ข่าว

รักนะเวียงจันทน์

รักนะเวียงจันทน์

13 พ.ค. 2556

รักนะเวียงจันทน์ : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล


               มองจากระเบียงห้องอาหารของโรงแรมริมแม่น้ำโขงอันเป็นที่พัก จะเห็นคุ้งน้ำกว้างที่บางคนบอกกับผมว่าเป็นจุดที่สวยที่สุดของเวียงจันทน์ ในยามที่พระอาทิตย์ตกดิน แม้ว่าเย็นนี้จะเป็นวันที่เมฆฝนบดบังแสงสุดท้ายแห่งตะวัน แต่ความสงบของแม่น้ำ และทิวทัศน์ของแมกไม้อันร่มรื่นของอีกฟากฝั่ง ก็ให้ความรู้สึกที่สงบและชุ่มชื่นในจิตใจ ผมไม่ใช่คนแปลกหน้าของเวียงจันทน์ เพราะเคยใช้ชีวิตอยู่ที่นี่หลายปีในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เป็นช่วงเวลาที่บ่อยครั้งที่เราได้เฝ้ามองอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำโดยไม่สามารถที่จะข้ามฟากไปได้ เพราะพรมแดนถูกประกาศปิด และจากการถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในรัศมีไม่กี่กิโลเมตร ทำให้ไม่มีที่ที่จะไป นอกจากจะขับรถวนเวียนอยู่บนถนนสายแคบๆ ไม่กี่สาย

               แต่วันนี้เวียงจันทน์กลายเป็นคนแปลกหน้าของผม ด้วยถนนหนทางสายใหม่ๆ มากมาย ด้วยตึกรามบ้านช่องที่ทันสมัย อาคารขนาดใหญ่ รวมทั้งศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และโครงการที่ลงทุนมหาศาลอีกมากมาย ที่รอเพียงเวลาที่จะผุดสะพรั่ง ขณะที่วิถีชีวิตที่เรียบง่ายเริ่มหายไป และสภาพบ้านเมืองที่เงียบสงบก็เปลี่ยนแปลงไป มีคนบอกกับผมว่า คนเวียงจันทน์จำนวนหนึ่งต้องไปจากบ้านเดิมและท้องถิ่นที่อยู่มานมนาน เพราะที่ดินบริเวณนั้นถูกพัฒนาให้เป็นย่านของความเจริญ ทำให้หลายแห่งกลายเป็นถิ่นของนักลงทุนต่างชาติ เช่น จีน เวียดนาม เกาหลี และบางชาติใช้สิทธิในการขนคนชาติของตนเข้าไปตั้งถิ่นฐาน จนคนเวียงจันทน์ดั้งเดิมต้องอพยพไปอยู่ท้องทุ่งท้องนาที่ห่างไกลตัวเมืองออกไป

               สภาวะของสังคมเวียงจันทน์เองก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม วัยรุ่นสาวๆ สวมกางเกงขาสั้นตามแฟชั่นต่างประเทศ วัยรุ่นชายก็ดื่มเบียร์กันสนุกสนาน แต่ผู้ใหญ่ลาวหลายคนก็ดูเหมือนจะยอมรับความเปลี่ยนแปลง และทำใจได้ว่ามันเป็นไปตามยุคสมัย แต่ก็ยังเชื่อว่า สาวๆ ที่นุ่งกางเกงสั้นก็เฉพาะในเวลาที่ไปสนุกสนาน แต่เมื่อเวลาที่ไปเรียนหนังสือ ไปทำงาน หรือไปวัดไปวา เด็กสาวเหล่านั้นก็ยังคงรักษาการแต่งกายตามประเพณีเอาไว้

               เมื่อผมถามว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้พวกผู้ใหญ่เชื่อว่าเด็กๆ ของพวกเขาจะสามารถรักษาจารีตและวัฒนธรรมเอาไว้ได้ในสภาพการของโลกปัจจุบัน ผู้ใหญ่หลายคนให้คำตอบว่า ความภาคภูมิใจ ความรัก และหวงแหนในวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ของลาวสืบสานวัฒนธรรมลาว และสิ่งเหล่านี้ก็มาจากการอบรมจากครอบครัว วัด โรงเรียน และสังคม ซึ่งยังมีความใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนค่อนข้างมาก

               ผมเองนั้นไม่ค่อยแน่ใจว่าคนเวียงจันทน์รุ่นใหม่จะสามารถรักษาจารีตและวัฒนธรรมไว้เท่าคนรุ่นเก่า ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ความผูกพันระหว่างบ้านกับวัด ค่านิยมในเรื่องวัตถุนิยม หรือนิสัยในทางบริโภคนิยม เช่น เมื่อถามว่าอาชีพอะไรที่คนเวียงจันทน์ในปัจจุบันรุ่นให้ความสนใจ ปรากฏว่าการรับราชการเป็นอาชีพที่ถูกเมิน เพราะคนจะนึกถึงงานที่ทำเงินได้ดีเป็นลำดับแรก ตามมาด้วยงานที่กำลังเป็นที่นิยม เช่น งานเกี่ยวกับไอที งานบริการ และงานบันเทิง

               มองจากระเบียงห้องอาหารออกไปที่แม่น้ำโขง ซึ่งฝั่งลาวส่วนใหญ่ในฤดูกาลนี้เป็นดอนทรายกว้างใหญ่ ทำให้ผมอดที่จะตั้งคำถามถึงวิกฤติการณ์เรื่องน้ำและพลังงานไฟฟ้าไม่ได้ ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า สภาพของแม่น้ำโขงในหน้าแล้งในบางช่วงก็มักจะแห้งขอดเป็นปกติ พอฝนลงน้ำก็จะบ่านอง แต่ปีนี้ค่อนข้างจะแล้งจัดทำให้น้ำน้อยและการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำลานช้างของจีนนั้น น่าที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง เพราะทำให้จีนสามารถควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำได้อย่างเต็มที่ ถ้าน้ำน้อยก็จะกักน้ำไว้ ถ้าน้ำล้นก็จะปล่อยให้ทะลักลงมา ผลที่ตามมาก็คือสภาพทางธรรมชาติของลาว รวมถึงโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหม่ในประเทศลาว ซึ่งจะเป็นแหล่งพลังงานด้านไฟฟ้าแก่ประเทศในภูมิภาคนี้ด้วย

               ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติของโลก แต่การรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลง และเตรียมตัวเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเวียงจันทน์เองคงจะได้เห็นตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จากประเทศเพื่อนบ้านมาแล้ว และคงจะเลือกนำความเปลี่ยนแปลงในทางที่เป็นประโยชน์ไปใช้ และสกัดกั้นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ได้ทันท่วงที

               รักนะ เวียงจันทน์ จุ๊บ จุ๊บ