
'ทอร์นาโด'คร่านักล่าพายุดับ3
สหรัฐต้องสูญเสียชีวิตนักล่าพายุเป็นครั้งแรกถึง 3 คน ในเหตุการณ์พายุทอร์นาโดพัดถล่มรัฐโอกลาโฮมาเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว
3 มิ.ย. 56 เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า พายุทอร์นาโดและพายุฝนกระหน่ำที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในรัฐโอกลาโฮมา มิสซูรี่ และอาร์คันซอส์ในช่วงวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 13 คน ในจำนวนนี้รวมถึงนักล่าพายุทอร์นาโดมืออาชีพ 3 คน ศูนย์พยากรณ์อากาศแห่งชาติในเมืองนอร์แมน รัฐโอกลาโฮมา เปิดเผยว่าเป็นครั้งแรกที่มีนักวิจัยพายุทอร์นาโดเสียชีวิตขณะทำงานไล่ติดตามทอร์นาโด
ผู้เสียชีวิตประกอบด้วย ทิม ซามาราส วัย 55 ปี ผู้ก่อตั้งบริษัทวิจัยทอร์นาโด "ทวิสเท็กซ์" พร้อมด้วย ลูกชาย วัย 24 ปี พอล ซามาราส และคาร์ล ยัง นักอุตุนิยมวิทยาของบริษัท วัย 45 ปี ทั้งหมดผจญพายุทอร์นาโดในเมืองเอล เรโน่ ทางตะวันตกของเมืองโอกลาโฮมาซิตี้เมื่อวันศุกร์ โดยพายุหมุนตัววกกลับแบบไม่ทันคาดคิดทำให้รถล่าพายุของพวกเขาถูกพัดจนพังยับเยินเครื่องยนต์รถกระเด็นไปไกลเกือบ 1 กม.
จิม ซามาราส น้องชายของพอล แถลงว่า พี่ชายสียชีวิตขณะกำลังทำในสิ่งที่เขารัก และจะได้รับการจดจำในฐานะคนที่พยายามช่วยชีวิตผู้คน
บริษัท ทวิสเท็กซ์ มีสำนักงานในรัฐโคโลราโด้ ทำหน้าที่เก็บข้อมูลอุณหภูมิ ความชื้น ความดันอากาศ และข้อมูลความเร็วลม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สามารถแจ้งเตือนภัยพายุทอร์นาโดได้เร็วขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้บริษัทมีการประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ทำให้สามารถเห็นใจกลางพายุทอร์นาโดได้ครั้งแรก งานวิจัยหลายชิ้นของซามาราสได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิค โซไซตี้ โฆษกของสถาบันฯกล่าวว่า ทิม ซามาราส อยู่ในกลุ่มมืออาชีพและมีประสบการณ์มากที่สุด นอกจากนี้ทั้งทิมและยังได้ร่วมงานในสารคดีชุด สตอร์ม เชสเซอร์ ทางสถานีโทรทัศน์ช่องดิสคัฟเวอรี่ที่เพิ่งจบไปเมื่อปีที่แล้วด้วย
การสูญเสียนักล่าพายุมากฝีมือครั้งนี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางคนตั้งคำถามว่า เราเข้าใกล้พายุมากขึ้นจนลืมนึกถึงอันตรายของมันหรือเปล่า จินเจอร์ ซี นักอุตุนิยมวิทยาและนักล่าพายุของสถานีโทรทัศน์เอบีซี นิวส์ บอกว่า ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา มีนักล่าพายุเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก และธุรกิจนำเที่ยวชมพายุทอร์นาโดก็เฟื่องฟูขึ้นด้วย โดยบริษัททัวร์หลายแห่งจะพานักท่องเที่ยวเข้าไปชมในจุดที่ใกล้ศูนย์กลางของพายุ และบางแห่งยอมให้นักท่องเที่ยวอายุเพียง 12 ปีไปร่วมชมพายุที่อันตรายด้วย ล่าสุดมีรายงานว่า บริษัทนำเที่ยวชมพายุบางแห่ง บอกว่า จากการเสียชีวิตของนักล่าพายุทำให้พวกเขาอาจต้องทบทวนวิธีการไล่ตามพายุ
นอกจากนี้เกรก ฟอร์บส์ นักอุตุนิยมวิทยา บอกว่า ความสูญเสียครั้งนี้เป็นอุทาหรณ์ให้เราทุกคนพึงตระหนักว่าการล่าพายุทอร์นาโดนั้นอันตรายแค่ไหน และอาจถึงเวลาที่หน่วยงานด้านกฎหมาย หรือภาครัฐจะต้องหาทางควบคุมการล่าพายุเพราะบางคนอาจมีพฤติกรรมที่เป็นอันตราย หรือ มีปัญหาการจราจรติดขัดในบริเวณที่เกิดพายุ และมีรายงานว่าในจุดที่เกิดเหตุนักล่าพายุเสียชีวิต มีรถล่าพายุมากถึงเกือบ 20 คันอยู่ในบริเวณนั้น
---------------------
(หมายเหตุ : ที่มาภาพ : AP)