ข่าว

ทฤษฎีหน้าต่างแตก

ทฤษฎีหน้าต่างแตก

19 เม.ย. 2556

ทฤษฎีหน้าต่างแตก : เลียบค่าย โดยช้างพลาย

               ช่วงเทศกาลปีใหม่ไทยที่ผ่านมา เห็นการทำงานของ "ตำรวจทางหลวง" ทุกจังหวัด ขยันขันแข็งทำงานอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนที่เดินทางกลับภูมิลำเนา หรือท่องเที่ยวต่างจังหวัด
  
               เช่นเดียวกับการทำงานของ "พ.ต.ท.ศานุวงษ์ คงคาอินทร์" สว.ส.ทล.3 กก.3 บก.ทล. รับผิดชอบทางหลวงในเขตพื้นที่ จ.ระยอง ค่อนข้างชัดเจน
 
               ประสบการณ์ผ่านงานสืบสวนสอบสวนงานสายตรวจแล้วทำหน้าที่งานจราจร นำ 5 ทฤษฎี 1 หลักการของ "พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์" ผบช.ก. คือ "ทฤษฎีหน้าต่างแตก" มาใช้
 
               หลักการง่ายๆ ของทฤษฎีนี้ เปรียบเทียบได้กับกระจกหน้าต่างของบ้าน หากแตกหรือเสียหายจากการถูกทำลายแล้วปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่แก้ไข ไม่หาสาเหตุหรือผู้กระทำผิด อาจเป็นเหตุเชิญชวนให้กระทำผิดซ้ำ !
 
               ทฤษฎีนี้ถูกนำมาปรับใช้เป็นการปฏิบัติการมุ่งจัดความไร้ระเบียบ โดยเน้นจับกุมผู้ใช้รถใช้ถนนที่ไม่ติด "แผ่นป้ายทะเบียน" หรือติดไม่ถูกต้องตามที่กำหนด เช่น ติดแผ่นป้ายทะเบียนด้านหน้าไม่ติดด้านหลัง หลายคนอาจมองเป็นแฟชั่นแล้วเลียนแบบพฤติกรรม เพราะอาจคิดว่าตำรวจไม่จับ หรือตอนจับอาจไม่เห็น
 
               พ.ร.บ.จราจรทางบก และ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 โทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่มุมมองของ "ตำรวจทางหลวงระยอง" ไม่คิดแค่นั้น ?
 
               ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย พยายามปิดโอกาสของบุคคลกลุ่มนี้ แล้วเปิดโอกาสให้คนดีเข้าครอบครองพื้นที่มากที่สุด กีดกันคนไม่ดีไม่ให้มีที่ยืนอยู่ในสังคม รถยนต์ที่ไม่ได้ติดแผ่นป้ายทะเบียนมีโอกาสที่จะนำไปกระทำความผิด เช่น ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ฝ่าไฟแดง แข่งรถบนทาง แล้วอาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรม เชื่อว่าสามารถหลบหนีได้ ไม่มีหลักฐานและยากต่อการติดตาม !
 
               ส่วนผู้ที่ไม่เคยกระทำผิดร้ายแรง แต่หากประสบอุบัติเหตุคิดหลบหนี เพราะเชื่อว่าคู่กรณี หรือตำรวจ ไม่สามารถติดตามตัวได้ อาจเป็นความคิดที่ผิด
 
               ฉะนั้นตำรวจมีหลักวิธีดำเนินการเพื่อจัดการกับ "ผู้กระทำผิด" และเชื่อว่า ทฤษฎีนี้หากตั้งใจนำไปประยุกต์ใช้แล้วปฏิบัติอย่างจริงจังอาชญากรรมคงลดลง