ข่าว

รถไฟฟ้า'สายสีส้ม'ขัดแย้งชุมชน-ผลประโยชน์

รถไฟฟ้า'สายสีส้ม'ขัดแย้งชุมชน-ผลประโยชน์

27 เม.ย. 2556

รถไฟฟ้า...'สายสีส้ม' ขัดแย้งชุมชน-ผลประโยชน์ : โต๊ะรายงานพิเศษ


              "ลุงตกใจมากเลย พอรู้ว่าจะมีการเวนคืนห้องแถว พวกเราอยู่มานานกว่า 50 ปีแล้ว ตอนแรกไม่เชื่อว่าจะเป็นจริง เพราะดูโครงการก่อสร้างมันแปลกๆ แต่ รฟม.ก็ไม่สนใจ มันต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลัง ไปยื่นหนังสือประท้วงมาหลายที่แล้ว เกือบ 10 แห่ง ทั้ง กระทรวงคมนาคม กรรมการสิทธิฯ รัฐสภา สื่อมวลชน ฯลฯแต่ไม่เห็นมีอะไรคืบหน้า เราอยากรู้ว่าความจริงคืออะไร ใครได้ประโยชน์กันแน่" 

              "สมชาย จุนเจือทรัพย์" วัย 69 ปี พร้อมด้วยตัวแทนชุมชนห้องแถวราชปรารภ เรียกร้องความเป็นธรรมผ่าน "คม ชัด ลึก" หลังจากยื่นหนังสือไปยังผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แล้วไม่ได้รับความสนใจ

              ทั้งนี้ การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม "ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ-มีนบุรี" เป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีทั้งโครงสร้างใต้ดินและยกระดับ แนวเส้นทางเริ่มจากสถานีรถไฟทางตลิ่งชันเข้าสู่ย่านบางกอกน้อย จากนั้นก็ทำเส้นทางลอดแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ย่านเมืองเก่าในเขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต ผ่านสถานที่สำคัญ เช่น สนามหลวง ถนนราชดำเนิน ภูเขาทอง ตลาดมหานาค ก่อนผ่านสู่ใจกลางเมืองย่านราชเทวี ประตูน้ำ ดินแดง ไปยังศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ออกสู่ถนนรามคำแหง บางกะปิ สะพานสูง มาสิ้นสุดเส้นทางที่เขตมีนบุรี  รวมระยะทาง 37.5 กิโลเมตร จำนวน 29 สถานี
 

              โดยตั้งเป้าหมายให้เสร็จสิ้นภายในปี 2558 แต่ระหว่างการเตรียมประมูลงานก่อสร้างช่วงแรกนั้น ชุมชนที่โดนเวนคืนที่ดินเริ่มสงสัยว่าอาจจะมีผลประโยชน์บางอย่างแอบแฝงอยู่ โดยเฉพาะพื้นที่ทองคำย่านถนนประตูน้ำที่เป็นตึกแถวและที่อยู่อาศัยกว่า 7 ไร่ ต้องโดนเวนคืนทั้งหมดเพื่อสร้าง "สถานีใต้ดินราชปรารถ" เนื้อที่ประมาณ 6,700 ตร.ม. 

              "ธีรินทร์ เศรษฐสมภพ" ตัวแทนกลุ่มชาวราชปรารภ ให้ข้อมูลว่า พวกตนไม่ได้ต้องการคัดค้านการก่อสร้างสายสีส้ม เพียงสงสัยว่ามีการเวนคืนพื้นที่มากเกินความจำเป็น เพียงแค่จะสร้างทางขึ้นลงรถไฟฟ้าใต้ดินเท่านั้น เฉพาะที่สถานีราชปรารภมีผู้เดือดร้อนแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1. กลุ่มห้องแถวฝั่งตรงข้ามโรงแรมอินทรา ประตูน้ำ 100 กว่าห้อง 2.กลุ่มแม่ค้าขายของแผงลอยกว่า 300 ร้าน และ 3.กลุ่มผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้น 4 ไร่ จุดน่าสงสัยคือระยะห่างระหว่างสถานีใต้ดินราชปรารภและสถานีประตูน้ำห่างกันแค่ 600 กว่าเมตรเท่านั้น ทำไมต้องสร้างใกล้กันขนาดนี้ และสร้างทางขึ้นลง 4 จุดมากเกินความจำเป็นหรือไม่ 

              ตัวแทนกลุ่มชาวราชปรารภยอมรับว่า กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาการก่อสร้าง 5 แห่งคือ บริษัท เอ็มเอเอ คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท พีบี เอเชีย จำกัด, บริษัท นอร์ซีฟ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท วิสิทธิ์ เอ็นจีเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด, และ บริษัท พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา แต่เป็นการให้เหตุผลโดยอ้างเทคนิคการก่อสร้าง เช่น การวางท่อน้ำ การตั้งเสาตอม่อ ฯลฯ แต่ไม่ได้เปรียบเทียบให้เข้าใจว่าทำไมสถานีรถไฟฟ้าอื่นจึงใช้เนื้อที่น้อยกว่านี้

