ข่าว

หนังสือหนังหา

หนังสือหนังหา

08 พ.ค. 2556

หนังสือหนังหา : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล


              วันก่อนมีคนมาคุยกับผมเรื่องการอ่านหนังสือของคนไทยในปัจจุบัน สรุปได้ย่อๆ ว่า เหตุใดคนไทยจึงไม่ค่อยอ่านหนังสือและจะมีหนทางใดที่จะทำให้คนไทยอ่านหนังสือกันเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นคำถามที่ได้ยินได้ฟังกันเป็นประจำ

              ผมตอบเป็นกลางๆ ไปว่า การที่คนไทยไม่ค่อยอ่านหนังสือนั้น น่าจะมีสาเหตุมาจากหลายประการด้วยกัน เริ่มจากเราไม่ได้ถูกปลูกฝังเรื่องนิสัยรักการอ่าน หรือเห็นความสำคัญและคุณค่าของหนังสือเท่าที่ควร ในหลายๆ ประเทศนั้น เขาบ่มเพาะในเรื่องการอ่านและสร้างรสนิยมของเด็กมาตั้งแต่อยู่ในท้อง เช่นสตรีที่ตั้งครรภ์ก็จะอ่านหนังสือดีๆ ชมภาพยนตร์หรือดีวีดีที่ดีๆ รวมทั้งฟังเพลงคลาสสิก และไลท์มิวสิก ซึ่งสิ่งดีๆ เหล่านั้น ก็จะค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในจิตใจของทั้งแม่และเด็ก ตลอดจนคนรอบข้าง หลังจากนั้นก็คงต้องสร้างบรรยากาศของการอ่าน ทั้งในบ้าน โรงเรียน และสถานที่ต่างๆ โดยมีหนังสือที่เหมาะสมให้เด็กหยิบจับได้สะดวก

              มีคนหลายคนเคยเล่าให้ผมฟังว่า การที่เขาเป็นคนชอบอ่านหนังสือก็เพราะอยู่ในครอบครัวที่เป็นนักอ่าน มีหนังสือดีๆ อยู่ใกล้มือ แม้ในตอนแรกจะไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก แต่เมื่อได้เริ่มอ่านก็ติดเป็นนิสัย และอ่านมาจนทุกวันนี้ ซึ่งหนังสือที่เด็กอ่านนั้น ก็ควรจะเป็นในแนวที่เด็กชอบหรือสนใจ อย่าบังคับให้เด็กอ่านหนังสือที่ผู้ใหญ่ชอบเพียงฝ่ายเดียว เพราะจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกต่อต้าน และพาลเกลียดการอ่านได้ เช่นเดียวกับเด็กๆ ที่ถูกพ่อแม่เคี่ยวเข็ญให้กินผัก ก็มักจะกลายเป็นคนที่ไม่ชอบกินผักไปเลย

              ผมบอกกับคนที่มาคุยด้วยว่า ผมไม่ได้ตกอกตกใจกับสถิติที่ว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละ 3-5 เล่ม และไม่ได้ตื่นเต้นกับการที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือเวียดนาม อ่านหนังสือกันปีละ 40-60 เล่ม และก็ไม่เชื่อที่ กทม.อ้างว่าจะทำให้คนไทย โดยเฉพาะคนในกรุงเทพฯ ในฐานะประชากรของเมืองหนังสือโลก อ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 20 เล่ม ภายในปีนี้ (ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 7 เดือน) แต่ผมเห็นว่าคุณภาพของการอ่าน มีความสำคัญกว่าปริมาณของหนังสือที่อ่านเพราะหนังสือที่ดีๆ เพียงเล่มเดียวก็สามารถเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนชีวิต และเปลี่ยนสังคมได้ เพราะหนังสือที่ดีนั้นจะให้ ปัญญา ให้แง่งามของความคิด ให้สติ ให้สุนทรียรส และขยายขอบฟ้าแห่งโลกทัศน์

              และแน่นอนว่าการที่คนจะรู้จักเลือกสรรและแยกแยะหนังสือดีๆ ได้ ก็ต้องผ่านพัฒนาการของการอ่านมาโดยลำดับ และที่สำคัญก็คือต้องมีรสนิยมในการอ่านด้วย - รสนิยมในการอ่านนั้น เกิดจากการที่ได้เสพงานวรรณกรรมที่ได้รับการยอมรับจากชาวโลกอย่างกว้างขวาง และเป็นงานที่ผ่านการพิสูจน์ของกาลเวลามาช้านาน เป็นงานที่มีความงดงามทั้งแง่คิด ปรัชญา วรรณศิลป์ และคุณค่าทางจิตใจ

              สำหรับการทำให้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น ก่อนอื่นก็คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นนั้น เป็นคนละประเด็นกับการทำให้คนอ่าน อ่านเป็นขึ้น เก่งขึ้น หรือดีขึ้นนะครับ เพราะการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น อาจกลายเป็นเรื่องในเชิงพาณิชย์ เช่น การเร่งพิมพ์หนังสือเพื่อสนองตอบความต้องการของผู้อ่านบางกลุ่ม โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของผลงาน หรือผลในด้านลบที่จะติดตามมา การมุ่งพิมพ์หนังสือที่จะถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ในแนวที่ตลาดนิยม เป็นต้น

              อย่างไรก็ตาม โดยหลักการแล้ว การที่จะทำให้คนอ่านหนังสือกันแพร่หลาย ก็ต้องหาทางทำอย่างไรให้หนังสือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตให้มากขึ้น กระตุ้นความสนใจให้บ่อยขึ้น เช่นมีที่ให้ติดโปสเตอร์โฆษณาหนังสือ มีรายการแนะนำหนังสือทางวิทยุและโทรทัศน์ ส่งเสริมวัฒนธรรมของการวิจารณ์หนังสือ ขณะเดียวกันก็ให้ผู้ที่สนใจสามารถหาหนังสืออ่านได้ ทั้งจากระบบห้องสมุดสาธารณะที่ให้ความสำคัญกับหนังสือมากกว่าตัวอาคารและเน้นการกระจายตัวของหนังสือให้มีอยู่ทั่วไป เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การอ่านและการยืมหนังสือ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การหาทางช่วยให้หนังสือมีราคาต่ำลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

              แต่ ที่พูดมาทั้งหมดนี้ คงยากที่จะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย ตราบเท่าที่เรายังมีผู้นำ และรัฐบาลที่ไม่อ่านหนังสือ หรือเห็นความสำคัญของหนังสือ