
ช็อกกะรี
ช็อกกะรี : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์กับ ประภัสสร เสวิกุล
คำว่า กะหรี่ ที่เราใช้เรียกสตรีบางประเภทนั้น มิได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับแกงกะหรี่หรือผงกะหรี่แม้แต่น้อย แต่เป็นคำที่กร่อนมาจากคำ “ช็อกกะรี” ซึ่งน่าจะเป็นคำที่ใช้กันในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะตอนที่ผมยังเด็กๆ อยู่นั้น เคยได้ยินพวกหนุ่มๆ ที่ปากเปราะแซวผู้หญิงด้วยความคะนองปากว่า “เดินดีๆ เป็นชีกะร็อก เดินด๊อกๆ เป็นช็อกกะรี”
คำว่า ช็อกกะรี นี้ ดร.บรรจบ พันธุเมธา ปราชญ์ทางภาษาคนสำคัญ กล่าวว่ามาจากภาษาแขกว่า “โฉกกฬี” ซึ่งแปลว่าเด็กผู้หญิง คู่กับ “โฉกกฬา” ที่แปลว่าเด็กผู้ชาย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น คำว่าโฉกกฬีตามความหมายแท้จริงก็มิเป็นคำเรียกด้วยความเอ็นดูทำนอง “อีหนู” ของไทย แต่ก็กลายเป็นคำเรียกที่มีความหมายไปอีกทางหนึ่ง เช่นเดียวกับคำว่า “อีหนู” ของไทยเหมือนกัน ทั้งนี้ คำว่าโฉกกฬี หรือช็อกกะรี น่าจะเป็นที่รู้จักของคนไทยในช่วงที่ทหารอินเดียของอังกฤษเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย เมื่อญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลก
ช็อกกะรี หรือโสเภณี มีในเมืองไทยมานมนานแล้ว อย่างเช่นใสมัยรัชกาลที่ 5 มีสตรีนักธุรกิจของไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ 3 คน คือ คุณยายฟัก คุณยายแฟง และคุณยายมี เรียกให้คล้องจองกันว่า “ยายฟักขายข้าวแกง ยายแฟงขาย... ยายมีขายเหล้า” น่าเสียดายที่ไม่มีการบันทึกรายละเอียดของคุณยายฟัก และคุณยายมีไว้ แต่สำหรับคุณยายแฟงนั้น ว่ากันว่าแกตั้งสำนักหรือตั้งซ่องขายสินค้าอยู่แถวๆ ย่านสัมพันธวงศ์ สนนราคาก็ประมาณครั้งละสลึงเฟื้อง เมื่อค้าขายดีมีกำไร ก็เกิดศรัทธาแก่กล้าสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง ตั้งอยู่เยื้องๆ กับโรงพักพลับพลาไชยในปัจจุบัน เรียกกันว่าวัดใหม่ยายแฟง
ต่อมาได้นามใหม่ว่าวัดคณิกาผล ซึ่งแปลตรงตัวก็เป็นไปตามที่มาของเงินที่ใช้สร้างวัดนั่นแหละครับ มีเรื่องเล่าว่า เมื่อสร้างวัดเสร็จ คุณยายแฟงก็ลงเรือไปนมัสการถามสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) หรือสมเด็จโต วัดระฆัง ว่า การที่แกสร้างวัดเช่นนี้ จะได้บุญกุศลสักเท่าไหร่? สมเด็จโตท่านก็ตอบอย่างอารมณ์ดีว่า ก็คงจะซักสลึงเฟื้อง ทำให้คุณยายแฟงงอนตุ๊บป่อง
ก่อนหน้าคุณยายแฟงนั้น เยาวราชเป็นแหล่งบันเทิงของคนจีน มีการนำผู้หญิงจากกวางตุ้งเข้ามาให้บริการ ทำให้มีคำเรียกว่า “ผู้หญิงกวางตุ้ง” "ผู้หญิงสำเพ็ง” หรือ “ผู้หญิงโคมเขียว” ตามลักษณะของสถานบริการที่มีโคมสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ ในเวลาต่อมามีคำที่ใช้กันทั่วไปว่า “ผู้หญิงหากิน” เพราะในสมัยก่อนนั้น ผู้หญิงไทยจะทำงานอยู่ในบ้านไม่ออกไปทำมาหากินนอกบ้าน
แต่ที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือคำว่า “ผู้หญิงคนชั่ว” และเป็นที่ฮือฮาเมื่อ ก.สุรางคนางค์ ศิลปินแห่งชาติ (สาขาวรรณศิลป์) เขียนนวนิยายเรื่อง “หญิงคนชั่ว” ประมาณปี พ.ศ. 2480 เล่าถึงชะตากรรมของผู้หญิงจากต่างจังหวัดที่ถูกหลอกมาขายตัวในกรุงเทพฯ แต่เรื่องที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุด น่าจะเป็น “สนิมสร้อย” ของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติ อีกท่านหนึ่ง ซึ่งบรรยายชีวิตของโสเภณีในซ่องที่กรุงเทพฯ ประมาณ ปี พ.ศ. 2500 ได้อย่างถึงเลือดถึงเนื้อ และ 'รงค์ ได้ใช้คำเรียกผู้หญิงเหล่านั้นว่ากะหรี่อย่างเต็มปากเต็มคำ
นอกจากคำเรียกขานข้างต้นแล้ว ยังมีคำเรียกที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น “นางโลม” “ผู้หญิงงามเมือง” “ออหรี่” “อีตัว” “นางบังเงา” “นางร้อยชื่อ” เป็นต้น แต่คำเรียกที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการก็คือ “โสเภณี”
ว่ากันว่าโสเภณีนั้นเป็นอาชีพ (ของผู้หญิง) ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อย่างน้อยๆ ก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 2,500 ปีมาแล้ว เพราะในสมัยพุทธกาลก็มีโสเภณีอยู่ทั่วไป สำหรับเมืองไทยเอง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เท่าที่ปรากฏหลักฐานก็น่าจะนานกว่า 100 ปี และตามสถิติเมื่อปี พ.ศ. 2544 เมืองไทยมีหญิงโสเภณีประมาณ 2 แสนคน
ครับ ชีวิตของโสเภณีไม่ว่าจะโดยสมัครใจ หรือจำยอมด้วยการถูกบังคับขืนใจ ล้วนเป็นเรื่องที่น่าเศร้าและน่าเวทนาพอๆ กันทั้งนั้น