
'ยูเซน โบลท์' ยังวิ่งไม่เร็วที่สุด
เวิลด์วาไรตี้ : 'ยูเซน โบลท์' ยังวิ่งไม่เร็วที่สุด
ยูเซน โบลท์ นักวิ่งลมกรดชาวจาเมกาผู้ครองสถิติโลกการเร่งความเร็วจาก 0-100 เมตรได้ในเวลาเพียง 9.58 วินาที ยังไม่ใช่นักวิ่งที่เร็วที่สุดเท่าที่มนุษย์จะสามารถทำได้ เพราะจากการศึกษาของนายมาร์ค เดนนี่ นักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดผู้ทำวิจัยด้านสรีรศาสตร์และการวิ่งของมนุษย์ชี้ว่า มนุษย์มีขีดจำกัดความเร็วสูงสุดในระยะทาง 100 เมตรในเวลาเพียง 9.48 วินาทีเท่านั้น
นายเดนนี่ทำการศึกษาคุณสมบัติของนักวิ่งตั้งแต่ช่วงปี 2443 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยใช้โมเดลคอมพิวเตอร์ที่อ้างอิงข้อมูลความเร็วของนักวิ่งในอดีตมาพล็อตกราฟและได้ข้อสรุปว่า นับตั้งแต่ช่วงปี 2493 เป็นต้นมา มนุษย์สามารถแสดงศักยภาพแห่งการเร่งความเร็วในการวิ่งระยะ 100 เมตรได้ดีขึ้นมาโดยตลอด และในผลงานที่นายแดนนี่เผยแพร่ในปี 2551 ก็ระบุด้วยว่ามนุษย์ที่เร็วที่สุดในโลกที่ใช้สองขาวิ่ง จะใช้เวลาในการวิ่งจาก 0-100 เมตรเพียง 9.48 วินาทีเท่านั้น
ข้อสรุปของนายแดนนี่สอดคล้องกับผลการวิจัยของนายปีเตอร์ เวแยนด์ ศาสตราจารย์ด้านกลไกชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น เมโธดิสต์ ที่ศึกษารูปร่างของสิ่งมีชีวิตที่สัมพันธ์กับการเร่งความเร็ว โดยชี้ว่าในขณะที่วิ่งด้วยความเร็วคงที่มนุษย์ใช้ขาในลักษณะเดียวกันกับไม้ต่อขา แต่เมื่อนักวิ่งเร่งความเร็ว จะใช้ขาเป็นอวัยวะรับแรงและส่งแรงขับเคลื่อนร่างกายไปบนอากาศก่อนที่ปลายเท้าจะสัมผัสพื้นอีกครั้งและวงจรการซับ-ส่งแรงจะเกิดขึ้นอีกรอบ
ในวงจรนี้มนุษย์จะใช้แรงส่งในแนวตั้งราว 90% และอีก 5% เป็นแรงส่งในแนวระนาบ ทำให้ลักษณะการวิ่งของมนุษย์คล้ายกับการกระเด้งของลูกบอล และการเพิ่มประสิทธิภาพของการวิ่งของมนุษย์อยู่ที่ความแรงในการที่เท้ากระทบลงพื้น เพราะหากเท้ากระทบลงพื้นแรงขึ้นแรงส่งและความเร็วก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วยเช่นเดียวกัน
นอกจากนั้น นายเวแยนด์ยังคำนวณความเร็วของมนุษย์ตามทฤษฎีว่าด้วยแรงส่งดังกล่าวว่า หากมนุษย์สามารถใช้แรงส่งจากพื้นทั้งหมดได้แล้ว มนุษย์จะวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงถึง 19.3 เมตรต่อวินาที และจะทำให้มนุษย์สามารถวิ่งในระยะทาง 100 เมตรในเวลาเพียง 5.18 วินาที หรือครึ่งหนึ่งของเวลาที่นักวิ่งอย่างยูเซน โบลท์ มนุษย์ลมกรดที่วิ่งเร็วที่สุดในโลกวิ่งได้ในปัจจุบัน
แสดงว่าขีดจำกัดประสิทธิภาพของร่างกายมนุษย์ยังมีอีกมาก เพียงแต่จะหาวิธีนำมาใช้ได้มากน้อยเพียงใดเท่านั้น