ข่าว

วัฒนธรรมไทย(อาการ)น่าห่วงไหม??

วัฒนธรรมไทย(อาการ)น่าห่วงไหม??

16 เม.ย. 2556

วัฒนธรรมไทย(อาการ)น่าห่วงไหม??

 

                         ประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นเมืองที่มี "ประเพณีวัฒนธรรม" อันแสนงดงามคนไทย(เกือบ)ทั้งประเทศภูมิใจเป็นนักหนา ขณะเดียวกันต่างชาติมากหน้าหลายตาต่างพากันชื่นชมมิได้ขาดปาก ทว่าในทางตรงข้ามก็จังหวะเดียวกันที่กระแสธารของวัฒนธรรมต่างชาติเองก็ไหลบ่าเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย มิหนำซ้ำเยาวชนไทยรุ่นใหม่เองก็หลงใหลได้ปลื้มอยู่ไม่น้อย จึงเป็นเรื่องที่หลายๆ คนแอบกังวลใจอยู่ลึกๆ ด้วยเกรงว่า "วัฒนธรรมไทย" ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษจะค่อยๆ เลือนหายไป...ว่าแต่วัฒนธรรมข้อใดล่ะที่พวกเขาและเธอต่างเป็นห่วงเป็นใย

                         รุ่นใหญ่ ม.ร.ว.ปรียางค์ศรี วัฒนกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ฝ่ายจัดหารายได้ สภากาชาดไทย แสดงความห่วงใยถึงหนุ่มสาวรุ่นใหม่ว่าอยากให้ตระหนักถึงประเพณีของคนไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ไม่อยากให้ละเลย โดยเฉพาะเรื่องการยกมือไหว้สวัสดี และการแต่งกายให้เรียบร้อยไม่ต้องถึงกับลุกขึ้นมานุ่งซิ่นหรือชุดไหมก็ได้

                         "วัฒนธรรมไทยมีอยู่มากมายหลายแขนง ทั้งวัฒนธรรมการแต่งกาย วัฒนธรรมทางด้านภาษา วัฒนธรรมการกินอยู่ ในการดำเนินชีวิตที่น่าเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้ความจริงมีอยู่หลายเรื่อง แต่อยากฝากเรื่องการยกมือไหว้สวัสดีเมื่อพบผู้ใหญ่ไม่อยากให้ละเลยเพราะเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยอีกทั้งยังเป็นภาพที่น่ารักน่าเอ็นดู ขณะที่เรื่องการแต่งกายก็น่าเป็นห่วงไม่น้อย ไม่อยากให้เด็กไทยรับเอาวัฒนธรรมจากต่างชาติเข้ามาใช้มากจนเกินไป อย่างน้อยก็เพื่อความปลอดภัยของผู้สวมใส่เอง" ผู้ช่วยเลขาธิการ ฝ่ายจัดหารายได้ สภากาชาดไทย ให้มุมมอง

                         เรื่องการใช้ภาษาของวัยรุ่นในยุคนี้ ทำให้ "คุณหญิง" ม.ล.อุบลวดี ชยางกูร ออกปากบอกตรงๆ ว่ารู้สึกปวดหัวใจมากๆ แม้จะเข้าใจว่าเป็นกระแส ใช้แล้วทันสมัย ทว่าก็อดเป็นห่วงไม่ได้หากใช้ทุกวันเกรงว่าจะติดแล้วแยกแยะไม่ออกระหว่างภาษาพูดกับภาษาเขียน