              "อ้างว่าจะให้ค่าเวนคืนมากกว่าราคาประเมิน 30 เปอร์เซ็นต์ และค่ารื้อถอน แต่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่แถวนี้มานานหลายสิบปีไม่ต้องการ ตึกแถวนี้ซื้อขายประมาณห้องละ 30 ล้าน ตอนนี้พวกเรายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว เรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.ขอรายละเอียดเอกสารการก่อสร้างที่ชัดเจน และการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ 2.ขอทราบเหตุผลที่ไม่ใช้พื้นที่ว่างร่วมกับสถานีใต้ดินแอร์พอร์ตลิงค์ราชปรารภ ซึ่งจะทำให้ประหยัดและสะดวกต่อผู้โดยสารมากกว่า 3.ขอให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญหรือวิศวกรด้านก่อสร้างที่เป็นตัวกลางไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และไม่ใช่เป็นตัวแทนบริษัทก่อสร้าง เพื่อให้รายละเอียดด้านเทคนิคกับประชาชน อยากฟังข้อมูลทั้ง 2 ด้าน และข้อสุดท้ายคือ การเวนคืนที่ดินรวมกว่า 7 ไร่นั้น มีหลักประกันอะไรที่จะเชื่อได้ว่าไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนธุรกิจห้างสรรพสินค้าและอาคารใหญ่บริเวณนั้น" 

              นายธีรินทร์ ตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า จริงหรือไม่ที่การเวนคืนที่ดินชาวบ้านมากขนาดนี้ เพราะจะเอื้อประโยชน์ให้แก่ห้างสรรพสินค้าที่มีข่าวลือว่าเป็นของนักการเมืองคนหนึ่ง ในโบรชัวร์ก่อสร้างมีรูปตึกใหม่หลายตึก ทั้งที่ปัจจุบันคือห้องแถวที่กำลังจะถูกเวนคืน ทำไมถึงมีการออกแบบล่วงหน้าไว้ก่อน หากคำถามเหล่านี้ไม่ถูกตอบให้คลายความสงสัย ชุมชนราชปรารภคงต้องอาศัยศาลปกครอง เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป  

              ขณะที่ นายทศวรรณ นิจพาณิชย์ ตัวแทนบริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด ชี้แจงว่า สาเหตุต้องเวนคืนที่ดินเป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากมีการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำของ กทม. จากคลองแสนแสบร่วมด้วย พื้นที่ความกว้างผิวจราจรประมาณ 18 เมตร อาคารอีก 2 ฝั่ง รวมประมาณ 24 เมตร ทำให้ต้องกันพื้นที่สำหรับอุโมงค์ยักษ์อีก 3.20 เมตร จึงจำเป็นต้องเวนคืนห้องแถวช่วงดังกล่าว แต่จะมีค่าชดเชยให้ในราคาที่เหมาะสม เป็นราคาซื้อขายจริงในท้องตลาดรวมถึงค่าเสียโอกาสด้วย ส่วนข้อสงสัยเรื่องเอื้อประโยช์ให้ศูนย์การค้าบางแห่งนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะการก่อสร้างอยู่ชิดอีกด้านเป็นฝั่งสถานีแอร์พอร์ตลิงค์ ส่วนประตูขึ้นลง 4 จุดเป็นไปตามมาตรฐานทั่วไป ไม่ได้สร้างเกินความจำเป็น ขณะนี้กำลังวางแผนให้สร้างอาคารธุรกิจเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยเดิมใช้ประโยชน์ด้วย แต่ยังไม่ได้รับคำตอบที่แน่ชัดจากชุมชนว่าต้องการหรือไม่  

              ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การเวนคืนที่ดินสถานีข้างต้นนั้นเป็นไปตามหลักเทคนิควิศวกรรมด้านความปลอดภัยและขนาดโครงการ ไม่ได้เอื้อธุรกิจพาณิชย์ แต่ขอดูรายละเอียดโครงการให้ชัดเจนก่อน และจะหามาตรการเวนคืนที่ดินให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด หากเป็นไปได้จะจัดทำโครงการเยียวยาโดยสร้างพื้นที่ห้องแถวกลับคืนให้ชาวบ้านด้วย

.............

(หมายเหตุ : รถไฟฟ้า...'สายสีส้ม' ขัดแย้งชุมชน-ผลประโยชน์  : โต๊ะรายงานพิเศษ)