ข่าว

ฟันจระเข้โมเดลฟันชุดที่สามของมนุษย์

ฟันจระเข้โมเดลฟันชุดที่สามของมนุษย์

01 มิ.ย. 2556

เวิลด์วาไรตี้ : ฟันจระเข้ โมเดลฟันชุดที่สามของมนุษย์

 

                    มนุษย์เราเมื่อฟันน้ำนมหลุดหมด ก็จะมีฟันแท้ขึ้นมาทดแทน และสูญเสียความสามารถในการสร้างฟันใหม่ แต่สัตว์เลื้อยคลานอย่างจระเข้ ความสามารถนี้ไม่ได้หมดไปแถมยังสร้างใหม่ได้ตลอดชีพ

                    จระเข้มีฟันโดยเฉลี่ย 80 ซี่ และสร้างใหม่ทดแทนได้ถึง 50 ชุด หรือราว 2,000-3,000 ซี่ตลอดอายุขัย ขณะมนุษย์สร้างฟันใหม่ตามธรรมชาติได้เพียงครั้งเดียว ทั้งที่เรายังคงมีชั้นเนื่อเยื่อที่เรียกว่า เดนทัล ลามินา ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาของฟันอยู่

                    คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ในนครลอสแองเจลิส และคณะ กำลังไขปริศนากลไกทางเคมีการสร้างฟันใหม่ทดแทนของจระเข้ เพื่อว่าสักวันหนึ่ง เราอาจเลียนแบบกระบวนการนี้มาใช้กับมนุษย์ได้ ช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาทันตกรรม

                    จากการศึกษาฟันของตัวอ่อนจระเข้และจระเข้หนุ่มสาว นักวิจัยพบว่า จระเข้มีโครงสร้างฟันคล้ายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และฟันแต่ละซี่มีองค์ประกอบ 3 ประการในการพัฒนาแต่ละขั้น ได้แก่ ฟันใช้งาน ฟันทดแทน และชั้นเนื่อเยื่อพิเศษ หรือเดนทัล ลามินา ซึ่งในมนุษย์ก็เช่นกัน ฟันน้ำนมและฟันแท้ พัฒนามาจากเดนทัล ลามินา

                    เมื่อจระเข้เสียฟันหนึ่งซี่ ระบบทดแทนจะทำงานทันที ฟันสำรองจะพัฒนาเป็นฟันที่พร้อมใช้งาน เดนทัล ลามินา จะกลายเป็นฟันสำรองซี่ใหม่มาแทน และจากนั้น ชั้นเนื้อเยื่อจะแยกตัวออกเป็นรูปแบบที่จะพัฒนาเป็นเดนทัล ลามินา ต่อไป นอกจากนี้ นักวิจัยยังค้นพบพื้นที่ปลายสุดของเดนทัล ลามินา ที่เชื่อว่าเป็นแหล่งรวมสเต็มเซลล์ ซึ่งเป้าหมายของนักวิจัยก็คือการเรียนรู้เรื่องสเต็มเซลล์ที่อาจใช้เป็นทรัพยากรสำหรับการสร้างฟันใหม่นั่นเอง นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถระบุลักษณะโมเลกุลที่มีบทบาทสำคัญในการกำกับกระบวนการสร้างฟันใหม่ในจระเข้อีกด้วย กระนั้น นักวิจัยยอมรับว่ายังต้องใช้เวลาศึกษาอีกนานทีเดียวกว่าจะทราบความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะสร้างฟันชุดที่สามได้