
ล่องใต้เข้าสวนเกษตร"เกาะยอ"ชิมละมุดไข่ห่าน-จำปาดะขนุน
ก้อนเมฆดำทะมึน ท้องฟ้าครึ้มตั้งแต่เราออกจากที่พักกลางเมืองหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มาตั้งแต่เช้า หลายคนต่างพยากรณ์ว่า สภาพอากาศเช่นนี้คงมีเม็ดฝนเทลงมาไม่มากก็น้อย จนล้อรถตู้ของคณะเราไปแตะขอบคอนกรีตหัวสะพานติณสูลานนท์ มุ่งหน้าไปยังเกาะยอซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ
เดิมทีการจะเดินทางไปเกาะยอต้องใช้เรือเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีสะพานติณสูลานนท์เชื่อมต่อระหว่างเกาะยอกับแผ่นดินใหญ่ทั้งสองฟากฝั่ง และการเดินทางของคณะเราในวันนั้นจุดหมายปลายทางไปสัมผัสวิถีชีวิตของชาวเกาะ โดยเฉพาะชาวสวนผลไม้ ที่มีชื่อเสียงเรียงนามมายาวนานของเกาะแห่งนี้นั่นคือ "จำปาดะขนุน" ซึ่งมีแห่งเดียวในประเทศไทย และสวนละมุดผลโต รสหวานกรอบ "พันธุ์ไข่ห่าน"
ทุกวันนี้ยังไม่ประจักนักกับคำว่า “เกาะยอ” อะไรที่ทำให้เกาะแห่งนี้มีชื่อว่าเกาะยอ บ้างก็ว่าน่าจะมาจากที่แห่งนี้มีต้นยอขึ้นจำนวนมาก จึงเรียกว่า “เกาะต้นยอ” แต่คนปักษ์ใต้มักจะใช้คำพูดสั้นๆ จึงเพี้ยนมาเป็น เกาะยอ แต่บ้างก็ว่า น่าจะเป็นไปได้สูงที่ชาวบ้านอาจใช้ยอ หรือไปยกยอ ซึ่งเป็นเครื่องมือจับสัตว์อีกชนิด ไปจับปลาที่เกาะแห่งนี้ คนเรียกตามชื่อของเครื่องมือจับปลาหรือสัตว์น้ำของชาวบ้านคือยอ มาเป็นชื่อเกาะ เพราะแม้ว่าทุกวันนี้ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็ยังใช้เครื่องมือจับปลาในทะเลสาบด้วยการยกยอและโพงพาง เพราะบริเวณรอบๆ เกาะซึ่งเป็นทะเลสาบสงขลามีปลา กุ้ง ปู หอย ชุกชุมมาก ขณะที่บางกระแสให้ความเห็นว่า น่าจะมาจากลักษณะของหินบริเวณตอนใต้ของเกาะ ซึ่งมีสีแดง รูปร่างคล้ายกับผลต้นยอ หรือลูกยอ มีอยู่มากมาย จึงเรียกว่า “เกาะหินลูกยอ” เป็นต้น
ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงเกาะยอคนมักจะนึกถึงผ้าทอมือเกาะยอ และการเลี้ยงปลากะพงในกระชัง และจำปาดะขนุน และละมุดผลโต แต่แท้จริงแล้วบนเกาะเล็กๆ แห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสวนผลไม้นานาชนิด อาทิ ละมุด ขนุน ขนุนจำปาดะ ทุเรียน มะพร้าว กระท้อน เงาะ ลางสาด เป็นต้น นอกจากนี้บางส่วนยังปลูกยางพารา เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง เพาะเลี้ยงสาหร่ายผมนาง เลี้ยงไก่ และค้าขาย เป็นต้น เพราะการประกอบอาชีพของชาวเกาะยอคือทำประมงพื้นบ้านขนาดเล็กในทะเลสาบและสวนผลไม้นั่นเอง
จากการที่พื้นที่บนเกาะยออุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลหมากรากไม้จำนวนมาก ทำให้เกาะยอกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเกาะยอ โดยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร และเกษตรกรใน ต.เกาะยอ ในนามคณะกรรมการบริหารศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลเกาะยอ ร่วมมือกันเพื่อผลักดันให้เกาะยอเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ส่งเสริมให้มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรขึ้น โดยชูของดีของเกาะยอมานำเสนอให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาและเที่ยวชม เช่น วิถีชีวิตคนเกาะยอ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ เน้นความปลอดภัยด้านอาหาร สวนละมุด สวนจำปาดะขนุน การเลี้ยงปลากะพงในกระชัง เกษตรผสมผสาน การทอผ้า วัดโบราณ เป็นต้น
