู้ว่าหนังจะทำเงินไหม อย่างที่บอกว่า เราไม่ได้สนเรื่องกำไร เพราะมีข้อตกลงกันว่า ถ้าได้กำไรกลับมา กอ.รมน.ไม่รับ แต่บริษัทต้องทำสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ให้แก่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจจะไปบริจาคช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์"
พล.ต.นักรบ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ละติจูดที่ 6 น่าจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ได้ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยกำลังประสานงานกันอยู่ อาจจะเป็นวันที่ 12 สิงหา วันแม่แห่งชาติ และจะเชิญผู้ใหญ่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวกับงานการแก้ไขปัญหาภาคใต้ไปรับชมพร้อมกัน ทั้งยังเตรียมส่งเข้าประกวดเพื่อชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากหลายๆ เวทีด้วย
---------------------------
(หมายเหตุ : ละติจูดที่6@ปัตตานี ภาพยนตร์เพื่อชายแดน : ปกรณ์ พึ่งเนตรรายงาน)