
ปัญหาหนักอกผู้ผลิตกระดาษสา
เสียงสะท้อน SME : 'วัตถุดิบขาด-ต้นทุนขยับ' ปัญหาหนักอกผู้ผลิตกระดาษสา : โดย...ประภาภรณ์ เครืองิ้ว
บ้านต้นเปา เป็นหมู่บ้านในเขต ต.ต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ พื้นที่แห่งนี้คือ ชุมชนผลิตสินค้าหัตถกรรมที่ทำจากกระดาษสา เป็นการสืบทอดภูมิปัญญาของท้องถิ่นตั้งแต่บรรพบุรุษ ที่สืบต่อกันมากว่า100 ปี จนมีฐานะขึ้นชื่อเป็นแหล่งผลิตกระดาษสารายใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ ที่สำคัญก็คือ การมีบทบาทในฐานะแหล่งผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ เส้นทางความเป็นมาของอาชีพนี้ มาจากการที่เกษตรกรใช้เวลาว่างในการทำกระดาษสา ส่งให้บ้านบ่อสร้าง ใน จ.เชียงใหม่ เพื่อนำไปทำเป็นร่มกระดาษสา อย่างไรก็ตาม เมื่อรูปแบบการทำร่มบ่อสร้างเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ใช้กระดาษสามาเป็นใช้ผ้าในการทำร่ม ส่งผลให้การทำกระดาษสาค่อยๆ ลดความสำคัญลงไป
แต่ด้วยความที่เป็นหมู่บ้าน ซึ่งมีการทำกระดาษสามาอย่างยาวนาน ทำให้ผู้คนในพื้นที่อาศัยความได้เปรียบจากความรู้ความชำนาญในการทำกระดาษสา จึงคิดพัฒนายกระดับกระดาษสา จนเกิดการรวมกลุ่ม และเมื่อผนวกเข้ากับการสนับสนุนจากจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในปี 2547 ด้วยการผลักดันให้เกิดงาน “มหัศจรรย์ล้านนา เมืองกระดาษสาบ้านต้นเปา” ส่งผลสินค้าที่ผลิตจากกระดาษสา กลับมาเป็นที่ได้รับการยอมรับอีกครั้งนับจากนั้น และเกิดการรวมกลุ่มและวางแผนการผลิตสินค้าที่มีความหลากหลายขึ้น โดยสินค้าจากกระดาษสาที่ผลิตขึ้นมา ประกอบด้วย ถุงกระดาษ สมุด กระดาษ ไปจนถึงกระเป๋า และชุดกระดาษสา ส่วนราคาในการจำหน่ายสินค้ามีราคาตั้งแต่ 20 บาท ไปจนถึงหลักพันบาท
สำหรับรูปแบบการแบ่งงานในกลุ่มนั้น จะเป็นในลักษณะของผู้ประกอบการรายใหญ่ เป็นผู้รับงาน และมีการส่งคำสั่งซื้อให้ผู้ผลิตในท้องถิ่น เมื่อมีการสั่งซื้อจากต่างประเทศผู้จำหน่ายรายใหญ่จะเป็นผู้สั่งสินค้า ซึ่งจะเน้นความถนัดของแต่ละกลุ่ม ขณะที่ผู้ผลิตท้องถิ่นก็ยังมีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าที่ผลิตขึ้นเพื่อจำหน่ายในท้องถิ่นอย่างเป็นอิสระ ทั้งการนำไปจำหน่ายเองตามงานต่างๆ ทั้งการออกงานของในจังหวัดหรือในภูมิภาค ส่วนการจำหน่ายในต่างประเทศของผู้ค้ารายใหญ่จะเน้นการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในแถบยุโรป และเอเชีย อย่างประเทศญี่ปุ่น
ขณะเดียวกันในการผลิตกระดาษสาโดยผู้ผลิตท้องถิ่น ปัจจุบันกำลังพบปัญหาวัตถุดิบหายาก และมีราคาที่สูงขึ้นมากส่งผลให้ทางกลุ่มกระดาษสาต้องมีการหาวัตถุดิบอื่นเข้ามาเป็นส่วนผสมในการผลิต ทั้งนี้ การผลิตกระดาษสา มีที่มาจาก "ปอสา" ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต โดยปอสาคือพืชเส้นใยชนิดหนึ่ง อยู่ในตระกูลเดียวกับหม่อนและขนุน คุณสมบัติที่ดี คือ ทนทานไม่กรอบเปื่อยยุ่ย เก็บรักษาได้นาน หากใช้ทำหนังสือตัวหนังสือจะไม่ซีดจาง