                         "บอกตรงๆ ตามประสาผู้ใหญ่ เห็นการใช้ภาษาของเด็กรุ่นใหม่แล้วไม่สบายใจ ไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ เพราะภาษาไทยของเราสวยงามและมีความไพเราะอยู่แล้ว จึงไม่อยากให้ใครเขียนผิดๆ อีกประการถ้าเด็กๆ ใช้เป็นปกติทุกวันกลัวว่าจะติดพอต้องใช้ภาษาที่ถูกต้องก็เขียนไม่ได้แล้ว จะทำให้ผิดเพี้ยนไป ต้องคอยย้ำตลอดเวลา อย่างตัวเองจะคอยเตือนลูกสาวอยู่ตลอดว่า เวลาลูกใช้พิมพ์ในโซเชียลมีเดียหรือเวลาพูด ว่าต้องแยกแยะให้ออก ระหว่างภาษาเขียนเล่นกับภาษาเขียนจริง มิเช่นนั้นเวลาสอบหากติดเอาไปเขียนก็จะทำให้เสียคะแนนไปเปล่าๆ ส่วนเรื่องวัฒนธรรมไทยด้านอื่นๆ คงไม่น่าเป็นห่วงเท่าเรื่องนี้ แต่ก็อยากเชิญชวนวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป ให้ลองไปเที่ยวชมหรือถ้าสนใจอยากจะเรียนงานฝีมือแบบไทยๆ ในโครงการสรัสปทุม ซึ่งนอกจากจะปลูกฝังให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้จักเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนไทยแล้ว ยังได้ความรู้เป็นอาชีพเสริมตัวกลับมาที่สามารถใช้ได้จริงอีกด้วย" คุณแม่ลูกหนึ่งฝากถึงเด็กรุ่นใหม่

                         มาถึงตัวแทนเด็กรุ่นใหม่ "บาส" ศุภชัย ใจยอง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร แสดงความจำนงถึงเรื่องการสืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมไทยที่มีมาแต่โบราณว่า อยากชวนเพื่อนๆ หันมาเข้าวัดทำบุญ หรือปฏิบัติตามประเพณีไทยเก่าๆ อย่าง รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในเทศกาลสงกรานต์ การรู้จักรักนวลสงวนตัว และความอ่อนน้อมถ่อมตน

                         "เราหันมาอนุรักษ์ไทยกันดีกว่า เพราะยิ่งเรารับวัฒนธรรมต่างชาติมามากเท่าไหร่ นับวันประเพณีที่มีมาแต่ดั้งเดิมก็จะสูญหายไป สู้เราทำในแบบอย่างของวัฒนธรรมไทย เพื่อให้ประเทศอื่นทำตามประเทศเราดีกว่า โดยเฉพาะเรื่องการรักนวลสงวนตัว ไม่ใช่แค่ฝ่ายหญิงที่ต้องไม่ยอมให้ฝ่ายชายถูกเนื้อต้องตัว หรือเข้าหาตัวเองง่ายๆ เท่านั้น แต่ฝ่ายชายเองก็ต้องรู้จักการให้เกียรติฝ่ายหญิงด้วย  อีกอย่างคือการแต่งกายไม่ต้องถึงกับแต่งเป็นไทยมากๆ ขอแค่แต่งตัวให้เรียบร้อย แต่งให้มิดชิด ไม่เปิดตรงนั้น เว้าตรงนี้ และสุดท้ายเรื่องการอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะสังเกตว่าสมัยนี้วัยรุ่นแข็งกระด้างกันมากๆ" เด็กรุ่นใหม่ให้ความคิดเห็น

                         ส่วนคุณพ่อมือใหม่หมาดๆ ถึงจะใช้ชีวิตเรียนและทำงานอยู่ต่างประเทศนานหลายปี แต่ด้วยความที่ได้รับการปลูกฝังจากคุณแม่และคุณยายที่ค่อนข้างหัวโบราณ จึงไม่ทำให้ "ฟี่" อนัฆ นวราช ร้างลาจากวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะวัฒนธรรมพื้นฐานอย่าง การไหว้ การพูดจาให้มีหางเสียง รวมถึงการไม่ยืนค้ำหัวผู้ใหญ่

