
Islamic Awakening:มุมมองของอิหร่าน
Islamic Awakening:มุมมองของอิหร่าน : วิถีมุสลิมโลก โดยศราวุฒิ อารีย์ [email protected]
ระหว่างที่กำลังเขียนต้นฉบับ ผมยังอยู่ที่เตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน เพื่อร่วมงานสัมมนาเรื่อง ‘World Conference of Ulama and Islamic Awakening’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29-30 เมษายน ที่ผ่านมาภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ ของประเทศอิหร่าน โดยมีนักการศาสนาสำคัญๆ ของโลกจำนวนประมาณ 700 คนจากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม ผมเองไม่ใช่นักการศาสนา แต่เป็นคนสนใจติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวในโลกมุสลิม จึงถูกเชิญให้มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย
ความจริงเนื้อหาหลักๆ ของการพูดคุยในเวทีนี้ก็คือเรื่องกระแสการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการที่เกิดขึ้นในโลกอาหรับ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Arab Spring แต่ที่อิหร่านเขาจะใช้คำว่า Islamic Awakening แปลเป็นไทยก็คงจะได้ความประมาณว่า ‘กระแสการตื่นตัวของโลกอิสลาม’ เหตุผลหนึ่งที่เขาเลือกใช้คำนี้ก็อาจเป็นเพราะอิหร่านได้ผ่านเหตุการณ์ที่ประชาชนลุกฮือจนนำไปสู่การปฏิวัติเมื่อปี 1979 มาแล้วซึ่งจบลงด้วยการเปลี่ยนแปลงจากอำนาจเผด็จการเป็นรัฐอิสลามไปในที่สุด กับอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ แม้การลุกฮือในโลกอาหรับที่ดำเนินเรื่อยมากว่า 2 ปีจะมีลักษณะภายนอกที่เป็นแนวทางโลกวิสัยนิยม แต่อย่างไรเสียอัตลักษณ์ทางศาสนาก็มีอิทธิพลต่อคนอาหรับและมุสลิมทั่วโลกอย่างมาก
ฉะนั้น จุดหมายปลายทางของการปฏิวัติครั้งนี้ในโลกอาหรับก็คือการกลับไปสู่แนวทางอิสลาม ไม่ใช่การเริ่มต้นผลิดอกออกใบเป็นประชาธิปไตยตามแบบตะวันตกอย่างที่ใครบ้างคนเชื่อ นี่ก็เป็นมุมมองของอิหร่าน ซึ่งก็แตกต่างจากสื่อกระแสหลักของชาติตะวันตก
ยาตุลลอฮ์ ซัยยิด อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เป็นคนที่มากล่าวเปิดงานสัมมนาด้วยตนเอง เริ่มจากการกล่าวเตือนโลกมุสลิมมิให้ตกหลุมพลางเรื่องความขัดแย้งระหว่างนิกายศาสนาที่ผู้ไม่หวังดีต่ออิสลามได้วางกับดักเอาไว้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้นักวิชาการมุสลิมอย่าหลงกลการโฆษณาชวนเชื่อของตะวันตก ที่พยายามวาดภาพให้การลุกฮือของประชาชนในบาห์เรนและซีเรียเป็นความขัดแย้งระหว่างซุนนีย์กับชีอะฮ์
ผู้นำสูงสุดของอิหร่านกล่าวเอาไว้ตอนหนึ่งว่า “ในบาห์เรน คนส่วนใหญ่ที่ถูกกดขี่ ซึ่งถูกกีดกันไม่ให้มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงและสิทธิขั้นพื้นฐานบางประการมานาน ได้ลุกขึ้นเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิทธิเหล่านั้น ลักษณะอย่างนี้ควรเรียกว่าเป็นการปะทะกันระหว่างซุนนีย์กับชีอะฮ์เพียงเพราะประชาชนส่วนใหญ่ที่ถูกกดขี่เป็นชีอะฮ์ขณะที่รัฐบาลทรราชบังเอิญเป็นผู้ปกครองสายซุนนีย์ได้กระนั้นหรือ? แน่นอนว่านักล่าอาณานิคมชาวยุโรปและอเมริกัน ตลอดจนพันธมิตรของพวกเขาในภูมิภาคต้องการทำให้เกิดภาพอย่างนี้ แต่อะไรเหล่าคือความจริง?”
ขณะที่ในกรณีของซีเรียนั้น ผู้นำสูงสุดแห่งอิหร่านเห็นว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลชีอะฮ์กับประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นซุนนีย์อีกเช่นกัน แต่ฝ่ายที่กำลังต่อสู้กันอยู่ขณะนี้คือฝ่ายที่หลงเชื่อยิวไซออนิสต์กับฝ่ายที่ต่อต้านยิวไซออนิสต์ เพราะรัฐบาลซีเรียขณะนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นรัฐบาลชีอะฮ์ และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็ไม่ใช่ฝ่ายซุนนีย์แต่อย่างใด ความสำเร็จประการเดียวที่พวกวางแผนให้เกิดความแตกแยกได้รับคือการกระตุ้นความรู้สึกทางศาสนาให้พวกที่มีจิตใจคับแคบลงมือสุมเปลวเพลิงให้เกิดความวิบัติขึ้น
ประเด็นสุดท้ายที่ผู้นำสูงสุดแห่งอิหร่านได้ฝากไว้คือหนึ่งในมาตรฐานที่จะตรวจสอบว่าขบวนการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในแต่ละชาติอาหรับและมุสลิมว่าได้มาถูกทางแล้วหรือไม่คือ จุดยืนของประเทศที่เกิดการปฏิวัติที่มีต่อประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ เพราะการที่ปาเลสไตน์ถูกยึดครองเป็นเวลามากกว่า 60 ปีแล้วนั้น นับเป็นความเสียหายร้ายแรงที่ประชาชาติอิสลามทั้งหมดต้องร่วมกันรับผิดชอบ
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปัญหาปาเลสไตน์ต้องเป็นนโยบายต่างประเทศที่สำคัญลำดับแรกของชาติมุสลิมที่เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงมาเรียบร้อยแล้วนั่นเอง