ปัจจุบันผลผลิตปอสาส่วนใหญ่ต้องสั่งซื้อจาก จ.น่าน และด้วยการเติบโตของสินค้าที่ผลิตจากกระดาษสา ทำให้ในพื้นที่ จ.น่าน เกิดการผลิตสินค้าจากกระดาษสาเช่นกัน เป็นผลให้ต้นทุนในการสั่งซื้อปอสาเพิ่มมากขึ้น และเมื่อมีการขยายตัวในการผลิตสินค้าจากปอสามากขึ้น ทำให้เริ่มขาดแคลนวัตถุดิบ จนต้องมีการนำเข้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นั่นหมายความว่าต้นทุนในการผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จากกิโลกรัมละ 20-30 บาทเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 45 บาท ในปัจจุบัน
"ตอนนี้การทำกระดาษสาประสบปัญหาเกี่ยวกับวัตถุดิบ โดยในปี 2555 รายได้ในการจำหน่ายสินค้าของกระดาษสาในภาพรวมแล้วลดลงมาอยู่ที่ 30-40 ล้านบาท จากปีก่อนๆ ที่มีรายได้กว่า 70-80 ล้านบาท สาเหตุเกิดจากคำสั่งซื้อของลูกค้าลดลง เนื่องจากมีการปรับราคาตามต้นทุนวัตถุดิบที่แพงขึ้น เมื่อผู้นำเข้าเห็นว่าราคาแพงขึ้น ก็ลดการสั่งนำเข้า ซึ่งผู้ผลิตในระดับท้องถิ่น ต้องการให้หน่วยงานรัฐส่งเสริมการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นตลาดในประเทศ และหาโอกาสในการเพิ่มช่องทางในการทำตลาดต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งมองว่ายังมีโอกาสจะขยายตัวได้" ประชัน ญี่นาง ผู้ผลิตกระดาษสารายหนึ่ง ต.ต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ สะท้อนความเห็น
ทั้งนี้ หากเป็นไปได้อยากให้หน่วยงานภาครัฐจัดให้มีการจัดกิจกรรม หรือจัดทัวร์ท่องเที่ยวลงในพื้นที่ ในลักษณะการชมวิถีชีวิตของภาคการผลิตท้องถิ่น ในการทำกระดาษ เปิดโอกาสให้ศึกษาขั้นตอนในการทำกระดาษสา เพื่อส่งเสริมให้แรงงานในท้องถิ่นหรือชุมชนมีรายได้ด้านการท่องเที่ยว เข้ามาเป็นส่วนเสริมด้วยนอกเหนือจากรายได้ในการผลิตสินค้า
"ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวจากหน่วยงานราชการ ที่จะดำเนินโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวบ้านต้นเปา แต่ยังไม่มีความแน่นอน จึงอยากให้มีการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งให้ภาครัฐนำเข้าปอสา จำหน่ายให้ผู้ผลิตโดยตรงไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เนื่องจากการซื้อปอสาในปัจจุบันต้องผ่านกระบวนการคนกลางหลายทอด จึงทำให้ราคาปอสาขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นอุปสรรคกับผู้ผลิตในท้องถิ่น ที่ซื้อวัตถุดิบไปผลิตสินค้า เพราะหากราคาต้นทุนสูงขึ้น ที่สุดแล้วก็ต้องกระทบไปถึงปลายทางที่เป็นผู้ซื้อ" ประชัน กล่าว
เป็นข้อเสนอจากผู้ผลิตท้องถิ่นเพื่อเปิดช่องทาง ให้งานฝีมือที่เคยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้หมุนเวียนกับพื้นที่ ยังสามารถที่จะเติบโตต่อไปได้
--------------------
(เสียงสะท้อน SME : 'วัตถุดิบขาด-ต้นทุนขยับ' ปัญหาหนักอกผู้ผลิตกระดาษสา : โดย...ประภาภรณ์ เครืองิ้ว)