
ผ่าทางตัน
ผ่าทางตัน : วันเว้นวันจันทร์ พุธ ศุกร์กับ ประภัสสร เสวิกุล
คำถามที่ได้ยินบ่อยๆ ในเวลานี้ก็คือ การเมืองไทยมาถึงทางตันหรือยัง? และจะผ่าทางตันออกไปได้อย่างไร? ผมคิดว่าคำถามข้อแรกนั้น มีที่มาจากวิธีคิดของคนไทย คือเป็นการคิดแบบสำเร็จรูป อันเป็นผลมาจากการเรียนการสอนที่มีสูตรสำเร็จ เช่น สาเหตุแห่งการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง หรือเหตุผลที่พระเจ้าตากสินตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแทนการบูรณะกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น โดยตำราเรียนจะจำแนกผลดีผลเสียออกเป็นข้อๆ แล้วครูอาจารย์ผู้สอนก็ให้นักเรียนท่องจำถึงเวลาสอบก็จะนำไปเป็นข้อสอบ ใครที่ท่องจำได้เก่งกว่าก็ทำข้อสอบได้ ซึ่งวิธีการเช่นนี้ ไม่ได้สอนให้เด็กรู้จักคิด รู้จักการวิเคราะห์ หรือมีคำตอบที่แตกต่างออกไปได้ ไม่ว่าคำตอบนั้นจะผิด-ถูก หรือแปลกประหลาดเพียงไรก็ตาม
คำตอบสำเร็จรูปที่ติดมาตั้งแต่เป็นนักเรียนเช่นนี้แหละครับ ที่ทำให้สังคมไทยมีมุมมองที่ค่อนข้างจะจำกัด เพราะถูกสร้างรูปแบบที่ถือว่าถูกต้องไว้ล่วงหน้าแล้ว ขณะเดียวกันคนที่คิดอะไรแตกต่างออกไปก็จะถูกมองว่าเป็นคนแหกคอกหรือตัวประหลาด ทั้งๆ ที่สูตรสำเร็จดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของคนรุ่นหลัง ซึ่งอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับความคิดจริงๆ ของคนในยุคนั้นสมัยนั้นก็ได้ เพราะบริบททางสังคม คตินิยม และวิธีคิดวิธีทำของคนในแต่ละยุคแต่ละสมัยย่อมมีความแตกต่างกัน
ในทางการเมืองก็เช่นกัน เราก็จะมีคำตอบซึ่งเป็นสูตรสำเร็จไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ถ้าเกิดอะไรอย่างนั้น ผลต้องออกมาเป็นอย่างนี้ ถ้าผิดจากสูตรนี้ไป เราก็จะทำอะไรไม่ถูก ทำให้คิดว่ามาถึงทางตัน
แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ทุกปัญหามีทางออกของมันเสมอ และมีมากกว่าหนึ่งทางด้วย เพียงแต่อาจเป็นหนทางที่เราไม่เคยคิด ไม่เคยรู้ หรือไม่เคยท่องจำมาก่อนเท่านั้น และในเวลาเดียวกัน เราก็กำลังติดกับที่วางดักไว้ จากนักวางกับดักที่เปลี่ยนกลวิธีและเหยื่อล่อไปเรื่อยๆ ซึ่งรู้ซึ้งถึงสัญชาตญาณและวิธีคิดของคนไทย ตราบใดที่เรายังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวิธีคิด และตั้งสติให้มั่นในการพิจารณากับดักและเหยื่อที่ถูกนำมาล่อ ตราบนั้นเราก็จะเป็นได้แค่หนูตะเภาที่ถูกจับให้วิ่งวนอยู่แต่ในกรงแคบๆ เท่านั้นเอง
สำหรับการผ่าทางตันนั้น ที่ได้ยินได้ฟังคนพูดกันบ่อยๆ ก็คือ เมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งดำเนินไปถึงจุดสูงสุด จนเกิดความรุนแรงขึ้น ทหารก็จะเคลื่อนขบวนออกมาปฏิวัติ หรือในหลวงจะทรงแก้ไขสถานการณ์ ซึ่งอาจจะเป็นการตั้งรัฐบาลผสม หรือมีนายกฯ พระราชทาน ซึ่งทั้งสองทางเกิดจากประสบการณ์ที่เคยมีมาในอดีต และนิสัยประการหนึ่งของคนไทยเมื่อเผชิญกับปัญหาต่างๆ คือ แม้จะรู้สึกอึดอัดขัดใจ แต่ก็จะไม่ลงมือทำอะไร นอกจากการรอคอยให้ใครสักคนลุกขึ้นมาแก้ปัญหานั้น เพื่อที่คนอื่นๆ จะได้ถอนใจอย่างโล่งอก
ถ้าถามว่า วิธีผ่าทางตันดังกล่าว ยังคงใช้ได้หรือไม่ในเวลานี้ ก็ต้องย้อนไปอ่านเรื่องสูตรสำเร็จในตอนต้นของบทความชิ้นนี้ แล้วถามตัวเองว่า วิธีผ่าทางตันทั้งสองทางนี้เป็นสูตรสำเร็จด้วยหรือเปล่า และสภาพการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันมีความแตกต่างกับก่อนสมัย พ.ศ.2500 ที่มีการปฏิวัติเป็นว่าเล่น หรือวิกฤติการณ์ทางการเมืองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กับ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 เพียงไร?
การเมืองไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวหรอกครับ และคนที่เข้าใจธรรมชาติของการเมืองก็มักจะใช้การเมืองเป็นเครื่องมือของตนเสมอ ขณะที่คนซึ่งเอาแต่ท่องจำสูตรสำเร็จก็ถูกต้อนให้เข้าสู่ทางตันเช่นกัน