ล่าสุดเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา อภิเชษฐ์ สิงห์แก้ว พัฒนาการจังหวัดสงขลา บอกว่า ได้เปิดตัวหมู่บ้านโอท็อปเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา ต.เกาะยอ นอกจากนี้ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างผู้นำหมู่บ้านและบริษัทท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อจัดหานักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการในหมู่บ้าน ถือเป็นการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวของแต่ละชุมชนให้เป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น
ยงยุทธ สุวรรณฤกษ์ เกษตรจังหวัดสงขลา บอกว่า เกาะยอนั้นถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงที่สำคัญของ จ.สงขลา เพราะมีสวนผลไม้หลากหลาย แต่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือจำปะดะขนุนซึ่งมีแห่งเดียวในประเทศไทย และละมุด ซึ่งสวนผลไม้ชนิดนี้ชาวบ้านปลูกมานับร้อยๆ ปีแล้ว โดยเฉพาะละมุดเป็นไม้ผลหลักของเกษตรกรที่สร้างรายได้แก่เกษตรกรมานาน ทั้งยังสร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแก่ผู้บริโภคทั่วไป เนื่องจากละมุดเกาะยอมีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย เนื้อสีแดงเมื่อสุกเต็มที่ เนื้อละเอียด ไม่เหมือนละมุดที่อื่นๆ ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะปลูกรอบบ้าน และเนินเขา
"บนเกาะยอมีเนื้อที่ปลูกละมุดราว 375 ไร่ มีผลผลิตปีละ 4-5 กก. ราคาเฉลี่ย กก.ละ 10-25 บาท ที่ชาวบ้านนิยมปลูกมี 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ไข่ห่าน ผลใหญ่ พันธุ์มะกอก หรือกระสวย ผลปานกลาง ให้ผลตลอดปี เป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่ามาจากไหน ขนุนจำปาดะเนื้อสีจำปา รสหวาน กลิ่นหอมเหมือนจำปาดะเมื่อสุก ผิวภายนอกเหมือนขนุน เป็นผลไม้อยู่กึ่งกลางระหว่างขนุนกับจำปาดะ และมีความแตกต่างจากจำปาดะพื้นเมือง คือ เนื้อหนา ยวงไม่หลุดจากไส้เมื่อดึงออกจากเปลือก ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกราว 300 ไร่ ให้ผลผลิต 500 ผลต่อไร่ต่อปี" ยงยุทธ กล่าว
เนื่องจากเวลามีจำกัด คณะของเราได้ไปชมสวนผลไม้ 2 แห่ง คือ แห่งแรกเป็นสวนละมุดของ วิสุทธิ์ สวัสดิ์มณี ที่หมู่ 6 ต.เกาะยอ ซึ่งมีเนื้อที่ 4 ไร่ แต่ปลูกละมุดกว่า 2 ไร่ จำนวน 130 ต้น ปลูกบริเวณบ้าน ที่เหลือเป็นไม้ผลอย่างอื่น วิสุทธิ์บอกว่า ต้นละมุดของเขาอายุกว่า 50 ปี เป็นละมุดพันธุ์ไข่ห่าน มีผลโตเฉลี่ย 8-9 ผลต่อ 1 กก. ขายเฉพาะหน้าบ้านวันละ 30 กก. ในราคาผลโต กก.ละ 40 บาท ผลขนาดกลางกก.ละ 30 บาท มีรายได้ในส่วนของละมุดตกเดือนละกว่า 1 หมื่นบาท
ออกจากสวนละมุด เราเดินทางต่อไปที่สวนจำปาดะขนุนของ เถ็กฉ้วน ศรีสุวรรณ เกษตรกรวัย 77 ปี ที่หมู่ 2 ต.เกาะยอ ซึ่ง เถ็กฉ้วน บอกว่า ปลูกมาหลายปีแล้วในเนื้อที่ 3 ไร่ ปลูกไร่ละ 30 ต้น บางต้นมีอายุน่าจะถึง 100 ปี เพราะเท่าที่จำได้เถ็กฉ้วนบอกว่า โตขึ้นมาเห็นต้นจำปาะดะขนุนต้นสูงเท่าปัจจุบันแล้ว
"ที่จริงมีที่อยู่ 11 ไร่ ปลูกยางพารา 7 ไร่ จำปาดะขนุน 3 ไร่ ที่เหลือไม้ผลอย่างอื่น ในส่วนของจำปาดะขนุนจะออกผลต้นละราว 200-300 ผลต่อปี แต่ละผลมีน้ำหนักราว 3-4 กก. ขายในราคา กก.ละ 15-20 บาท ออกผลตลอดทั้งปี แต่เนื่องจากอายุเยอะแล้วดูแลไม่ทั่วถึง เก็บผลผลิตเท่าที่เก็บได้ จึงมีรายได้ไม่มากนัก ขายเองบ้าง ส่งให้พ่อค้าบ้าง" เถ็กฉ้วน กล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ท่องสวนเกษตรบนเกาะยอ ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อเร็วๆ นี้