ข่าว

เปิดหีบผ้าจากภูมิปัญญานักสะสม

เปิดหีบผ้าจากภูมิปัญญานักสะสม

18 เม.ย. 2556

เปิดหีบผ้าจากภูมิปัญญานักสะสม

 

                          ผืนผ้าแพรพรรณโบราณลวดลายต่างๆ ที่อาจจะเก่าถึงขั้นที่หลายคนมองข้ามและถือเป็นเพียงผ้าขี้ริ้วนั้น แต่สำหรับใครอีกหลายคนผ้าเหล่านี้นับเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่สามารถสืบสานและบอกเล่าเรื่องราวมากมายหลากแง่หลายมุม ด้วยเหตุนี้ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงได้จัดงานเสวนา “เปิดหีบผ้า : จากภูมิปัญญาสู่นักสะสม” ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นคุณค่าของผ้าไทย โดยเชิญนักสะสมผ้าผู้มีชื่อเสียงมาเปิดหีบผ้าคอลเลกชั่นส่วนตัวพร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องแฟชั่นกับผ้าไทย ณ ห้องประชุม พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง

                          การเสวนาเริ่มต้นที่ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา กล่าวว่า ผ้าที่สะสมส่วนใหญ่ได้มาระหว่างการท่องเที่ยวตามความชอบส่วนตัว ไม่มีผ้าโบราณ มีแต่ของใหม่และนำไปใช้ได้จริง แต่ทุกผืนจะมีที่มาที่ไปเกี่ยวเนื่องกับสังคมและวัฒนธรรมไทยอยู่ในบางมุม เช่น ผ้าพม่า ผ้าบรูไน ผ้าอียิปต์ ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยเห็นมาก่อน สำหรับผ้าที่ ดร.อนุชา นำมาให้ชมนั้น ได้แก่ ผ้าพม่าที่ปักด้วยดิ้นโปร่งเงิน โปร่งทอง บนผ้าซาตินสีม่วงอ่อน ที่ได้มาเมื่อประมาณ 20 ปีแล้ว มีสภาพค่อนข้างใหม่ ส่วนซิ่นเดินกระบวนลายตามแบบผ้าโบราณในยุคราชวงศ์คองบอง ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า เป็นลายคลื่น ซับในด้วยผ้าฝ้ายเนื้อบางจากเมืองแมนเชสเตอร์ของประเทศอังกฤษ ซึ่งเนื้อดีมาก

                          หันมาเปิดกรุของ อ.เผ่าทอง ทองเจือ กันบ้าง อาจารย์เผ่าทองเล่าว่าเริ่มสะสมผ้ามาเกือบ 40 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยเรียนที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งจะมีวิชาซ่อมสงวนโบราณวัตถุ โดยตัวเองเลือกเรียนสายโบราณวัตถุที่เป็นผ้า จึงมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของผ้ามากขึ้น ซึ่งในขณะที่วิทยากรท่านอื่นอาจเก็บผ้าเพื่อใช้สอย แต่สำหรับเขาเก็บมาเป็นชิ้นครูในการทำงานเพื่อพัฒนาต่อไปในทางวิชาการ ซึ่งอาจจะเป็นพวกผ้าขี้ริ้ว ผ้ากะรุ่งกะริ่ง เพราะต้องการรู้ถึงเส้นใยไหม ใยฝ้าย ดูการผสมผสาน เทคนิคการทอ ซึ่งมีความมหัศจรรย์

                          "ถ้าจะเก็บผ้าให้สนุก สิ่งแรกคือจะต้องศึกษาในเรื่องของเส้นใย ดูว่าการได้มาของเส้นใยมันน่าตื่นเต้นเพียงไหน การสาวไหม การปั่นฝ้าย เวลาได้เป็นเส้นใยแล้วก่อนที่จะทอจะต้องมาตีเกลียว สิ่งต่อมาคือความรู้ในเรื่องของสีย้อม อีกอย่างดูเทคนิคการทอ ซึ่งแต่ละประเทศแต่ละภูมิภาคก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นถ้าเราไปศึกษาเทคนิคพวกนี้ จะทำให้เก็บหีบผ้าได้สนุกขึ้น นอกจากนี้ ควรทำเลขทะเบียนผ้าเริ่มต้นไว้ด้วยโดยระบุประเภทผ้า แหล่งที่มา เช่น พื้นที่ หรือประเทศ สำหรับ อ.เผ่าทอง จะใช้ ณ วันที่ซื้อ หากเกรงว่าจะลืมก็วาดภาพประกอบไว้ด้วย ระบุราคาที่ซื้อไว้ทั้งเป็นค่าเงินไทยและสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันนั้น และควรเขียนเป็นรหัสส่วนตัวของเราเอง" อ.เผ่าทอง แนะนำ

                          ผู้สนใจเรื่องผ้าสามารถติดตามข่าวสารกิจกรรมที่น่าสนใจในครั้งต่อไปของ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ที่ Facebook Page ของ Queen Sirikit Museum of Textiles พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ทุกวัน เวลา 09.00-16.30 น. ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมเวลา 15.30 น. อัตราค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 150 บาท ผู้สูงอายุ (อายุ 65ปีขึ้นไป) 80 บาท นักเรียน/นักศึกษา 50 บาท เด็กอายุ 12-18 ปี 50 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าชมฟรี สำหรับผู้ซื้อบัตรเข้าชมพระบรมมหาราชวัง สามารถใช้บัตรดังกล่าวเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย กรุณาแต่งกายสุภาพ (ห้ามสวมกางเกงขาสั้น) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่โทร 0-2225-9420 หรือ 0-2225-9430