                         "ผมว่าเสน่ห์ของคนไทย คือ การไหว้ แต่ปัจจุบันด้วยความที่ประเทศไทยกลายเป็นสังคมสมัยใหม่ทำให้หลายคนหลงลืมกันไปมาก โดยส่วนตัวผมเองถ้ารู้ว่าใครอายุมากกว่า ผมก็จะยกมือไหว้อยู่แล้ว ถึงผมจะไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศนานแต่เรื่องนี้ผมไม่เคยลืม คงเพราะคุณพ่อคุณแม่และคุณตาคุณยายสอนมาตั้งแต่เด็ก และอีกไม่นานนี้ผมก็จะกลายเป็นคุณพ่อแล้ว ผมก็ตั้งใจจะปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ให้ลูกของผมด้วย หลายๆ ครั้งที่ผมเห็นเด็กหน้าตาน่ารัก แต่กลับไม่ยกมือไหว้ผู้ใหญ่หรือพูดจาไม่มีหางเสียง ซึ่งที่จริงมันก็ไม่ใช่เรื่องผิดนะ แต่ผมว่ามันเป็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นเสน่ห์ของคนไทย ที่ทำให้เราแตกต่างจากชนชาติอื่นๆ" คุณพ่อมือใหม่หมาดๆ พูดถึงความตั้งใจในการปลูกฝังลูกเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย

                         เช่นเดียวกับ คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา ออกปากว่า ขอแค่พื้นฐานในชีวิตธรรมดาอย่างการ "ยกมือไหว้" ไม่ต้องถึงขั้นนั่งร้อยมาลัย หรือรำละคร ก็น่าเป็นห่วงเหลือเกินแล้วว่าจะสูญหายไป ด้วยว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ใส่ใจปฏิบัติกันเลย..!!

                         "วัฒนธรรมไทยมีความสวยงามเยอะแยะไปหมด ตอนเด็กๆ ต้องเรียนหนังสือเรื่องสมบัติผู้ดี ในหนังสือเล่มนั้นจะสอนว่าเราควรจะประพฤติตนต่อตัวเองอย่างไร ประพฤติตนต่อผู้อื่นอย่างไร เราไม่ควรตะโกน จิกหัว หรือยืนค้ำหัวใคร ประมาณนี้ แต่ทุกวันนี้หายไปแล้ว ดิฉันโทษโรงเรียนว่าไม่สอน พ่อแม่อาจจะไม่มีเวลาสอนเท่าไหร่ ไม่ว่ากันเพราะต้องทำมาหากิน แต่โรงเรียนนี่สิต้องสอนเด็กๆ สมัยก่อนตอนอยู่โรงเรียนราชินี ยังเคยนั่งคิดอยู่ว่าจะทรมานอะไรนักหนาทั้งคลานทั้งกราบ นั่นล่ะวัฒนธรรมไทย ต่างจากเดี๋ยวนี้ถ้าไม่บอกให้ยกมือไหว้ เด็กรุ่นใหม่จะไหว้ไหม โดยส่วนตัวสอนลูกว่า "แม่ไหว้ใคร ใครไหว้แม่ ลูกต้องไหว้คนนั้น ไม่ต้องให้แม่คอยบอก แม่ยกมือไหว้ใครลูกต้องยกมือไหว้ให้ต่ำกว่าแม่ ใครยกมือไหว้แม่แม่รับไหว้ ลูกต้องรีบยกมือไหว้เขาซะ" เดี๋ยวนี้เด็กไม่ไหว้กัน เอาง่ายๆ แค่หลักสากลปฏิบัติคำว่า ขอบคุณ ขอโทษ พูดกันไหม เดินชนกันโครมยังไม่หันมาขอโทษสักคำ ไม่รู้มารยาทเหล่านี้หายไปไหนหมด  แต่อย่างของคนต้องไทยน้อบน้อมไปกว่านี้อีก สมัยก่อนเด็กๆ เวลาเดินผ่านผู้ใหญ่ต้องก้มต้องย่อ หรือหากผู้ใหญ่เดินผ่านเด็กต้องหยุด หายไปไหนหมด" คุณหญิงพวงร้อยพูดด้วยน้ำเสียงกังวลใจ

                         "วัฒนธรรมไทย" จะสูญ หรือ คงอยู่ต่อไป ไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นความรับผิดชอบคนไทยรุ่นเก่าที่จะต้องทำหน้าที่ช่วยสอน ส่วนรุ่นใหม่ก็ช่วยสาน...ถึงจะอยู่ได้ตราบนานเท่านาน จริงปะ!!