ข่าว

ตำรวจคือประชาชน

ตำรวจคือประชาชน

18 เม.ย. 2556

ตำรวจคือประชาชน : เลียบค่าย ทัศชยันต์ วาหะรักษ์ ([email protected])


              เร็วๆ นี้ผมมีโอกาสแวะเวียนไปแถวๆ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ร่วมสังเกตการณ์การอบรมตำรวจทางหลวงในสังกัด กองกำกับการ 2 ซึ่งมี พ.ต.ท.สุภารัตน์ คำอินทร์ สว.ส.ทล.เพชรบุรี และ พ.ต.ต.สมคะเน อัครกันทรากร สว.ส.ทล.กาญจนบุรี เป็นหัวเรือใหญ่จัดขึ้น เพื่อให้ความรู้ตำรวจทั้งชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนในสังกัดกว่า 100 นาย เกี่ยวกับการนำ 5 ทฤษฎี กับอีก 1 หลักการ ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่รับใช้ประชาชน

              ในการอบรมครั้งดังกล่าว พ.ต.อ.อภิชัย ดุษฎีพฤฒิพันธุ์ ผกก.กก.2 บก.ทล. สวมวิญญาณครู ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยตัวเอง

              5 ทฤษฎี กับอีก 1 หลักการ ที่ว่า ประกอบด้วย ทฤษฎีการบังคับใช้กฎหมาย ทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรมโดยสภาพแวดล้อม ทฤษฎีตำรวจชุมชนสัมพันธ์ ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน ทฤษฎีหน้าต่างแตก และหลักการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่พลิกผันไปตามแนวทางของชุมชน

              ที่ผ่านมาทฤษฎีและหลักการที่ว่า ตำรวจนำไปใช้กันนานแล้ว แต่ได้ผลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่ง พ.ต.อ.อภิชัย ตั้งข้อสังเกตระหว่างการให้ความรู้แก่ตำรวจในสังกัดไว้อย่างน่าสนใจว่า

              แม้ตำรวจจะทำงานอย่างหนัก แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรนั้น สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตัวตำรวจเอง ที่ยังยึดถือความคิดเดิมๆ

              ยังยึดมั่นถือมั่นถึงระบบศักดินา ที่คิดว่า เป็นตำรวจ เป็นข้าราชการ มีตำแหน่งหน้าที่การงาน เป็นเจ้าขุนมูลนาย พูดให้ฟังง่ายๆ คือยังคิดว่า ตัวเองเป็นนายประชาชน เมื่อไปปฏิบัติงานใกล้ชิดประชาชนแล้วจึงยังคิดว่าตัวเองเป็นนาย แถมยังมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย มองประชาชนแบบจับผิด คิดอยู่แต่เพียงว่า บุคคลที่อยู่ตรงหน้าทำผิดกฎหมายหรือเปล่า?

              ภาพลักษณ์ของตำรวจในสายตาประชาชนทุกวันนี้ จึงป่นปี้ มีแต่ความหวาดระแวง

              พ.ต.อ.อภิชัย บอกให้ ผู้ใต้บังคับบัญชาที่เข้ารับการอบรมในวันนั้น ปรับทัศนคติเสียใหม่ โดยให้ลบความคิดที่ว่า "ตำรวจคือนาย" ออกจากมโนสำนึก แล้วให้คิดเสียใหม่ว่า "ตำรวจคือประชาชน"

              หน้าที่หลักของ "ตำรวจ" คือ "รับใช้ประชาชน" โดยให้คิดว่า ประชาชนทุกผู้ตัวคนที่มีโอกาสได้พบเจอ คือ ญาติสนิทมิตรสหาย เป็นเสมือนหนึ่งในครอบครัว ที่ตำรวจจะต้องดูแลเอาใจใส่ ให้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ให้ความยุติธรรมหากจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย

              ผมมาลองคิดตาม หากตำรวจไทยทุกนาย คิดได้เช่นนี้ คงไม่ได้ยินเสียง "ยี้" ทุกครั้งที่เอ่ยถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