ข่าว

วัดพลังทอร์นาโดกันอย่างไร?

วัดพลังทอร์นาโดกันอย่างไร?

08 มิ.ย. 2556

เวิลด์วาไรตี้ : วัดพลังทอร์นาโดกันอย่างไร?

 

                       พลังธรรมชาติเป็นสิ่งที่มนุษย์ยังไม่สามารถเอาชนะได้ แม้จะมีเทคโนโลยีก้าวล้ำนำหน้าเพียงใด เมื่อธรรมชาติจะ "เอาคืน" มนุษย์ก็ไม่สามารถต้านทานหรือหลีกเลี่ยงได้พ้น ดั่งเช่นพายุทอร์นาโดที่ก่อตัวถล่มรัฐโอคลาโฮมาสองระลอกใหญ่ในเวลาห่างกันแค่สองสัปดาห์ในเดือนพฤษภาคม ทำลายบ้านเรือน อาคารโรงเรียน ที่ตั้งขวางเส้นทางเคลื่อนตัวของพายุหมุนขนาดใหญ่ลูกนี้พังราบเป็นหน้ากลอง แม้แต่รถกระบะน้ำหนักกว่า 2,500 กิโลกรัมยังลอยขึ้นไปบนฟ้าได้ราวกับมีมือยักษ์มาจับของเล่นโยนขึ้นไป

                       โดยเฉพาะลูกที่ถล่มโอคลาโฮมา ซิตี้ เมื่อปลายเดือนที่แล้ว เมื่อผู้เชี่ยวชาญประเมินความเสียหายอีกรอบ ได้มีการปรับระดับความแรงพายุใหม่จากระดับอีเอฟ 3 เป็นอีเอฟ 5 ที่มีความเร็วลมศูนย์กลาง 474 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เร็วสุดเป็นอันดับสองของทอร์นาโดระดับนี้ ทั้งยังทำสถิติใหม่เป็นพายุที่มีขอบข่ายกว้างมากที่สุดถึง 4.16 กิโลเมตร ซึ่งความกว้างของพายุแสดงถึงขอบเขตในการทำลายของพายุลูกนี้ด้วยเช่นกัน

                       ในประเทศริมมหาสมุทรแอตแลนติกจะเรียกพายุหมุนว่า "ทอร์นาโด" ขณะที่ประเทศริมขอบมหาสมุทรแปซิฟิกจะเรียกพายุชนิดเดียวกันนี้ว่า "ไต้ฝุ่น" และประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดาใช้มาตรวัดความแรงของพายุหมุนเช่นนี้ตามความเร็วลมศูนย์กลางของพายุ ที่เรียกชื่อว่า "เอนแฮนซ์ ฟูจิตะ สเกล" (Enhance Fijita Scale) โดยตั้งชื่อตามนายเททสุยะ ธีโอดอร์ ฟูจิตะ "มิสเตอร์ทอร์นาโด" นักวิจัยพายุชาวญี่ปุ่น-อเมริกัน โดยมีการนำมาตรวัดความแรงของพายุของนายฟูจิตะมาใช้ตั้งแต่ปี 2514 เป็นต้นมา

                       ในมาตรวัดความแรงของพายุตามมาตรา เอนแฮนซ์ ฟูจิตะ แบ่งความแรงของพายุออกเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่ อีเอฟ 0 ถึงอีเอฟ 5 ตามความเร็วลมศูนย์กลางตั้งแต่ 104-137 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในระดับอีเอฟ 0 จนถึงความเร็วลมศูนย์กลางมากกว่า 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในระดับอีเอฟ 5

                       แต่แม้มีมาตรวัดความเร็วลมที่ประเมินอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่ออาคารบ้านเรือน ที่อยู่ในเส้นทางการเคลื่อนตัวของพายุได้ และมีระบบตรวจจับการเกิดพายุเพื่อเตือนผู้คนในเส้นทางพายุพัดผ่านให้หลบเข้าที่ปลอดภัยได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่รู้ว่าพายุมีการก่อตัวขึ้นเมื่อไหร่ และมีปัจจัยในการก่อตัวอย่างไร รวมทั้งโครงสร้างทางกายภาพของพายุเป็นเช่นใด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยรักษาชีวิตของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจะเกิดพายุทอร์นาโดได้อีกมาก

                       พายุทอร์นาโดเกิดขึ้นเป็นประจำในทวีปอเมริกา สถิติจากองค์การสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ (โนอา) ระบุว่าในแต่ละปีมีพายุทอร์นาโดเกิดขึ้นเฉลี่ย 1,253 ลูกในพื้นที่ 50 รัฐของสหรัฐอเมริกา เว้นแต่อลาสกา ที่ไม่มีปัจจัยก่อให้เกิดพายุหมุน